“รวมไทยสร้างชาติ" ทำจริงหรือ?

15 ก.ค. 2563 | 07:30 น.

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฉบับ 3592 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 16-18 ก.ค.63 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

 

หลังสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 คลี่คลายและผ่านพ้นมาได้ด้วยดี จนทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สบายใจได้ในระดับหนึ่ง จนกล้าแถลงต่อประชาชนเมื่อ 17 มิถุนายน 2563 ว่าประเทศเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นายกรัฐมนตรีมีความเบาใจต่อเหตุการณ์วิกฤติและมีกำลังใจที่จะนำพาชาติก้าวเดินต่อไป ท่ามกลางความชื่นชมของนานาประเทศ และกำลังใจที่ได้รับจากประชาชนในชาติ ความนิยมต่อนายกรัฐมนตรีสูงเด่นขึ้นด้วยผลงาน ในค่ำคืนภายหลังที่ประเทศเริ่มผ่านพ้นวิกฤติโควิดมาได้ 

นายกรัฐมนตรีได้ถือโอกาสกล่าวกับประชาชนทั้งประเทศ ด้วยวาทะกรรมและเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมือง เพื่อเรียกร้องและขอความร่วมมือกับพี่น้องร่วมชาติทุกคน โดยขอให้ประชาชนไทย "รวมไทยสร้างชาติ" ด้วยถือเอาโมเดลที่เป็นบทเรียนจากการที่คนไทยร่วมกันฝ่าวิกฤติโควิด-19 มาได้นั่นเอง ที่ทำให้นายกรัฐมนตรี มองเห็นศักยภาพและพลังสามมัคคีของคนไทย รวมถึงการที่รัฐบาลสามารถระดมคนเก่ง คนดี มีความรู้และความสามารถมาร่วมกันแก้วิกฤติประเทศผ่านพ้นมาได้ ดังปรากฎภาพนายกรัฐมนตรีร่วมประชุมกับคณะแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจนนำมาสู่การจัดตั้ง ศบค.สู้ภัยวิกฤติโควิดสำเร็จ

การประกาศของนายกรัฐมนตรีเพื่อ "รวมไทยสร้างชาติ" ถือว่ามาถูกที่ถูกเวลา สอดคล้องกับบรรยากาศและสถานการณ์ของบ้านเมือง เป็นวาทะกรรมทางการเมืองที่มีพลัง จุดประกายและให้ความหวังแก่ประชาชนในสังคมได้ไม่น้อย หากทำได้จริงตามนั้น ย่อมจะทำให้สถานะการเป็นผู้นำประเทศของท่านสูงเด่น ก้าวสู่ความเป็นผู้นำเยี่ยงรัฐบุรุษได้ เพราะมีแต่ผู้นำประเทศที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น ที่สามารถเป็นศูนย์จิตใจรวมพลังคนในชาติ สร้างประเทศที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น เหมา เจ๋อ ตง, เติ้ง เสี่ยวผิง ของจีน หรือ รัฐบุรุษเนลสัน มาเนลล่า แห่งอาฟริกาใต้ หรือ คานธี แห่งอินเดีย 

กรณีที่นายกรัฐมนตรีประกาศเช่นนี้ จึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร? จะทำได้จริงหรือไม่? หรือจะเป็นแค่คำประกาศที่ล่องลอยหายไปในสายลม เยี่ยงคำพูดของนักการเมืองคนอื่นๆ นี่คือคำถามที่นายกรัฐมนตรี คงต้องตอบและทำให้ปรากฎเป็นจริงลบคำสบประมาทด้วยการปฏิบัติ มากยิ่งกว่าเพียงพูดเพื่อหวังผลทางจิตวิทยาทางการเมือง เพราะหากพูดแล้วไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ เครดิตทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี ต้องเสียไปและได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากพูดแล้วไม่ทำก็ไม่แตกต่างอะไรจากนักการเมือง ที่หาเสียงเพื่อให้ประชาชนเคลิ้มและหลงชื่นชมเพื่อหวังคะแนนเสียงเท่านั้นเอง

เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาสาระ คำประกาศของท่านนายกฯ ในเรื่องนี้ คงมีสาระสำคัญอยู่ที่ความพึงพอใจและความสุขใจที่ได้เห็นความสามัคคีและความร่วมมือของชาวไทยทุกฝ่ายในการร่วมกันแก้วิกฤติโควิด โดยท่านขอให้เอาโมเดลนี้มาเป็นต้นแบบ ต่อยอด เพื่อขอให้คนไทยร่วมมือสามัคคีกันสร้างชาติ ยุติปัญหาการเมืองที่นำมาซึ่งความขัดแย้งและไม่สร้างสรรค์ โดยรัฐบาลยินดีรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย พร้อมสามัคคีกับทุกพลังในสังคม เพื่อร่วมกันสร้างชาติ แต่ข้อความส่วนนี้ก็ไม่แตกต่างอะไรกับแถลงการณ์ในวันที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง "ที่ต้องการให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ เกิดความรักความสามัคคีคนในชาติ ตลอดจนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และอื่นๆ"

ส่วนการสร้างชาติ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่าย ท่านจะยึดถือและเอาแนวทางความคิดใดมาเป็นแนวทางสร้างชาติ นอกจากสิ่งที่รัฐบาลได้เคยมีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ไว้เป็น 6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง, ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน, ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์, ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม, ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเมื่อเรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมมีผลบังคับให้หน่วยงานรัฐ มุ่งพัฒนาประเทศไปตามทิศนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งถูกบัญญัติบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และ พรบ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้ต้องปฏิบัติผูกพันรัฐบาลและทุกหน่วยงานรัฐอีกด้วยโดยรัฐบาลมิอาจฝ่าฝืน เพราะหากฝ่าฝืนย่อมมีความผิด

นอกจากนี้ รัฐบาลนี้ยังได้มีพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 เพื่อกำหนดให้มีแผนการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้านรวม 11 ด้าน เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 257-260 โดยกำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งหมดเหล่านี้ ได้มีการจัดทำแผนรายละเอียดเป็นที่เรียบร้อยหมดแล้ว ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาตามกระบวนการแล้ว 

การรวมพลังสร้างชาติที่ท่านนายกฯต้องการและอยากเห็นจึงมีคำถามว่าคืออะไร ถ้าหากไม่ใช่การปฏิรูปประเทศ แต่การปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรม และการปฏิบัติที่เป็นจริงที่ผ่านมาจนบัดนี้ มีด้านใดที่เกิดขึ้น เห็นผลสัมฤทธิ์แล้วบ้าง นี่คือคำถามและสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น

เมื่อนายกรัฐมนตรี ประกาศเชิญชวนประชาชน รวมพลังสร้างชาติเช่นนี้ ยังถือว่าเป็นทิศทางทางการเมืองที่ถูกต้องแล้ว แต่นายกรัฐมนตรี ไม่ควรที่จะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ หากจะทำให้การสร้างชาติปรากฏเป็นจริงได้ ควรต้องสร้างความสามัคคีคนในชาติ เพื่อเป้าหมายร่วมกันปฏิรูปประเทศให้ปรากฎเป็นจริง โดยนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้นำในการสร้างความสามัคคี สลายความขัดแย้งทางการเมือง สร้างความปรองดองคนในชาติให้เกิดขึ้นจริง มิใช่เพียงคำพูดลอยๆ ท่านต้องลงมือปฏิบัติและติดตามผลการปฏรูปนั้นอย่างจริงจัง ท่านต้องเป็นผู้นำพาประชาชนก้าวเดินร่วมกันไปตามเส้นทางการปฏิรูปประเทศเท่านั้น 

การสร้างชาติจึงจะมิใช่สิ่งเลื่อนลอย หรือเป็นเพียงวาทะกรรมทางการเมือง และโดยความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศเท่านั้น ที่จะสร้างความมั่นคงทางการเมืองที่แท้จริงแก่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้นำประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ เพราะการเมืองเก่าๆ น้ำเน่าไร้การปฏิรูปที่เอาแต่แย่งชิงตำแหน่ง เล่นเกมชิงอำนาจ มุ่งแต่หาประโยชน์สำหรับพวกตน ไม่อาจทำให้รัฐบาลมีความมั่นคง หรือความศรัทธาที่ยั่งยืนจากประชาชนได้ 

ลงมือทำการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังวันนี้ยังไม่สาย เดินหน้าทำการปฏิรูปให้เห็นผลปรากฎเป็นจริง ด้วยการแสดงภาวะผู้นำในการปฏิรูปประเทศ เท่านั้น จึงจะเป็นการสร้างชาติที่แท้จริง