จี้รัฐเร่งปรับ 4 เรื่องใหญ่ ปลุกเศรษฐกิจไทยฟื้นหลังโควิด

12 ก.ค. 2563 | 05:30 น.

สัมภาษณ์ รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จี้รัฐเร่งปรับ 4 เรื่องใหญ่ ปลุกเศรษฐกิจไทยฟื้นหลังโควิด

แม้วันนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะบรรเทาลงในหลายประเทศ แต่ไม่ได้หมาย ความว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะทุเลาลงตาม รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และคลัสเตอร์วิจัยความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ (ICRC) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความสำคัญของผู้ประกอบการที่เปราะบางจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ที่ภาครัฐควรโฟกัสก่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรวม และข้อเสนอแนะจากมุมงานวิจัยที่น่าสนใจดังคำสัมภาษณ์ต่อไปนี้

 

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวว่า ผลการศึกษา ICRC ที่งานวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มองว่า วิกฤติเศรษฐกิจน่าจะยังมีความรุนแรงอยู่ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการจำนวนมากยังรอดูสถานการณ์ให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ที่มีต้นทุนสูงในการเลิกกิจการ ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ หากจัดการได้ดีจะบรรเทาความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างมีนัยยะ  จี้รัฐเร่งปรับ  4 เรื่องใหญ่  ปลุกเศรษฐกิจไทยฟื้นหลังโควิด

ทั้งนี้ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่การบริโภคและการลงทุนชะลอตัวอย่างต่อเนื่องหลายปีทำให้ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อภาคธุรกิจรุนแรงกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศโดยเฉพาะเวียดนามที่การผลิตและการลงทุนยังเติบโตอย่างชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยพบว่ามีการลดลงอย่างชัดเจนในช่วงล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน และยังคงลดลงต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม ถึงแม้ว่ารัฐบาลได้เริ่มมีมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมก็ตาม


จากการประมาณการณ์ของ ICRC มีผู้ประกอบการที่เปราะบางจำนวนมากกว่า 50,000 ราย และเกี่ยวข้องกับแรงงานมากถึง 4 ล้านคน ตัวเลขแรงงานดังกล่าวเฉพาะแรงงานในระบบประกันสังคมเท่านั้น ยังไม่นับรวมกลุ่มแรงงานชั่วคราว ประเด็นสำคัญ คือ ผู้ประกอบการเปราะบางเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการแข่งขัน ทำกำไรได้ดี และเป็นแหล่งรายได้ภาษีที่สำคัญให้กับภาครัฐ   ดังนั้นรัฐน่าจะเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ มิเช่นนั้นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงอาจนำไปสู่วิกฤติสถาบันการเงินอันเนื่องจากหนี้เสียที่จะตามมา 

 

จี้รัฐปรับ 4 เรื่องใหญ่

สำหรับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ หากพิจารณาจากเม็ดเงินความช่วยเหลือจากภาครัฐบาลของไทยพบว่าสูงถึงเกือบร้อยละ 14.3 ของ GDP แต่ถือเป็นการใช้จ่ายในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ 19.7% มาเลเซีย 18.7% จีน 6.1% เวียดนาม 4.4% ญี่ปุ่น 21.1% เกาหลีใต้ 14%

แต่หากพิจารณาในมิติการให้ความช่วยเหลือ ทางกลุ่มงานวิจัยมองว่ามีหลายเรื่องที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เรื่องแรก คือ สิ่งที่ภาครัฐของไทยยังทำน้อย คือ การช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการยังคงมีจำกัด  การช่วยเหลือทางด้านภาษีกับผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่การเลื่อนการชำระภาษี (3 เดือน) ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย และการพยายามเร่งคืนภาษีให้กับผู้ประกอบการ  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอกชนเสนอฟื้น "ชิม ช้อป ใช้" กระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนธุรกิจหมดสายป่าน

ส่อง “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ลุงตู่ ในวัน 4 กุมารระส่ำ

เอกชนไม่ปลื้มทีมศก.ใหม่

การใช้จ่ายภาครัฐความหวังเดียวเคลื่อนจีดีพีปี 2563

 

“ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมีการใช้นโยบายทางด้านภาษีอย่างจริงจังในการช่วยเหลือทางด้านต้นทุนกับผู้ประกอบการ เช่น สิงคโปร์มีการคืนภาษีนิติบุคคล และอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 25 และ 30 ให้แก่ผู้ประกอบการ เป็นต้น”

จี้รัฐเร่งปรับ  4 เรื่องใหญ่  ปลุกเศรษฐกิจไทยฟื้นหลังโควิด

เรื่องที่สอง คือ ผู้ประกอบการเองเป็นกลจักรที่สำคัญที่สุดในการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน ดังนั้นการจูงใจให้ผู้ประกอบการไม่ปลดคนงานเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญไปในลักษณะคู่ขนาน ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่เห็นอย่างชัดเจน   

 

เรื่องที่สาม สินเชื่อ Soft Loan เป็นสิ่งที่สามารถปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้  โดยหลักการทางกลุ่ม ICRC เห็นด้วยกับการใช้ระบบสถาบันการเงินเป็นกลจักรในการปล่อยสินเชื่อเพราะเป็นอะไรที่ทำได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วซึ่งเหมาะกับสถานการณ์วิกฤติอย่าง โควิด-19  หากมองกรณีของเวียดนามที่แม้ใช้เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ โดยช่วยเหลือเพียงร้อยละ 4.4 ของ GDP เท่านั้น แต่วิธีการอัดฉีดเงินทำได้รวดเร็วและถึงมือผู้ประกอบการ ซึ่ง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ธนาคารพาณิชย์ในเวียดนามรายงานว่าได้ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการมากกว่า 300 ล้านล้านดอง หรือร้อยละ 3.8 ของ GDP

 

“ขณะที่มาตรการซอฟต์โลนของไทยที่ผ่านมายังประสบปัญหาในหลายด้าน เช่น ระยะเวลาการให้กู้ที่สั้น ความไม่ชัดเจนในเรื่องการค้ำประกันหนี้ และเกณฑ์การปล่อยกู้ที่อาจจะพุ่งไปที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กมากจนเกินไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องปล่อยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ไปตามยถากรรม เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นแหล่งจ้างงาน​ ในการศึกษาทางทีมวิจัยได้ลองคำนวณการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ เช่น ขยับเกณฑ์วงเงินกู้ 500 เป็น 1,000 ล้านบาท จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางที่มีความสามารถในการแข่งขันได้กว่า 800 ราย และเกี่ยว ข้องกับแรงงานกว่า 300,000 ราย 

เรื่องที่สี่ คือ โครงการภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ยังมีโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตที่มีอาจยังไม่ตอบโจทย์ที่ภาครัฐคาดหวังไว้ จากโครงกรทั้งหมดที่ยื่นขอจะเห็นได้ว่าเกือบร้อยละ 60 เป็นการสร้างถนน คู คลอง และการก่อสร้างอื่นๆ ขณะที่โครงการที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต เกษตร และบริการทั้งหมดรวมกันมีเพียงร้อยละ 16 ของโครงการทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่โครงการและงบประมาณที่จัดสรรให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตและเทคโนโลยีดิจิทัลโดยตรงอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลฯยังมีอยู่อย่างจำกัด 

จี้รัฐเร่งปรับ  4 เรื่องใหญ่  ปลุกเศรษฐกิจไทยฟื้นหลังโควิด

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563