ตัด "งบทหาร" 2.2 แสนล้าน ทำได้จริงหรือแค่หาเสียง

12 ก.ค. 2563 | 03:00 น.

ตัดงบทหาร 2.2 แสนล้าน ทำได้จริงหรือแค่หาเสียง : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3591 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-15 ก.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

     งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ. 2564 (งบ 64) วงเงิน 3,300,000 ล้านบาท ที่ผ่านการลงมติของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรก และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบปี 2564 ถึง 72 คน   นอกจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการตั้งงบกลางที่เพิ่มขึ้นเกือบแสนล้านบาท โดยตั้งไว้ที่ 614,612.2 ล้านบาท คิดเป็น 18.6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเคยตั้งไว้ 518,770.9 ล้านบาท
 

     งบก้อนนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถล่มและเปรียบเปรยว่าเป็นการ “ตีเช็คเปล่า” เนื่องจากมีแค่ “หัวข้อ” กับ “วงเงิน” แต่ไม่มีรายละเอียดโครงการ  และพบว่า มีงบ 40,325.6 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผลกระทบจากไวรัส โควิด-19 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงบประมาณสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อง "งบ64" มหาวิทยาลัย ที่ไหนอู้ฟู่ ที่ไหนฝืดเคือง

เปิด "งบ 64" รายกระทรวง ที่ไหนถูกตัด ที่ไหนได้เพิ่ม

เปิดไส้ใน "งบกลาง 64" โปะเยียวยา-จ่ายฉุกเฉิน 1.4 แสนล้าน

 

     สะท้อนว่างบเยียวยาการระบาดของไวรัสโควิดถูกซ่อนไว้จำนวนมาก เมื่อพิจารณารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งขออนุมัติกฎหมาย 4 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1,900,000 ล้านบาท และ พ.ร.บ.ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไปตั้งไว้เป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินจำเป็น 88,452.5 ล้านบาท

     กระสุนที่ดี มีพลัง กลายเป็นช่องโหว่ให้คนโจมตีเสียนี่....
 

     นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณของกระทรวงกลาโหมยังกลายเป็นเป้าใหญ่ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องฝ่าด่านนี้ออกไป เพราะมีการตั้งธงเอาไว้ชัดเจนในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯว่าจะมีการพิจารณางบกองทัพเป็นพิเศษ
 

     พิเศษแบบใส่ไข่ สไตล์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่ประกาศว่า “ดิฉันขอถาม พล.อ.ประยุทธ์ ว่า หยุดซื้ออาวุธ หยุดสร้างอาคารใหม่ หยุดเช่ารถใหม่สักปีจะได้ไหม เพื่อนำเงินจำนวนนี้มาช่วยเกษตรกร และคนตกงาน 8.3 ล้านคนจะดีกว่า ในยามที่ประเทศกำลังเผชิญสึนามิเศรษฐกิจ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าพี่น้องทหารมืออาชีพส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะยอมเสียสละ หยุดซื้ออาวุธ หรือหยุดสร้างอาคารสัก 1-2 ปี แต่ไม่เป็นไรค่ะ ถ้ารัฐมนตรีกลาโหมที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมตัด เพื่อไทยจะตัดในชั้นกรรมาธิการฯเอามาให้ประชาชนเอง”
 

     พรรคเพื่อไทยมีกรรมาธิการวิสามัญฯเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2564 ตามสัดส่วนรวม 15 คน อาทิเช่น นายเกรียง กัลป์ตินันท์ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายวัฒนา เมืองสุข นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ นายสมคิด เชื้อคง นายอุดมเดช รัตนเสถียร ฯลฯ
 

     นี่ไม่นับรวมการที่พรรคก้าวไกล ส่งผู้นำนอกสภา “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” มาทำหน้าที่ในกรรมาธิการฯในโควต้าพรรคร่วมกับ ศิริกัญญา ตันสกุล พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ วรภพ วิริยะโรจน์ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล เอกภพ เพียรพิเศษ
 

     สาส์นท้ารบกองทัพถูกส่งผ่านไปในชั้นกรรมาธิการฯเรียบร้อย แต่จะทำได้จริง หรือ แค่สร้างภาพโจมตี ต้องสู้กันสนุกในชั้นกรรมาธิการ เพราะโควต้าของรัฐบาลนั้นนำทีมโดย พล.อ.กิตติทัศน์ เปี่ยมสุวรรณ อดีตปลัดบัญชีทหารบก ประธานคณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม ผู้ผ่านสนามการต่อสู้กับนักการเมืองในการเป็นกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มาแล้ว และเคยต่อสู้กับ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ถึงขนาดที่เคยออกมาโวยวายว่า พล.อ.กิตติทัศน์ ที่ปรึกษานายกฯเข้ากำกับการพิจารณาทั้งการประชุมกมธ.ฯ ชุดใหญ่ และอนุกมธ.ฯ เพื่อควบคุมไม่ให้ปรับลดงบประมาณมากเกินไป
 

     งบกระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรเม็ดเงินสูงเป็นอันดับ 4 วงเงิน 223,463.7 ล้านบาท คิดเป็น 6.8% ของงบทั้งหมด แต่ก็ถูกหั่นงบจากปีก่อน 8,281.5 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 3.71% จึงกลายเป็นเป้าของการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯใน 30 วัน ไปโดยปริยาย
 

     งบกองทัพทั้งหมดถูกจัดให้กับกองทัพบกมากสุด 107,661.77  ล้านบาท กองทัพเรือ 48,289.13  ล้านบาท กองทัพอากาศ 40,080.66 ล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย 16,710.8 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวง 9,860.3 ล้านบาท สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 861ล้านบาท
 

     พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า งบปี 2564 ของกระทรวงกลาโหมเป็น “งบลับลวงพราง”
 

     สาเหตุเพราะลวงผู้คนว่าถูกปรับลดแต่ไม่ได้ลด ปีนี้กระทรวงกลาโหมได้งบ 223,000 ล้านบาท ดูเผินๆดูเหมือนได้รับงบลดลง 8,200 ล้านบาท แต่หากพิจารณาต่อเนื่องจาก พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 ที่กระทรวงกลาโหมได้โอนงบคืนไป 17,700 ล้านบาท ใช้เพื่อสำรองฉุกเฉินฯ ปรากฏว่า งบรายจ่ายปี 2564 กระทรวงกลาโหมกลับได้รับงบที่ถูกโอนไปคืนมา 1 หมื่นล้านบาท

     งบก้อนนี้ถูกบรรจุไว้ใน 6 โครงการซื้ออาวุธที่ถูกตัดออกไปแล้ว กลับไปอยู่ในงบรายจ่ายปี 2564 ไล่จาก งบโครงการเรือดำน้ำ งบการซื้อเครื่องบินกองทัพอากาศ
 

     พิจารณ์ระบุว่า งบกระทรวงกลาโหมเป็น “งบอำพรางงบผูกพัน” เพราะมีการก่องบผูกพันซุกซ่อนอยู่มากมาย เป็นราชาเงินผ่อน ที่กระทรวงกลาโหมจะต้องมีภาระในการจัดตั้งงบประมาณผูกพันทุกโครงการสูงถึง 173,144 ล้านบาท ถือเป็นความเสี่ยงทางการคลังที่ต้องพึงระวัง
 

     ข้อกล่าวหาของพิจารณ์ระบุลงไปถึง 22 โครงการ เป็นงบผูกพันซื้ออาวุธ เกือบ 4,400 ล้านบาท รวมถึงโครงการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน 1,000 ล้านบาทเศษ
 

     งบผูกพันของกองทัพนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่มีปัญหามานาน ในปี 2563 เฉพาะกองทัพอากาศ มีโครงการจัดหาเครื่องฝึกทดแทน 12 เครื่องวงเงิน 5,195 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2563-2566) โครงการจัดหาเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50 (ระยะที่ 4) 2 เครื่อง วงเงิน 2,450 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 2563-2565) โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินลําเลียงขั้นต้นฝูงฝึกขั้นปลาย 4 เครื่อง วงเงิน 233 ล้านบาท  ผูกพันตั้งแต่ปี 2563-2564
 

     โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ (ระยะที่ 6) เรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศรุ่น AN/TPS-78 วงเงิน 850 ล้านบาท  ผูกพันงบประมาณปี 2563-2565 โครงการจัดหาระบบสํารวจภูมิประเทศด้านความมั่นคงด้วยเครื่องบินลาดตระเวนทางอากาศ 3 เครื่อง วงเงิน 400 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี 2563-2565.
 

     แม้นายกรัฐมนตรีจะออกมาชี้แจงว่า การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นงบผูกพันข้ามปี เพราะต้องใช้เวลาในการผลิต ที่ผ่านมากองทัพไม่ได้รับการสนับสนุนให้จัดซื้ออาวุธใหม่เลย ทำให้ที่มีอยู่กว่า 70 -80% เป็นของเก่า จึงจำเป็นต้องจัดหามาทดแทน เพื่อไม่ให้สูญเสียงบประมาณในการซ่อมบำรุง ยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการป้องกันอธิปไตย ต้องมีการเตรียมพร้อมไม่ว่าจะมีเหตุเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หากอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ทันสมัย ก็จะเป็นปัญหาในอนาคต
 

     ลูกคู่ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม จะชี้แจงว่า กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบด้านความมั่นคง โดยเฉพาะภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นโครงการปี 2563 แต่ต้องชะลอไว้ เพื่อโอนงบเข้าสู่งบกลางเพื่อนำไปช่วยโควิด จึงต้องมาดำเนินการในปี 2564 แทน เพราะความมั่นคงเศรษฐกิจทางทะเล ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ในภูมิภาคนี้มีถึง 4 ประเทศอาเซียนที่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการ
 

     ดังนั้นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์มีความจำเป็น เพราะเวลาผลิตจนถึงเวลาส่งมอบใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี อุปกรณ์บางอย่างใช้เวลา 5-6 ปี เพราะต้องเรียนรู้การใช้อุปกรณ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
 

     ข้อชี้แจงของกระทรวงกลาโหมกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลไปทันที เพราะจนบัดป่านนี้ ไม่มีใครรู้ว่างบเรือดำน้ำถูกซ่อนงบไว้ที่ไหน ทำไมจึงไม่มีโครงการ
 

     ยิ่งคุณหญิงสุดารัตน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ออกมาเรื่องชำแหละงบประมาณปี 2564 ทันทีว่างบเสริมสร้างกำลังกองทัพ ทั้ง 3 เหล่าทัพ ตั้งผูกพันตั้งแต่ปี 2561-2566 จนถึงปี 2564 ยังเหลืออยู่ตั้ง 117,000 ล้านบาท แต่ยังมาตั้งงบใหม่ในปี 2564 อีกเกือบ 30,000 ล้านบาท รวมทั้งงบสร้างเสริมยุทโธปกรณ์ บวกซ่อมแซมอีกกว่า 10,000 ล้านบาท
 

     “เอาเงินกว่า 40,000 ล้านบาทนี้ ไปจ้างเกษตรกรปลูกพืชปรับปรุงดินและช่วยค่าปรับปรุงการผลิตให้ใช้สารเคมีน้อยลงเพื่อปูพื้นฐานไปสู่การผลิตอาหารปลอดภัยครัวเรือนละ 15,000 บาท จะได้ประโยชน์คุ้มค่ากว่า เพราะจะช่วยเกษตรกรได้เกือบ 3 ล้านครอบครัว ให้ผลิตอาหารปลอดสารพิษ ได้ทั้งการช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ใหม่ให้เกษตรกร..
 

     งบทหาร 2.2 แสนล้าน จึงระทึกในฤทัยมากกว่าทุกปี!