ขยะพลาสติก: คิดไม่ครบ ก็จบไม่ลง

20 ก.ค. 2563 | 04:15 น.

ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายลดการใช้พลาสติกเพื่อลดปัญหามลภาวะจากขยะพลาสติกตามมติคณะรัฐมนตรี หรือ "ครม."เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 ในแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๗๓ ซึ่งมีแผนการเลิกใช้พลาสติกในผลิตภัณฑ์บางประเภท เพื่อลดขยะพลาสติกในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันปริมาณขยะพลาสติกในระบบแต่ละปีมี 2 ล้านตัน สามารถนำมารีไซเคิลได้ประมาณ 5 แสนตัน อีก 1.5 ล้านตันส่วนมากจบลงที่หลุมฝังกลบหรือไม่ก็หลุดไปในสิ่งแวดล้อม ดังนั้นโรดแมปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำออกมาใช้นี้ ก็เพื่อจะลดและเลิกการใช้พลาสติกในบางผลิตภัณฑ์ การสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพ รวมทั้งลดปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติก จนถึงการห้ามนำเข้ามาในประเทศในปี 2565

            แต่การยื่นขอโควต้าการนำเข้าเศษพลาสติกกว่า 600,000 ตัน ของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในล็อตใหม่ก่อนที่โควต้าที่ค้างอยู่จะหมดอายุเดือนกันยายน 2563 นี้ ทำให้เป็นเรื่องกังวลของทุกฝ่าย คนนำเข้าก็บอกว่าจะเอามาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต สร้างงาน นำเงินเข้าประเทศจากการส่งออก อีกฝ่ายก็ห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมา ก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าของที่นำเข้ามาไม่ได้เป็นวัตถุดิบการผลิตทั้งหมดและไม่สะอาดอย่างที่ว่ากัน แถมแอบเอาเข้ามามากกว่าที่ขอ และยังออกเอาไปทำในโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการนี้อีกด้วย สร้างต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของผู้คน

            เพื่อความแฟร์ เราลองสวมความรู้สึกของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ประชาชนผู้ห่วงใยสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลผู้ออกกติกา กฏ ระเบียบที่เอาทุกประเด็นของทุกฝ่ายมาพิจารณา ดังนั้น การอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกเข้ามาไม่ควรจะมองแค่มุมใดมุมหนึ่ง แต่ต้องมองให้ครบทุกมุม ทุกด้าน และต้องกว้างไปถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อจะได้เห็นผลดีและผลเสียในภาพรวมได้ครบก่อนตัดสินใจในการกำหนดมาตรการของรัฐ ไม่งั้นทำอย่างไรเรื่องก็ไม่จบ หรืออาจจบไม่สวย  

            ลองมาดูในส่วนอุตสาหกรรม จะเห็นว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มีหลายประเภท ถ้าเป็นกลุ่มที่ผลิตสินค้าสำเร็จรูปจากเศษพลาสติกนำเข้า เช่น โพลีเอสเตอร์ หรือขวด แก้วหรือพาชนะพลาสติก ก็อยากได้วัตถุดิบที่สะอาด ซึ่งจะเป็นเศษพลาสติกจากการเหลือใช้ในโรงงานหรือที่คัดอย่างดีและสะอาด หากนำเข้าได้ก็ยิ่งดีเพราะในประเทศมีจำนวนไม่มากและที่สะอาดก็หายาก ส่วนโรงงานที่ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งมีจำนวนหลายแห่งในขณะนี้ ต้องการวัตถุดิบจำนวนมากและราคาต่ำเพื่อการแข่งขันส่งออกไปต่างประเทศ ซึงส่วนมากส่งไปจีน

            ดังนั้น การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ คุณภาพอาจไม่ถึงต้องคัดแยกแต่สะอาดและมีราคาต่ำมาก 2-5 บาทต่อกิโลกรัม สาเหตุที่มีราคาต่ำก็เพราะค่าขนส่งต่ำ เนื่องจากการค้าทุกวันนี้มีปริมาณคอนเทนเนอร์ขนสินค้าจากเอเซียไปยุโรปและสหรัฐฯ มากกว่าสินค้าขากลับมา เรือจึงมีตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจำนวนมากที่ต้องขนกลับมา นอกจากนี้ ที่ประเทศต้นทางไม่ว่ายุโรปหรือสหรัฐฯ ไม่มีกิจการกำจัดพวกนี้มาก ทำให้เศษพลาสติกเหล่านี้จะถูกส่งไปประเทศจีน แต่ภายหลังที่จีนห้ามนำเศษพวกนี้เข้าประเทศ ก็จะหันมาส่งในประเทศแถบอาเซียนมากขึ้น ไม่ว่าเวียดนาม ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพื่อทำเป็นเม็ดพลาสติกส่งไปจีนแทน เห็นได้จากการนำเข้าเศษพลาสติกของไทยสูงขึ้นจาก 1.5 แสนตันเป็น 5.5 แสนตัน ในปี 2561 เมื่อจีนห้ามนำเข้าพวกนี้ในปี 2560 และเหลือการนำเข้า 3.2 แสนตันในปี 2562 เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการออกโควตานำเข้าใหม่ในกลางปี 2562

ขยะพลาสติก: คิดไม่ครบ ก็จบไม่ลง

ส่วนการนำเข้าวัตถุดิบพลาสติกประเภท PET หรือ PETE แบบเกล็ด (Flake) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมโพลีเอสเตอร์จะมีราคาสูงและสะอาด พร้อมใช้ในการผลิต ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ จะมีการนำเข้าจำนวนไม่มาก เนื่องจากหายาก ซึ่งประเทศต่าง ๆ สามารถรวบรวมขวดพลาสติกที่ใช้แล้วได้ง่ายทำให้สามารถรีไซเคิลในประเทศตัวเองได้ ต่างกับเศษพลาสติกประเภทอื่น ๆ ที่กระบวนการแยกประเภทจากขยะทำได้ยาก จึงส่งออกไปต่างประเทศในรูปกากแทน 

ทำไมภาคอุตสาหกรรมไม่ใช้เศษพลาสติกในประเทศ

            ทุกวันนี้ก็มีการใช้เศษพลาสติกในประเทศตลอดเวลา โดยเฉพาะเศษพลาสติกจากโรงงานอุตสาหกรรม แต่มีจำนวนไม่พอกับที่ต้องการใช้ ส่วนที่แยกมาจากขยะครัวเรือนก็มีจำนวนไม่มากในหลายประเภท และที่สำคัญราคาสู้ของนำเข้าไม่ได้ เศษพลาสติกมาจากขยะครัวเรือนบ้านเราจะสกปรกมาก เนื่องจากเราไม่มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน ทำให้ขยะพลาสติกบางประเภท เช่น พวกแก้วพลาสติก ของใช้ต่าง ๆ ถูกทิ้งปนมากับขยะอื่น ๆ ทำให้สกปรก หากจะแยกออกมาทำความสะอาดต้องออกแรงมาก นอกจากนี้พลาสติกแต่ละประเภทก็ไม่สามารถนำมารีไซเคิลรวมกันได้ ถ้าใครดูซีรีย์เกาหลีหรือญี่ปุ่นจะเห็นเวลาเขาทิ้งขวดน้ำดื่ม เขาจะเอาฝาขวดทิ้งช่องหนึ่ง พลาสติกป้ายทิ้งช่องหนึ่ง และขวดอีกช่องหนึ่ง

            ทั้งนี้เพราะพลาสติกทั้งสามที่นี้คนละประเภท จะเอามารีไซเคิลปนกันไม่ได้ ดังนั้นการแยกขยะพลาสติกต้องมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้น ไม่เช่นนั้นจะมีต้นทุนสูงในการคัดแยกเพื่อเป็นวัตถุดิบในโรงงาน แต่เศษพลาสติกนำเข้าที่เป็นกากอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเศษเหลือจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ขยะครัวเรือนที่นำเข้ามาส่วนมากต้องสะอาดในระดับหนึ่ง คัดแยกประเภทพลาสติกมาแล้ว และพร้อมมาใช้เป็นวัตถุดิบได้ทันที หากนำขยะเข้ามาใช้ โรงงานต้องล้างใหม่ คัดแยก เสียเวลาและต้นทุนสูง

ทำไมพลาสติกรีไซเคิลถึงมีค่า

                เนื่องจากกระแสความต้องการของสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ โดยเฉพาะในตลาดขนาดใหญ่ เช่นยุโรปและสหรัฐฯ กำลังมาแรงและผลิตภัณฑ์ที่รักสิ่งแวดล้อมมักจะมีราคาพรีเมี่ยม หรือบางประเทศกำหนดเป็นกฏหมาย อาทิ หีบห่อหรือตัวผลิตภัณฑ์ต้องมากจากวัตถุดิบรีไซเคิล ฯลฯ ดังนั้นเราจะเห็นถุงพลาสติกสวยงามของห้างดัง ๆ ในโลก หรือกล่องใส่ของยี่ห้อแพง ๆ มักจะเป็นพลาสติกหรือกระดาษรีไซเคิล ซึ่งเมื่อตลาดขนาดใหญ่ต้องการสินค้าประเภทนี้ ประเทศในเอเซียก็จำต้องหาวัตถุดิบรีไซเคิลมาใช้

            และจีนก็คือประเทศที่ผลิตสินค้าป้อนตลาดนี้มากที่สุดทำให้ต้องการพลาสติกรีไซเคิลจำนวนมหาศาล แต่ต้นทุนสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูงเพราะการจัดการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลของจีนยังไม่ทันสมัย ทำให้จีนต้องหยุดการนำเข้าเศษพลาสติกชั่วคราวในปี 2560 เพื่อสะสางการจัดการอุตสาหกรรมนี้ในประเทศก่อน แต่ก็ยังนำเข้าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเพราะที่ผลิตได้จากวัตถุดิบในประเทศไม่พอกับความต้องการ

สำหรับประเทศไทยการนำเข้าเศษพลาสติกคุ้มค่าหรือไม่ ดูจากอะไร อย่างไรเรียกว่าคุ้ม

            ประโยชน์จากการนำพลาสติกเข้ามาเป็นวัตถุดิบในประเทศ อาจมีการสร้างงาน สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับหลาย ๆ คน (สมมติว่าเป็นคนไทยทำเองนะครับ ไม่ใช่เป็นนอมินีต่างชาติ) การส่งออก รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษขยะให้กลายเป็นเม็ดพลาสติก และถ้ายิ่งนำไปผลิตต่อเป็นสินค้าต่าง ๆ ก็ยิ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น คำถามที่น่าสนใจก็คือ โครงสร้างอุตสาหกรรมของบ้านเราวันนี้ เศษพลาสติกที่นำเข้ามานั้น นำมาเป็นวัตถุดิบผลิตอะไร แล้วไปไหน แน่นอนว่าจะกลายเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลก่อนอื่นใด

            ซึ่งกระบวนการง่าย ๆ อาจมีมูลค่าเพิ่มต่อประเทศไม่สูงมาก จากนั้นถูกนำไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในประเทศต่อเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มมากขึ้นไปอีกจำนวนมากน้อยเพียงใด เพราะจะเป็นกระบวนการที่เพิ่มมูลค่าได้สูงกว่าทำแค่เป็นเม็ดพลาสติกแน่ ๆ และหากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเหล่านี้ส่วนมากผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศอื่น ประเทศไทยได้มูลค่าเพิ่มตกในประเทศน้อยลงเท่านั้น ซึ่งก็นำไปเทียบกับโอกาสที่จะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ของเสียจากกระบวนการผลิตที่จะต้องนำไปกำจัดต่ออีก ซึ่งก็ถือว่าเป็นต้นทุนในภาพรวมของประเทศ

นำเข้าดีไม่ดี มีอะไรต้องคิด

                หากมองในภาพรวมของการนำเข้าขยะจากต่างประเทศเป็นวัตถุดิบในการผลิต หลายประเทศก็ทำกัน เช่น โรงงานไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นพลังงานเชื้อเพลิงในบางประเทศก็ต้องนำเข้าขยะมาเพื่อเพิ่มเติมจากขยะในประเทศเพราะมีไม่พอใช้ และหากไม่นำขยะจากต่างประเทศเข้ามาก็ไม่คุ้มกับการสร้างโรงงานไฟฟ้าที่จะช่วยกำจัดขยะในประเทศตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบบนี้เขาก็มองว่าคุ้มค่าที่จะนำขยะเข้ามาใช้ในประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องมองผลประโยชน์ในภาพรวมเป็นสำคัญ

                ดังนั้นการมองว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ในการออกแบบมาตรการเกี่ยวกับนำเศษพลาสติกเข้ามเป็นวัตถุดิบนั้นอาจต้องมองว่าสามารถช่วยประเทศเราได้ คือ ช่วยให้การจัดการขยะพลาสติกในประเทศมีประสิทธิภาพและมีตลาดขยะพลาสติกในประเทศมากขึ้น โดยการทำให้การประกอบกิจการแยกขยะ การรีไซเคิลในประเทศมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น เช่นการผสมผสานการใช้เศษพลาสติกในประเทศกับการนำเข้า ซึ่งช่วยให้ธุรกิจรีไซเคิลมีต้นทุนลดลง จูงใจในการลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มความต้องการวัตถุดิบมากขึ้นซึ่งจะช่วยดึงเศษพลาสติกออกจากขยะชุมชนได้มากขึ้น หรือมีแรงจูงใจในการคัดแยกขยะในประเทศมากขึ้น

            เป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขันในผลิตภัณฑ์ของประเทศที่ต้องการใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนผสม ดังการนำเศษพลาสติกมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นสินค้านั้น ควรเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศให้มากที่สุด ไม่ใช่ทำแค่ผลิตเป็นสินค้าวัตถุดิบเบื้องต้น กระบวนการง่าย ๆ ดังนั้นการกำหนดมาตรการการนำเข้าเศษพลาสติกอาจต้องเลือกว่าโรงงานผลิตสินค้าประเภทไหนที่จะให้นำเข้าเศษพลาสติกได้ ประเภทไหนไม่ให้เพราะมูลค่าต่ำ (ไม่เช่นนั้นเราจะตอบคำถามประชาชนได้ลำบากว่า ถ้ากิจการนี้มีผลประโยชน์ต่อประเทศมาก ทำไมเขาไม่ทำในบ้านเขา ส่งเศษพลาสติกมาทำเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูปก่อนแล้วถึงส่งไปบ้านเขา)  

            หากจำเป็นต้องมีการอนุญาตนำเข้า ต้องแยกมีการประเภทเศษพลาสติกที่เข้ามาและจัดสรรปริมาณการนำเข้าตามสัดส่วนของปริมาณผลผลิตสินค้าของแต่ละโรงงานอย่างแท้จริง (ไม่ใช่กำลังการผลิต) และมีการจัดทำบัญชีการใช้เศษพลาสติกตามสัดส่วนผลผลิตเพื่อป้องกันการลักลอบออกนอกโรงงาน รวมทั้งมีการควบคุมการนำเข้า ตั้งแต่การสำแดงสินค้าที่ท่าเรือ และการขนส่งไปโรงงาน การรับรองมาตรฐานของเศษพลาสติกที่เข้ามาจากต้นทางและมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ฯลฯ

            การติดตามเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการตกค้างของเหลือจากกระบวนการผลิตจากโรงงานเหล่านี้ เพราะทั้งหมดคือต้นทุนทางสังคมจากการนำเข้าเศษพลาสติก ปัญหาและข้อถกเถียงเรื่องนี้จะพบว่าในทุกทางเลือกมีต้นทุนและผลประโยชน์ ต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและต่อประชาชน สังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การออกแบบมาตรการจะออกมาแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า “รัฐ” ได้ให้น้ำหนักกับด้านไหนมากกว่ากัน ฉะนั้นก่อนตัดสินใจนั้น ต้องถามตัวเองว่าวัตถุประสงค์ที่เป็น Ultimate goal ของการอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกเข้ามาในประเทศเพื่ออะไร

            ถ้าเพื่อธุรกิจของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเดียว สบายครับ ปล่อยให้เข้ามาเต็มทีเลยครับ เพราะมีคนอยากนำเข้าเยอะ มีคนอยากลงทุนเยอะ มีคนอยากส่งออกเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเยอะ สร้างเงินในระบบเยอะ แต่หากมองว่าการจัดการควบคุมไม่ดี แอบทิ้งขยะของเสียแน่ ๆ และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจากขยะต่างประเทศ เราก็ไม่อนุญาตให้นำเข้ามา ก็ง่ายดี แต่ก็ต้องเข้าใจว่าโอกาสที่การทำธุรกิจรีไซเคิลในประเทศก็มีน้อย พอไม่มีใครอยากทำธุรกิจรีไซเคิล แล้วเศษพลาสติกที่เป็นขยะในบ้านเราจะทำอย่างไร

            ผู้ประกอบการที่ต้องการเศษพลาสติกเพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปที่ต้องมีส่วนผสมพลาสติกรีไซเคิลจะต้องทำวัตถุดิบของตนเองหรือนำเข้าเศษที่สะอาดอยู่ดี และหากอนุญาตนำเข้ามา แต่บอกว่าห่วงสิ่งแวดล้อม คำถามที่ตามมาของสังคมก็คือ แล้วจะจัดการผลกระทบและความกังวลของผู้คนในสังคมจะทำอย่างไร ซึ่งเราต้องยอมรับความจริงว่า ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตในเรื่องนี้ยังเป็นแผลในความรู้สึกของผู้คนทั่วไปที่ขาดความเชื่อใจในภาครัฐและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการบางรายที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์อุตสาหกรรมนี้โดยรวม

            ก็น่าติดตามว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไรเมื่อโควต้าเก่าที่ยังมีปัญหาและสอบสวนกันอยู่ยังไม่เสร็จก็จะหมดอายุลงในเดือนกันยายนนี้ และตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังถกเถียงเรื่องมาตรการใหม่กันไม่จบ .... ก็ต้องรอดูว่าจะจบสวยหรือไม่ ..... ถ้าจบไม่สวย ก็คงไม่จบ