ดับบา_วัลลา : ดีลิเวอรี่ชั้นตำนาน ที่ยังทำงานในยุค AI

11 ก.ค. 2563 | 02:30 น.

130 ปีแห่งความยั่งยืน ดับบา_วัลลา : ดีลิเวอรี่ชั้นตำนาน ที่ยังทำงานในยุค AI

ศตวรรษที่ 19 บอมเบย์ เป็นศูนย์กลางการค้าที่คึกคัก อัตราการขยายตัวสูง พ่อค้าวาณิชทั้งอังกฤษและอินเดียเดินทางไกลไปยังที่ทำงานการเดินทางช้า ร้านอาหารน้อยและอยู่ห่างกัน

ในขณะที่แม่บ้านยังมีความสุขกับหน้าที่ทำอาหารให้บุตรและสามี จึงมีการจ้างแรงงานในวรรณะศูทรนำอาหารจากบ้านไปส่งให้ครอบครัวนายจ้าง ณ สถานที่ทำงาน

ดับบา_วัลลา : ดีลิเวอรี่ชั้นตำนาน ที่ยังทำงานในยุค AI

ปี 1890 “Mahadeo Havaji Bachche” นายวาณิชที่มองการณ์ไกลคนหนึ่งจ้างวัยรุ่นที่ไม่มีงานทำจากหมู่บ้านต่างๆ และเริ่มเปิดบริการส่งอาหารจากบ้านไปที่ทำงาน  จากวันนั้น ธุรกิจก็เริ่มเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านกาลเวลา 130 ปี ตราบจนถึงทุกวันนี้

จริงอยู่ ตอนนี้มีร้านอาหารมากขึ้นแล้ว ท่ามกลางการเดินทางแออัดขวักไขว่ในมหานครที่แม้เปลี่ยนนามไปเปน “มุมไบ” แต่อาหารที่ทำจากบ้านก็ยังประหยัดกว่า สะอาดกว่า ที่สำคัญ_ใครจะกล้าฝืนกระแสวัฒนธรรม? 

ในเมื่อเมือง (ใหญ่) หลวง ที่มีประชาชนอยู่กันอย่างแออัดมากกว่า 20 ล้านคนเปน melting pot ผู้คนมากมายระคนปนปะ แต่ละชนมีข้อจำกัดทางอาหารและค่านิยม “สั่งตัด” เฉพาะตัว เรื่องสุขภาพบ้าง ต้องควบคุมอาหารบ้าง บางชนก็มีข้อจำกัดทางศาสนา บางคนงดกินหอมหัวใหญ่ ส่วนบางคนไม่ชอบกระเทียม อาหารจากบ้านคือคำตอบ

สร้างตัวไปพร้อมกับความเชื่อถือ

ดับบา_วัลลา : ดีลิเวอรี่ชั้นตำนาน ที่ยังทำงานในยุค AI

 

ทุกเช้าดีลิเวอรี่แบบดับบาวัลลาจะเริ่มต้นจากการรวบรวมปิ่นโตจากบ้านลูกค้าไปยังจุดรวมพล เพื่อขนส่งไปยังสถานีรถไฟ ก่อนกระจายไปเขตต่างๆ ใช้วิธีการจำเพียงรหัส 4 ตัว ด้วยการจำแนก “ตัวอักษร ตัวเลข และสี” ได้แก่ 1) ต้นทางของปิ่นโต 2) สถานีรถไฟต้นทาง 3) สถานีรถไฟปลายทาง และ 4) สถานที่จัดส่งปิ่นโต

 

ดับบา_วัลลา : ดีลิเวอรี่ชั้นตำนาน ที่ยังทำงานในยุค AI

 

ระบบการนำส่งที่ “ทำให้ง่าย” แทบไม่เปลี่ยนไปเลยตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ขยายขอบข่ายกว้างขวางขึ้น ทุกวันนี้ 08:30 น.  ‘วัลลา’ มากกว่า 5,000 คน (ซึ่งมีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย) นำอาหารกลางวันจากบ้านผู้คนในละแวกของเขา/เธอ ไปส่งยังที่ทำงานวันละ 200,000 ราย ซึ่งมีที่ทำงานกระจายไปทั่วเขตเมือง ครอบคลุมพื้นที่รัศมี 60 กิโลเมตร 

ดับบาวัลลา บางคนใช้วิธีเดินโดยอาจจะขนปิ่นโตราวๆ 30 ถึง 40 เถาใส่รถเข็น บางคนก็ใช้จักรยานหรือรถไฟชานเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด พวกเขาจัดส่งปิ่นโตได้ถูกต้อง ส่งไปถูกที่และตรงเวลา

 

สมอง สองมือ และน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

 

ปี 1956 ดับบาวัลลา ขึ้นทะเบียนเป็นทรัสต์_วิสาหกิจเพื่อสังคม มีคณะกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่ สายส่งวัลลา ทุกคนเป็นหุ้นส่วนในองค์กร พวกเขาไม่เคย strike นัดหยุดงานประท้วงเลยตั้งแต่เริ่มให้บริการเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว

ดับบาวัลลา พกบัตรประจำตัวและระบุตัวได้ง่ายจากเสื้อสีขาวสะดุดตา กางเกงหลวมๆ และหมวกขาว ถ้าไม่ได้ใส่หมวกมาทำงานสาย/ ขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันควร หรือดื่มแอลกอฮอล์ขณะทำงาน ก็จะถูกปรับ

ดับบาวัลลา ไม่ต้องเผชิญปัญหารถติด เพราะปั่นจักรยานไปตามตรอกซอกซอยหรือแทรกเข้าไประหว่างรถยนต์ ผลก็คือ อาหารกลางวันจะไปถึงสำนักงานที่ถูกต้องก่อน 12:30 น. จากนั้น ระหว่าง 13:15 ถึง 14:00 น. หลังจากพวกดับบาวัลลา ที่ทำงานหนักกินอาหารกลางวันของตนเสร็จแล้ว จะตามไปเก็บปิ่นโตเปล่าแล้วนำกลับไปบ้านเจ้าของ เพื่อสมาชิกครอบครัวนั้นจะล้างเตรียมไว้พร้อมสำหรับวันใหม่

 

 

ดับบา_วัลลา : ดีลิเวอรี่ชั้นตำนาน ที่ยังทำงานในยุค AI

 


 

ความเรียบง่ายที่กลายเปนตำนาน

การจัดส่งปิ่นโตที่สวนกระแสยุคเทคโนโลยีอย่างสุดโต่งนี้ สะกิด “ฟอร์บส” ให้มอบรางวัล Six Sigma ให้ดับบาวัลลา ในปี 2001 โดยระบุว่านอกจากมีความผิดพลาดในการส่งปิ่นโตเพียง 1 ใน 16 ล้านครั้งแล้ว ทั้งหมดของความแม่นยำกลับไม่มีการพึ่งพาเทคโนโลยีใดๆ จนกลายเป็นกรณีศึกษาด้านจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด ในปี 2010

“ไฟแนนเชียล ไทมส์” รายงานว่า ปัจจุบันมีไม่กี่ธุรกิจที่สามารถยืนหยัดการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมได้ เพราะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ และอำนวยความสะดวกในยุคแห่งความเร่งรีบและการแข่งขันสูง

 

ดับบา_วัลลา : ดีลิเวอรี่ชั้นตำนาน ที่ยังทำงานในยุค AI

“ปาวาน อะการ์วาล” หัวหน้าองค์กร ดับบาวัลลา กล่าวว่า ปัจจุบันมุมไบเปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่นั่นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจจัดส่งปิ่นโต แถมคนหันมาใช้บริการมากขึ้น ด้วยความที่แม่นยำ ตรงต่อเวลา และค่าบริการจัดส่งเพียงเดือนละ 150-300 รูปี ทั้งนี้คนส่งปิ่นโตส่วนใหญ่ คือกลุ่มผู้ด้อยการศึกษา แต่ว่ามีความสามารถในการจดจำรหัสที่แม่นยำ

ก้าวต่อไปในพลวัตโลก : เมื่อผู้หญิง เปน working woman

แม้กระแสของฟู้ดดีลิเวอรี่กำลังเข้ามา ปัจจุบันดับบาวัลลาก็นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ทั้ง SMS เฟซบุ๊ก และเปิดเว็บ digitaldabbawala เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการ และเพิ่มการจัดส่งพิสัยไกลขึ้น ทั้งยังมีแผนจะเปิดตัวแอปพลิเคชั่นเร็วๆ นี้

“แม้เทคโนโลยีจะไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ของดับบาวัลลา แต่ในยุคที่ผู้หญิงอินเดียทำงานนอกบ้านมากขึ้น กลายเป็นความท้าทายของธุรกิจ เราจึงเสนอทางเลือกให้ลูกค้า ระหว่างฝีมือของแม่ครัวคนส่งปิ่นโต หรือร้านอาหารที่เราดีลไว้ เพียงระบุรสชาติหรือความต้องการพิเศษในราคาที่เป็นมิตร” 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 23 ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563