วัดช่วงชก 3 แคนดิเดท ในโผปรับ ครม. ชิงขุมทรัพย์พลังงานแสนล้าน

24 ก.ค. 2563 | 23:00 น.

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการปรับคณะรัฐมนตรี หรือ ปรับ ครม. ครั้งใหม่จะเกิดขึ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ และดูเหมือนว่าเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นตำแหน่งที่มีปัญหามากที่สุด ล่าสุดมีรายชื่อคนที่อยู่ในโผ ครม. เข้ามานั่งตำแหน่งนี้ถึง 3 คน คือ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-ไพรินทร์​ ชูโชติถาวร-สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์”

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทรวงพลังงานถือเป็นกระทรวงเกรด A ที่หมายปองของบรรดานักการเมืองมาโดยตลอด เพราะเป็นกระทรวงที่กำกับดูแลนโยบายการลงทุนด้านพลังงาน ทั้งโรงไฟฟ้า สัมปทานปิโตรเลียม การบริหารจัดการเชื้อเพลิง นํ้ามัน ก๊าซ มูลค่าหลายแสนล้านบาท

 

เมื่อมองถึงรายชื่อของทั้ง 3 คนที่อยู่ในโผรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ หลายคนคงอยากรู้ว่าแต่ละคนมีความรู้ความสามารถอย่างไร ที่จะเข้ามาเป็นผู้ดูแลขุมทรัพย์นับแสนล้านบาท

ข่าวที่เกี่วข้อง

เริ่มจาก “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จบการศึกษ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา

 

หลังจบการศึกษา “สุริยะ” เข้าไปช่วยบริหารธุรกิจของครอบครัวกลุ่ม “ไทยซัมมิท” หลายแหล่ง ก่อนก้าวขึ้นเป็น ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิทอิเล็กทรอนิกส์ คอมโพเนนท์ จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิท แอดวานซ์ แมททีเรียล จำกัด

 

“สุริยะ” เข้าสู่การเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษา “มนตรี พงษ์พานิช” อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 2 ในโควตาพรรคกิจสังคม จากนั้นย้ายไปอยู่พรรคไทยรักไทย ได้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมาในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย 2 เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 นายสุริยะ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มสามมิตรได้ประกาศเข้าร่วมงานกับ พรรคพลังประชารัฐ ได้รับการแต่งตั้งให้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน ภายหลังชนะเลือกตั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

วัดช่วงชก 3 แคนดิเดท ในโผปรับ ครม.   ชิงขุมทรัพย์พลังงานแสนล้าน

 

 

คนต่อมา “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, ปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

 

หลังจบการศึกษา “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” เป็นอาจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเข้าทำงานที่บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด ก่อนเข้าไปนั่งทำงานที่บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือ กระทั่งได้รับกรแต่งตั้งให้เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในปี 2554 ถึงปี 2558 

 

ต่อมาในปี 2560 นายไพรินทร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่า การกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1 

 

คนสุดท้าย “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บริหารธุรกิจ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เป็นหนึ่งในลูกหม้อ ปทต. เคยดำรงเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นรองกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาธุรกิจ พีทีที อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานกลยุทธ์องค์กร ปตท.เป็นกรรมการ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 

 

จากนั้นในปี 2557 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี ปี 2557 จนถึงเดือนกันยายน 2562 ระหว่างนั้นในปี 2560 ได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานกรรมการ พีทีทีจีซี อีกตำแหน่ง

 

“สุพัฒนพงษ์” ถือเป็นมือขวาและเป็นคนที่ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ไว้วางใจอย่างมาก ในสมัยที่นายไพรินทร์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" ส่งสัญญาณถอย ออกมาชี้แจงถึงประเด็นเรื่องการปรับ ครม. ซึ่งมีกระแสออกมาจะขอย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมว.พลังงาน) ว่า เคยแจ้งมาตลอดว่าการทำงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีความสุขดี เพราะมีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำธุรกิจของตน ในช่วงที่ผ่านมาร่วมมือกับทางภาคเอกชนโดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นไปได้ด้วยดีตลอด

 

"ต้องเรียนว่าที่ผ่านมาไม่เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าต้องการไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแต่อย่างใด ส่วนการปรับ ครม. ครั้งนี้จะมีการปรับกี่ตำแหน่งเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณา"

 

ขณะที่  "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" ลาออกจากการเป็นกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ กรรมการและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองคก์ร บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) โดยให้เหตุว่าว่า เนื่องจากมีภารกิจอื่น โดยการลาออกให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป

 

ถึงตรงนี้คงคาดเดาได้ไม่ยากแล้วว่าใครจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนต่อไป 

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,595 หน้า 10 วันที่ 26 - 29 กรกฎาคม 2563