มองเมียนมาดึงนักลงทุนต่างชาติ

20 ก.ค. 2563 | 01:00 น.

คอลัมน์ เมียงมองเมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

 

         เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ที่ผ่านมา ผมได้ทานอาหารกลางวันกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่สอนวิชา Location Theory เมื่อครั้งผมยังเรียนปริญญาโทที่เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ท่านได้เสวนาถึงการที่ประเทศไทยเปิดรุกเรื่อง FDI หรือการส่งเสริมให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ แต่เรากลับไม่ได้มีวิธีการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่แยบยลมากนัก

         ในความเป็นจริงนั้น ไทยเราเองก็มีกฏระเบียบในการลงทุนที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์มากๆ หลายประเทศในภูมิภาคนี้ก็เอากฏระเบียบของไทยไปปรับปรุงใหม่ เพิ่มเติมหรือตัดทอนไปบ้าง แต่เนื้อหาสาระก็ยังมองออกว่านี่เป็นของไทยเรานะ เพียงแต่เราอาจจะขาดการทำงานด้านประชาสัมพันธ์ไปบ้างเท่านั้น จึงทำให้บุคคลภายนอกที่เป็นคนไทยมีความรู้สึกว่าเราไม่ได้เปรียบเลย นอกจากการได้ให้แรงงานมีงานทำบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้เก็บเกี่ยวเอาเทคโนโลยี่ไว้กับประเทศ ให้ดูว่าเราปล่อยให้ค่ายรถยนต์มาผลิตในประเทศไทย แล้วได้สิทธิประโยชน์เต็มๆไป แต่วัตถุดิบที่ใช้ เรากลับต้องนำเข้าชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่  

         หรือการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ที่ย้ายฐานไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านไปแล้ว ในช่วงที่เขาอยู่ที่ประเทศไทย เราได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่เราควรจะได้อะไรใว้บ้าง แต่กลับไม่มีอะไรเหลือไว้ให้เราเลย ในช่วงที่เขาอยู่สิ่งเดียวที่เราได้คือค่าแรงขั้นต่ำที่แรงงานของไทยเราได้เข้าไปทำงานในโรงงานเท่านั้น พอวันเวลาผ่านไป เขาก็ตบก้นแล้วก็กู๊ดบายไทยแลนด์ไปเฉยๆเลย สิ่งที่เหลือใว้คือเพียงซากโรงงานเท่านั้นเอง

         นี่คือผลที่การไม่ได้เตรียมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไว้ก่อนล่วงหน้า ในขณะที่ประเทศจีนหรือประเทศมาเลเซีย ในยุคที่เขาเริ่มพัฒนาประเทศ เขาก็เริ่มจากการชักจูงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ พอในประเทศเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น รายได้ประชาชนมากขึ้น ค่าแรงสูงขึ้น ต่างชาติที่มาลงทุนเขาจำเป็นต้องย้ายฐานผลิตออกไป แต่ประเทศมาเลเชียยังเหลือยี่ห้อรถ “โปรตรอน”และเทคโนโลยี่ในการผลิตรถยนต์เอาใว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชมและทำการค้าขายต่อไปได้ หรือที่ประเทศจีน พอนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนมากขึ้น เข้าก็เก็บเกี่ยวเอาเทคโนโลยี่ไว้หมด ทุกอย่างที่ทำเทียมเลียนแบบได้เขาทำหมดไม่เหลือ  

         คนจีนเขาฉลาดมากและมีทรัพยากรบุคคลที่มากมาย อีกอย่างคนจีนเองเป็นชาติที่ทุกคนต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันทุกคน จึงทำให้ทุกคนต้องดิ้นรน พอเขาพึ่งตนเองได้เขาก็ทำการสร้างแบรนด์ แล้วบุกตลาดเองหมด จนกระทั่งขณะนี้ ทุกมุมในโลกเล็กๆใบนี้ ไม่มีที่ไหนไม่มีสินค้า Made in China พอต่างชาติที่มาลงทุนหากจะย้ายออกไป เขาก็ไม่ได้แคร์เลย

         หลายท่านคงนึกเถียงผมอยู่ในใจว่า ปัจจัยที่จีนขึ้นมานั่งแท่นได้นั้นมีเยอะ ผมก็ยอมรับครับ แต่เราดูหนังดูละครแล้วต้องกลับมาย้อนดูตนเองด้วยครับ จึงจะชาญฉลาดพอ

         มาดูประเทศเกิดใหม่อย่างประเทศเมียนมากันบ้างนะครับ  ต้องยอมรับว่าเขาก็เห็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย มาเลเซีย เวียดนาม หรือประเทศจีนเป็นตัวอย่าง เพราะประเทศเหล่านั้นมีประสบการณ์ ซึ่งเขาก็มองเห็นทั้งความสำเร็จและความผิดพลาดของประเทศเพื่อนบ้าน เขาจึงเตรียมความพร้อมและหาทางป้องกันตัวเองไว้อย่างดี

         ผมจะขอยกตัวอย่างการเปิดให้นักลงทุนเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติของประเทศตนเอง สิ่งที่เขาปกป้องอาจจะต้องมองสองชั้นสามชั้น เพราะสังเกตุจากการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ เขาจะมีการกั๊กๆไว้เล็กน้อย หรือการเปิดให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศ ในช่วงแรกเลยเขาจะเปิดเป็นสองสามขยัก โดยช่วงแรกหรือกฏหมายการลงทุนฉบับแรก เขาก็ให้เฉพาะด้านบริการเท่านั้นก่อน พอกฎหมายการลงทุนฉบับสองและสาม เขาจึงค่อยเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เงื่อนไขในการลงทุนมากันเป็นแผง กว่าจะเข้าไปลงทุนได้เล่นเอานักลงทุนเหนื่อยไปตามๆกัน

         ส่วนการลงทุนทางตรงหรือ Direct investment ก็มีเงื่อนไขมากมาย เช่นจำนวนสัดส่วนการใช้แรงงานท้องถิ่นกับแรงงานนำเข้าจากต่างประเทศ หรือการขออนุญาตให้ถือครองทรัพย์สินต่างๆ หรือเงื่อนไขการนำเข้าเครื่องจักรกล เป็นต้น ซึ่งผมก็มีความเชื่อว่า เขาเอาแบบอย่างมาจากหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้แหละ ไม่ต้องไปคิดให้เสียเวลา รายละเอียดค่อนข้างเยอะ ดังนั้นผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาข้อกำหนดของกฏหมายให้ดีนะครับ

         บางครั้งหากเราทำไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขทีหลัง มันไม่สามารถแก้ไขได้ ส่วนที่ผู้ประกอบการมักจะเข้าใจว่า ต้องหาคนท้องถิ่นที่มีคอนเน็คชั่นมาเป็นหุ้นส่วน เพื่อความสะดวก ในความเห็นส่วนตัวของผม คิดว่านี่เป็นความเข้าใจผิดของผู้ประกอบการ ที่ยังนึกว่าเมียนมาเขายังไม่พัฒนา ยังต้องอาศัยความรู้จักส่วนตัว จริงๆแล้วเขาได้มีการออกกฏหมายการลงทุนมาใหม่แล้วสามครั้ง ในช่วงจังหวะที่โรคระบาดโควิด19 เข้ามานี้ เขาเองก็กำลังเร่งร่างกฏระเบียบหรือกฏหมายการลงทุนใหม่ที่จะประกาศใช้ในอีกสามเดือนข้างหน้า ซึ่งก็ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงนี้อีกครับ  นี่เป็นการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศอย่างชาญฉลาดครับ