ทำไมพลังงานหมุนเวียน จึงถูกลงได้?

25 ก.ค. 2563 | 11:50 น.

ถ้าเราย้อนไปดูข้อมูลราคาเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เราคงสรุปได้ว่า ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลมีความผันผวนปรวนแปรมาก  เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ในขณะที่ราคาพลัง งานหมุนเวียนกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในช่วง 10 ปี ต้นทุนการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ลดลงโดยตลอด จาก 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัตต์ เหลือเพียงไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัตต์ในปัจจุบันต้นทุนการติดตั้งกังหันลมก็ลดลงทุกปี ทั้งที่อยู่บนบกและที่อยู่ในทะเล โดยลดลงประมาณ 20% ถึง 30% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ทำไมราคาพลังงานหมุนเวียนจึงลดลงได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง? คำตอบสั้นๆ ก็คือ “เทคโนโลยี” นั่นเอง

การพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนทำให้ต้นทุนลดลง โดยอธิบายได้ด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่การเพิ่มประสิทธิภาพ  ในกรณีของแผงโซล่าเซลล์  ประสิทธิภาพหมายถึงความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้จริงคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่ผลิตได้เต็มที่ตลอดปีๆ ละ 365 วันๆ ละ 24 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นวิธีการผลิตแผง
โซล่าเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาโดยตลอด จากประสิทธิภาพหรือที่เรียกว่า capacity factor แค่ 6% ในปี ค.ศ. 1954 เพิ่มขึ้นจนสามารถทะลุเพดาน 20% เมื่อปี ค.ศ. 1989 และคาดว่าในอนาคตประสิทธิภาพนี้จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 40%  (เทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้าได้ถึงวันละเกือบ 10 ชั่วโมง)

กังหันลมผลิตไฟฟ้าได้รับการพัฒนาทางเทคโนโลยี โดยปรับปรุงการออกแบบใบพัด  เพิ่มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของใบพัดและความสูงของกังหันลม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น แม้ในสภาวะที่มีลมพัดไม่แรง  กังหันลมที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบันมี capacity factor สูงกว่า 30%

ปัจจัยที่สองคือการเพิ่มขนาดการผลิต (economies of scale)  แต่ละโรงงานที่ผลิตสินค้าส่วนใหญ่มักจะพบว่าต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสินค้าลดลงในขณะที่จำนวนการผลิตเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญเป็นเพราะต้นทุนคงที่ (fixed costs) ต่อหน่วยสินค้าลดลงไปด้วย ในกรณีของการผลิตแผงโซล่าเซลล์และกังหันลม  ผู้ผลิตมักพบว่าต้นทุนต่อหน่วยลดลงเพราะในขณะที่กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ประสบการณ์จากการผลิตจำนวนมากขึ้นและเทคโนโลยีเกี่ยวกับการบริหารจัดการในการผลิตทำให้สามารถเรียนรู้วิธีการผลิตด้วยต้นทุนที่ลดลงได้

มีผู้สันทัดกรณีตั้งเป็นกฎไว้ว่าต้นทุนต่อหน่วยของแผงโซล่าเซลล์จะลดลง 20% ทุกครั้งที่มีการเพิ่มปริมาณการผลิตเป็นสองเท่า (Swanson’s Law)

ปัจจัยที่ 3 คือเทคโนโลยีที่ทำให้วัตถุดิบมีราคาลดลง โซล่าเซลล์ส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุที่เรียกว่าซิลิคอนซึ่งได้มาจากทรายและควอตซ์  ซิลิคอนเคยมีราคาผันผวนในอดีต  แต่ในระยะหลังมีเสถียรภาพมากขึ้นและมีแนวโน้มของราคาที่ลดลง

วัตถุดิบอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตโซล่าเซลล์ได้แก่ โลหะเงิน อลูมินั่ม แก้ว และพลาสติก นักวิจัยได้ค้นคว้าวิธีการผลิตโซล่าเซลล์ที่ใช้วัสดุเหล่านี้ในปริมาณที่น้อยลงไป ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนที่เป็นค่าวัสดุเหล่านี้ลงไปได้มาก วัสดุและโลหะเหล่านี้มีปริมาณสำรองเหลืออยู่มากตามธรรมชาติ  จึงคาดได้ว่าจะมีราคาที่ไม่แพง

องค์กรด้านพลังงานหลายแห่งคาดว่าปัจจัยทั้ง 3 จะยังคงเป็นจริงต่อไป และอาจมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น ต้นทุนและราคาพลังงานหมุนเวียนก็น่าจะมีแนวโน้มลดลงต่อไปได้อีก ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าราคาโซล่าเซลล์จะลดลงเป็นครึ่งหนึ่งของระดับปัจจุบันภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งก็ยิ่งทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้นเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล  แสดงว่า “โลกสะอาดได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ”

นับเป็นข่าวดีสำหรับโลกที่นอกจากจะต้องเผชิญกับโรค COVID 19 ที่กำลังระบาดรุนแรงแล้ว ยังต้องดิ้นรนที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อหลีกเลี่ยงความหายนะจากปัญหาภาวะโลกร้อน

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563