เปิดโมเดลใหม่ คำนวณต้นทุนยางพาราไทยแม่นยำ

14 ก.ค. 2563 | 09:49 น.

คอลัมน์ "รู้ลึก อาเซียนพลัส" : เปิดโมเดลใหม่ คำนวณต้นทุนยางพาราไทยแม่นยำ โดย ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ต้นทุนยางพาราไทยเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยทั้งปัจจุบันและอนาคต ต้นทุนการผลิตยางพาราที่สูงหรือต่ำย่อมมีผลต่อศักยภาพการแข่งขัน (การซื้อขายยางพาราไทยในต่างประเทศ) รวมไปถึงจำนวนเงินช่วยเหลือเกษตรกรจากรัฐบาล และแรงจูงใจการลงทุนอุตสาหกรรมยางพาราจากต่างประเทศในไทย เพราะต้นทุนวัตถุดิบยางพาราเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการลงทุน

 

ปัจจุบันเราสามารถหาต้นทุนยางพาราไทยได้จาก 3 แหล่งคือ จากหน่วยงานในสังกัดของรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา งานวิจัยที่ทำโดยอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ซึ่งแต่ละฝ่ายก็จะมีรายละเอียดต้นทุนทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน คนทั่วไปจะทราบต้นทุนยางพาราที่เผยแพร่จากหน่วยงานราชการ

 

สำหรับผมขอเรียกการคำนวณต้นทุนยางพาราของไทยในปัจจุบันว่าเป็นแบบ “2 x 3” ซึ่ง “เลข 2” คือการคำนวณต้นทุนยางพาราไทยแบ่งออกเป็น 2 หน่วยคือต้นทุนยางพาราต่อกิโลกรัม(กก.) กับต้นทุนยางพาราต่อไร่ ส่วน “เลข 3” คือคำนวณต้นทุนยางพาราแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ ต้นทุนน้ำยางสด ต้นทุนยางแผ่นและต้นทุนยางก้อนถ้วย โดยต้นทุนน้ำยางสดมีค่าสูงสุด ตามด้วยต้นทุนยางแผ่น และยางก้อนถ้วย ตามลำดับ

 

หากพิจารณาต้นทุนยางแผ่นในช่วงปี 2553 ถึง 2562 สามารถแบ่งทิศทางต้นทุนยางแผ่นออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงต้นทุนยางพารา 40 – 60 บาทต่อกก. และช่วงต้นทุนอยู่ในช่วง 60 บาทต่อกก. และช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้นทุนยางแผ่นไทยมีทิศทางต่ำกว่า 60 บาทต่อกก.  (วิเคราะห์จากข้อมูลของ สศก.) และเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนยางพาราของไทยกับประเทศคู่แข่งพบว่า ต้นทุนยางพาราเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 43 บาทต่อกก. (ปี 2562) สูงกว่าต้นทุนยางพาราเฉลี่ยของมาเลเซียที่อยู่ที่ 24 บาทต่อกก. และสูงกว่าต้นทุนยางพาราเฉลี่ยของเวียดนามที่ 29 บาทต่อกก. แต่ต้นทุนยางพาราไทยก็ยังต่ำกว่าอินเดีย แต่ใกล้เคียงกับต้นทุนยางพาราเฉลี่ยของกัมพูชา

 

เราจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการคำนวณต้นทุนยางพาราของไทยคิดเป็นต่อกิโลกรัมและต่อไร่ “ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การพัฒนายางพาราไทยไม่ไปถึงไหน?”

เปิดโมเดลใหม่ คำนวณต้นทุนยางพาราไทยแม่นยำ

ในบทความนี้ผมอยากจะนำเสนอการคิดคำนวณต้นทุนยางพาราใหม่เป็น “โมเดลการคำนวณยางพาราที่คิดต่อต้นยางพารา” หลักการและเหตุผลที่ใช้การคำนวณแบบนี้เพราะ 1. “ต้นทุนค่าแรงงานเป็นต้นทุนที่มีสัดส่วนสูงในต้นทุนผันแปรทั้งหมด” หากเราสามารถบริหารจัดการที่เน้นศักยาภาพให้สูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนยางพาราลดลง 2.การคำนวณต่อไร่นั้นจะทำให้การคำนวณเกิดความคลาดเคลื่อนเพราะใน 1 ไร่ของแต่ละสวนยางพารามีจำนวนต้นยางไม่เท่ากัน  

 

ขอเริ่มอย่างนี้ครับ ต้นทุนยางพาราแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่คือผันแปรและคงที่ โดยร้อยละ 60 เป็นต้นทุนผันแปร และในต้นทุนผันแปรร้อยละ 80 เป็นต้นทุนของแรงงาน  เมื่อนำตัวเลขของสวนยางพาราที่จังหวัดเชียงราย สามารถคำนวณต้นทุนน้ำยางสดดังนี้ครับ 1.ต้นทุนก่อนกรีด : เริ่มนับตั้งแต่ปี 1 ถึงปีที่ 6 ต้นทุนต่อต้นเท่ากับ 1,158 บาท (ไม่รวมค่าที่ดิน) ประกอบด้วยต้นทุนการปรับพื้นที่ 540 บาทต่อต้น รวมค่าจ้างปลูก ค่ากล้า ค่าใส่ปุ๋ย บำรุงต้นเท่ากับ 528 บาทต่อต้น และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก  90 บาทต่อต้น  

 

2.ต้นทุนหลังปีที่ 6 : ผลตอบแทนแรงงานในการกรีดจะไม่ใช้ “ระบบแบ่งสัดส่วนโดยตรง” แต่ใช้เกณฑ์ “น้ำหนักต่อการกรีดต่อต้น (Gram Per Tap Per Tree : GTT) ต่อ 1 วัน” วัตถุประสงค์ที่นำระบบ GTT มาใช้เพราะต้องการวัดศักยภาพของต้นยาง 1 ต้น และเพื่อแก้ปัญหาการโกงน้ำยาง โดย GTT ของน้ำยางสดแปลงนี้เท่ากับ 120 GTT เมื่ออายุยางพาราเพิ่มขึ้นค่า GTT ของต้นยางต้องสูงขึ้น (ต้นยางพาราให้ผลผลิตสูงสุดในปีที่ 15-16 หลังจากนั้นจะลดลง ในขณะที่ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตสูงสุดในปีที่ 9-13 หลังจากนั้นจะลดลง)

เปิดโมเดลใหม่ คำนวณต้นทุนยางพาราไทยแม่นยำ

สำหรับการนำ GTT มาใช้แรงงานกรีด 1 ต่อ 1 วัน โดยปกติจะกรีดได้ 500-700 ต้นต่อวัน (ขึ้นกับพื้นที่ราบหรือสูง) ซึ่งรายได้จะเพิ่มขึ้นตามน้ำยางสดที่กรีดได้เพิ่มขึ้น กรณีนี้จะได้น้ำยางสด 130 GTT x 500 ต้น (สัดส่วน 3 เท่าของยางแห้งซึ่งเท่ากับ 43.40 GTT ต่อวัน) เท่ากับได้น้ำยางสด 65,000 กรัมหรือ 65 กก. ทำเป็นน้ำยางแห้งโดยคูณกับ 35% (ค่า DRC) เท่ากับ 22.75 กก. (น้ำยางแห้ง) แล้วนำไปคูณกับราคาที่คนกรีดจะได้ ซึ่งคิดจาก 14-15 บาท (35% ของราคาน้ำยางสด สมมติเท่ากับ 40 บาทต่อกก.) อาจจะเป็น 14 บาทหรือ 15 บาท มีการใช้ระบบแรงจูงใจและความขยัน ฉะนั้นคนกรีดจะได้รายได้ต่อวันเท่ากับ 341 บาท ใน 1 เดือนแรงงานกรีดจะได้รายได้มากกว่า 10,000 บาทต่อเดือน (กรีด 30 วัน 15 วันกรีดหนึ่งโซน อีก 15 วันกรีดหนึ่งโซน) และเมื่อคิดต้นทุนน้ำยางสดของสวนแปลงนี้เท่ากับ “49 บาทต่อ กก.” (ซึ่งต่ำกว่าของประเทศไทยที่อยู่ที่ 59 บาทต่อ กก.)

 

โดยสามารถแยกเป็น 1.ต้นทุนผันแปรเท่ากับ 17.50 บาท/กก. ประกอบด้วย ค่ากรีด 14 บาทบวกค่าแรงจูงใจ  1 บาทบวกค่าขนส่ง 1 บาท บวกค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 1.5 บาท และ 2.ต้นทุนคงที่เท่ากับ 26 บาทต่อกก. ประกอบด้วยค่าปุ๋ย 10 บาทต่อกก. (ผสมเอง) (ปกติ 15 บาท/กก.) ค่าดูแลต้นยาง 4.50 บาทประกอบด้วย ค่าใส่ปุ๋ย ถางหญ้า ค่าดูแลต้น  และค่าเสื่อม 10 บาท (คิดเฉลี่ยต่อปีจากต้นทุนต่อต้นก่อนกรีด 1,158 บาทต่อต้นหารด้วยจำนวนอายุต้นยาง 25 ปี ได้เท่ากับ 46 บาทต่อต้นต่อปี  จากนั้นนำมาหารด้วยผลผลิต 4.3 กก.ต่อต้นต่อปีจะได้ค่าเสื่อม 10 บาทต่อกก.ต่อปี) และอื่นๆ 1.5 บาทต่อกก. 3.ค่าเฝ้าระวังไฟป่าปีละ 800,000 บาท เฉลี่ยกก.ละ 5.5 บาท

 

ผมสามารถสรุปกรณีการคำนวณได้ดังนี้ครับ 1.จะเห็นได้ว่าต้นทุนข้างต้นเป็น “ต้นทุนทางบัญชี” ซึ่งสูงกว่าต้นทุนของเกษตรกรเหตุผลเพราะสวนยางพาราแห่งนี้เป็นแปลงใหญ่ จึงมีต้นทุนในการจัดการไฟป่า 2.โมเดลการคำนวณใหม่คือ “GTT” ซึ่งเกษตรกรทั่วไปยังไม่นำมาคำนวณ 3.การนำ “GTT” มาใช้รวมกับต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ น่าจะทำให้ต้นทุนรวมของเกษตรกรลดลงครับ จึงเป็นอีกโมเดลการคำนวณต้นทุนยางที่น่าสนใจ “ประเทศไทยต้องลองครับ”

เปิดโมเดลใหม่ คำนวณต้นทุนยางพาราไทยแม่นยำ