จดหมายถึง อาจารย์ศุภชัย พานิชภักดิ์ ว่าด้วยเรื่อง CPTPP

08 ก.ค. 2563 | 02:35 น.

 

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,590 หน้า 10 วันที่ 9 - 11 กรกฎาคม 2563

โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

กราบเรียน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ที่เคารพ

 

ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งที่มีอาจารย์ศุภชัยเป็นเสมือนบุคคลต้นแบบ (Role Model) อาจารย์คือหนึ่งในคนไทยเพียงไม่กี่คนที่ได้ไปยืนอยู่ในตำแหน่งหมายเลขหนึ่งขององค์การระหว่างประเทศที่สำคัญอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การค้า การลงทุน และการพัฒนา  

ผมชื่นชมที่อาจารย์มีความกล้าหาญและเสียสละ เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองถึง 3 ครั้งในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นในคราวรัฐบาลป๋าเปรมในปี 1986-1988 ที่ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในช่วงปลายของสงครามเย็นที่ระเบียบโลกทางการเมืองและทางเศรษฐกิจกำลังต้องการมือดีมาดำเนินนโยบายทางการคลัง หรือภายหลังวิกฤตทางการเมืองเดือนพฤษภาคม’35 ที่ไทยต้องการหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในการนำพาไทยให้ก้าวไกลในยุคโลกาภิวัตน์ และคราวสำคัญที่สุดก็คงจะเป็นการดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสมัยวิกฤต Asian Financial Crisis 1997/ 1998 ที่เราต้องการมือดีที่สุดทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูประเทศไทยจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ (หากไม่นับรวมวิกฤต COVID-19 ในรอบนี้)  

อาจารย์คือตัวอย่างของนักเศรษฐศาสตร์ที่เสียสละเพื่อประเทศเข้ามาทำงานการเมืองและนำพาประเทศผ่านวิกฤตได้หลายๆ ครั้ง ก่อนที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในฐานะ ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ในห้วงเวลาที่สหรัฐกำลังวางระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศผ่านเวทีพหุภาคี ผมยังจำภาพการแข่งขันเพื่อดำรงตำแหน่งระหว่างอาจารย์ศุภชัยที่เป็นความหวังของประเทศขนาดเล็ก ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด กับ Mike Moore ที่ดูเหมือนจะเข้ามาเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศรรํ่ารวย และบริษัทข้ามชาติ 

ผมเห็นการทำงานของหนักของอาจารย์ในช่วงหลัง Doha Development Round ในปี 2001 เพราะอาจารย์เข้าไป WTO ในปี 2002 จากนั้นอาจารย์ก็เข้าไปดำรงตำแหน่งในระดับโลกอีกครั้ง ซึ่งนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของชาวไทย โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ชาวไทย ในฐานะเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ผมเชื่อว่าอาจารย์คือบุคคลต้นแบบของนักเศรษฐศาสตร์ไทยหลายๆ คน

แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน ผมได้มีโอกาสรับชม VDO Clip ผ่านทาง Facebook ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (https://web.facebook.com/PrachachatOnline/videos/572495213659468/) ที่ขึ้นหัวข้อไว้ว่า “ทำไม! ไทยต้องร่วมขบวน CPTPP” ด้วยความเคารพอาจารย์อย่างยิ่ง ผมดู VDO clip นี้ด้วยความรู้สึกห่วงและกังวล เนื่องจากใน VDO clip เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มันคือการตัดต่อบางประโยค บางคำพูดของอาจารย์ที่น่าจะให้สัมภาษณ์แบบยาวๆ เอามาใช้งาน โดยคัดเนื้อหาสาระบางตอนมานำเสนอ  

เข้าใจในวันนั้นที่มีการสัมภาษณ์อาจารย์ อาจารย์น่าจะถูกตั้งคำถามโดยผู้สื่อข่าวในหลายๆ เรื่อง และคงจะมีการพูดคุยยาวกว่าใน VDO clip ที่ถูกตัดมา ที่ผมเชื่อเช่นนั้นเพราะในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจก็ได้มีการลงบทความที่อาจารย์ให้สัมภาษณ์ในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย (ศุภชัย : โลกเปลี่ยนขั้วมหาอำนาจ ฉีกทฤษฎี New Normal เอเชียคือตะวันใหม่ https://www.prachachat.net/politics/news-483312) นั่นทำให้ผมทราบว่าอาจารย์คงพูดคุยกับนักข่าวในหลายหลายประเด็น และเข้าใจว่านักข่าวคงจะถามอาจารย์ขึ้นมาถึงเรื่อง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) แล้วนำมาตัดบางตอนออกเป็น VDO clip ดังกล่าว

ที่ผมมีความไม่สบายใจจากการชม VDO clip ในครั้งนี้ เนื่องจาก ผมเข้าใจว่าอาจารย์อาจจะถูกตั้งคำถามแทรกเรื่อง CPTPP เข้ามา และคงจะเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากนักข่าวได้ขอเรียนสัมภาษณ์อาจารย์ไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้อาจารย์อาจจะไม่ได้มีโอกาสเตรียมข้อมูลที่ทันสมัยที่สุดเอาไว้พูดคุยกับนักข่าว  

ผมเชื่อเช่นนั้นเพราะ ใน VDO clip อาจารย์ไม่ได้ใช้คำว่า CPTPP เลย หากแต่อาจารย์ใช้คำว่า TPP (Trans-Pacific Partnership Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงฉบับเก่าที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้มากล่าวถึง รวมทั้งยังมีการข้อมูลที่ผิดพลาดอีกด้วยเช่นในเรื่อง ประเทศเกาหลี ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกทั้งใน TPP และ CPTPP

แต่เมื่อประชาชาติธุรกิจนำเอาคำสัมภาษณ์ของอาจารย์ไปตัดต่อกลายเป็น VDO clip ที่ผมกล่าวถึง กลับทำให้ บางภาคส่วน บางหน่วยงาน เอาคลิปดังกล่าว ไปใช้ในการสนับสนุน Agenda ที่พวกเขาต้องการ ในการขัดขวางการเข้าร่วมเจรจาการค้าในกรอบ CPTPP ที่ประเทศไทยกำลังพิจารณาอยู่นี้  

และเนื่องจากในขณะนี้สังคมมีความแตกแยกในระดับสูงอันเนื่องมาจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนการเจรจา CPTPP และกลุ่มที่คัดค้านไม่ต้องการให้ไทยเข้าร่วม แม้แต่จะไปเจรจา ดังนั้นการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดโดยบางภาคส่วนอาจจะส่งผลเสียต่อตัวอาจารย์ศุภชัยที่เป็นบุคคลที่ผมเคารพนับถือ ผมจึงเขียนจดหมายมาถึงอาจารย์ครับ

และเนื่องจากผมมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่อง CPTPP ว่าประเทศไทยควรจะต้องนำเอาข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และทันสมัยของทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่คัดค้านการเข้าร่วมเจรจา CPTPP มานำเสนอ มาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้ทั้งฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายคัดค้าน และฝ่ายราชการที่มีหน้าที่ต้องไปเจรจาสามารถทำงานร่วมกันจนประเทศไทยมียุทธศาสตร์การเจรจาที่ดีที่สุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ  

 

 

ผมจึงกราบขออนุญาตชี้แจง นำเสนอข้อมูลของ CPTPP ตามความเข้าใจของตัวผมที่ได้ติดตามเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้วดังนี้ครับ (ผมจะข้อชี้แจงตามเนื้อหาที่อยู่ในประชาชาติธุรกิจที่เขาสรุปมาเป็น “คำถาม 5 ข้อ ทำไม! ไทยต้องร่วมขบวน CPTPP)” 

1. ไทยคิดดีแล้วหรือ? ที่แสดงความกระตือรือร้นจะเข้าร่วม CPTPP (ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) เพื่อร่วมขบวนบล็อกการเจริญเติบโตด้านการค้าของ “จีน” ตามแนวทางที่ “สหรัฐอเมริกา” ปูเอาไว้

คำชี้แจง: ประเด็นนี้อาจารย์กล่าวถูกต้องเลยครับ เพราะอาจารย์กล่าวว่า TPP คือข้อตกลงที่สหรัฐกำหนดเพื่อบล็อกการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน แต่ในหนังสือพิมพ์และในสื่อของหลายภาคส่วนกลับเอาไปลงและเผยแพร่เป็น CPTPP ทั้งที่สหรัฐถอนตัวออกจาก TPP ไปแล้วในปี 2017 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศจากประธานาธิบดี Obama สู่ประธานาธิบดี Trump 

ดังนั้น สหรัฐจึงไม่ได้มีส่วนในการกำหนดข้อตกลง CPTPP แต่อย่างใด เพราะสหรัฐไม่ร่วมเจรจาแล้ว และการเจรจาของ TPP ที่ชะงักงันมาตลอด 10 ปีตั้งแต่ 2007-2017 ก็เพราะข้อเสนอของสหรัฐนั่นเองที่ต้องการพิทักษ์ผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติสหรัฐ และต้องการบังคับใช้ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบที่มากเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน WTO (TRIPS+) หรือที่อาจารย์เรียกว่า WTO+++

เมื่อสหรัฐถอนตัวสมาชิก TPP ที่เหลืออีก 11 ประเทศ จึงตกลงกันว่าจะเดินหน้าต่อ โดยยกเอาข้อเสนอการเจรจาของสหรัฐ โดยเฉพาะในประเด็น TRIPS+ ทิ้งไปทั้งหมด และไม่น่าเชื่อ จากวันประกาศเดินหน้าต่อในช่วงปลายปี 2017 พอถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2018 สมาชิกทั้ง 11 ประเทศก็สามารถสรุปข้อตกลงได้ และนำไปสู่การลงนาม และการมีผลบังคับใช้ภายในปี 2018 และข้อตกลงใหม่นี้เป็นข้อตกลงที่แตกต่างจาก TPP เดิม สมาชิกทั้ง 11 ประเทศจึงเรียกข้อตกลงนี้ว่า CPTPP ซึ่งมาจากคำว่า Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership ดังนั้น CPTPP จึงไม่ใช่วาระของสหรัฐปูอาไว้อีกต่อไปครับ

2. ไทยจำเป็นต้องทำตามวาระของสหรัฐฯ หรือไม่? ทั้งที่เรามีวาระกลาง ที่ทำโดยอาเซียน 10 ประเทศอยู่แล้วเหตุใดไทยจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สหรัฐฯ และพรรคพวก วางไว้ เช่น การลงทุน รัฐวิสาหกิจ กระบวนการระงับข้อพิพาท ข้อตกลงด้านการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ

คำชี้แจง: ไทยไม่ได้ละเลยอาเซียน และในทางตรงกันข้ามไทยนั่นล่ะคือผู้ผลักดันจนหลายๆ วาระของอาเซียนเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะวาระที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศสมัยใหม่ที่มีลักษณะครอบคลุมในหลากหลายมิติ ไทยคือผู้นำสำคัญที่ทำให้ในปีที่แล้ว ณ กรุงเทพมหานคร อาเซียนและคู่เจรจาอีก 5 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ สามารถสรุปข้อตกลง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ได้ทั้ง 20 ข้อบท 

และใน 20 ข้อบทนั้นก็มีทั้งเรื่อง การลงทุนในข้อบทที่ 10 ของ RCEP, ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจในมิติการแข่งขันและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในข้อบทที่ 13 และ 16 ของ RCEP, การระงับข้อพิพาท ใน ข้อบทที่ 19 ของ RCEP และประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาในข้อบทที่ 11 ของ RCEP จะเห็นได้ว่า ไทยเราผลักดันอาเซียน และ อาเซียน +6 อยู่แล้ว ไม่ได้ละเลย และเรากำลังพิจารณา CPTPP ว่าการเข้าไปร่วมเจรจาจะเป็นโอกาสในการเสริมสร้างศักยภาพทางการค้าระหว่างประเทศหรือไม่

3. ไทยคิดดีแล้วหรือ? ที่จะไปร่วมในองค์กร ซึ่งมีกฎระเบียบมากมาย เพิ่มเติมจาก WTO (องค์การการค้าโลก) ทำไมไทยต้องยอมให้ประเทศยักษ์ใหญ่ 2-3 ประเทศ มาบังคับ? ทั้งที่เรามีพรรคพวกตั้ง 160 ประเทศ ใน WTO

คำชี้แจง: ใน VDO clip อาจารย์ก็กล่าวไว้เองว่า WTO ในขณะนี้ก็ค่อนข้างจะแผ่วลง ไม่ค่อยมีความคืบหน้า ในขณะเดียวกันหลายๆ ประเทศเองโดยเฉพาะมหาอำนาจก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยให้ความเคารพกฎกติกาทางการค้าของ WTO ซักเท่าไร สังเกตได้จากการทำสงครามการค้าของสหรัฐที่ละเมิดกฎเกณฑ์เกือบทั้งหมดของ WTO 

ในขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ใช่เพียง 2-3 ประเทศก็กำลังเจรจาการค้าเพื่อกำหนดกฎกติการในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีมาตรฐานสูงและครอบคลุมในหลากหลายมิติ ผมขออนุญาตทำตารางสรุปมาให้อาจารย์พิจารณาครับว่า การเจรจาการค้าในรุ่นหลังๆ เขาคุยเรื่องอะไรกันบ้าง ทั่วโลกกำลังเดินไปในทิศทางนี้ครับ และ RCEP และ CPTPP ก็ดูจะเป็นเวทีที่ดีที่จะเริ่มต้นเข้าสู่และจัดตั้งบังคับใช้มาตรฐานเหล่านี้ เพราะหลายๆ เรื่องที่อาจารย์กังวลที่อาจารย์เรียก ว่า WTO+++ ไม่ได้อยู่ในทั้ง 2 กรอบนี้ครับ

 

 

 

4. ทุกประเทศรวมถึงจีน เกรงใจ “อาเซียน” เหตุใดจึงต้องยอมให้ CPTPP เข้ามาวางกฎเกณฑ์และปกครองอาเซียน ทำไมจึงยอมให้อาเซียน 10 ประเทศ ถูกแบ่งเป็นฝ่ายเอา CPTPP กับฝ่ายถูกทิ้งให้อยู่นอก CPTPP “ทำไมเราไม่เข้าไปพร้อมกันทั้ง 10 ประเทศ?” 

คำชี้แจง: ปกติแล้วถ้าเราจะเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์กับทั้งกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เราจะทำในรูปแบบที่เรียกว่า ASEAN+ ซึ่งจะทำร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partners) เท่านั้น ซึ่งเราก็ทำครับ เราถึงกำลังจะลงนาม RCEP ในปีนี้ครับ ส่วนในระดับแต่ละประเทศสมาชิก อาเซียนไม่ได้เป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) ที่ต้องใช้นโยบายกับประเทศนอกกลุ่มร่วมกัน (Common External Policy) ดังนั้นอาเซียนจึงให้อิสระเต็มที่ครับ ที่ประเทศสมาชิกจะไปเจรจาการค้ากับใครก็ได้ และเราจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้านครับ  

 

จดหมายถึง อาจารย์ศุภชัย พานิชภักดิ์  ว่าด้วยเรื่อง CPTPP

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์

 

นั่นจึงทำให้เราเห็น 4 ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม CPTPP และเชื่อว่า ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย เองก็กำลังสนใจ CPTPP ครับ ถ้ารวมไทยด้วยก็จะกลายเป็น 7 ประเทศจาก 10 ประเทศอาเซียนแล้วครับ ที่กำลังสนใจ CPTPP จะเห็นได้ว่า การยอมรับและไม่บังคับของอาเซียนนี่ล่ะครับที่ทำให้เรา 10 ประเทศยังอยู่ด้วยกันและกลายเป็นการบูรณาการภูมิภาคที่ก้าวหน้ามากที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ 

ดังนั้น CPTPP จึงเป็นเสมือนส่วนเสริมที่จะทำให้แต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าไปร่วมเจรจาสามารถไปแสวงหาโอกาสภายนอก นอกเหนือจากที่ได้รับในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และ RCEP หรือ ASEAN+6 ได้ 

ตรงนี้ผมถึงมีความกังวลเพราะเราเห็นกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้าน CPTPP เริ่มเอาคำพูดเพียงบางส่วนของอาจารย์ที่บอกว่า TPP จะแบ่งแยกและปกครองอาเซียนไปเผยแพร่ในลักษณะ Infographic สั้นๆ แต่อาจจะไม่สามารถสื่อความได้ทั้งหมด เพราะ CPTPP ก็ไม่ใช่ TPP และอาเซียนเองก็มีอิสระครับ คงไม่ได้ถูก Divide and Rule ได้ง่ายๆ

5. ทำไมต้องรวมกลุ่มกันเพื่อการค้าเพียงอย่างเดียว? ทั้งที่ควรพัฒนาเรื่องทรัพยากร การลงทุน คมนาคม ฯลฯ ให้ครอบคลุมทุกมิติ

คำชี้แจง: ข้อนี้ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เป็นอย่างยิ่งครับ และกรอบที่เราเป็นผู้นำมาโดยตลอดนั่นคือ ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ก็พูดคุยและสร้างความร่วมมือกันในมิติเหล่านี้ครับ ไม่ว่าจะเป็น ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน, ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน และไทยยังมีบทบาทนำอย่างยิ่งในการเสนอแผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียน 

สำหรับในส่วนของ CPTPP ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือทางการค้าสมัยใหม่ก็มีการกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ นอกจากการค้าเช่นกันครับ เราจะเห็นได้ว่า CPTPP ที่มี 30 ข้อบท มีข้อบทที่ 1-8 ครับที่เป็นเรื่องของการเปิดตลาดและการค้าสินค้า ข้อบทที่ 9 เรื่องการลงทุน ข้อบทที่ 10-14 เป็นเรื่องการเปิดตลาดการค้าบริการ  

ส่วนข้อบทที่ 15-29 นั่นแหล่ะครับที่เป็นเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากการค้า เช่น เรื่องการสนับสนุนการแข่งขันลดการผูกขาด การพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ การต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น การคุ้มครองและให้สิทธิเพิ่มขึ้นกับแรงงาน การพัฒนามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือเพื่อเสริมศักยภาพให้กับ SMEs ความร่วมมือด้านการพัฒนาในมิติ ต่างๆ ดังนี้อาจารย์ศุภชัยได้เสนอและตั้งคำถามไว้เลยครับ

อีกเรื่องที่อาจารย์ตั้งเป็นคำถามแต่ไม่ได้ถูกนำไปขยายต่อ แต่ผมอยากจะขออธิบายเพิ่มเติมคือ คิดดีแล้วหรือ ที่เราจะไปร่วมวางกฎกติกาที่บล็อกจีน แล้วจีนจะคิดกับเราอย่างไร?  แน่นอนครับว่าจีนคือมหาอำนาจใกล้บ้าน เอาใจจีนเกินไปก็ทำให้เสียดุลยภาพในเวทีโลก ห่างไกลจีนเกินไปก็เสียโอกาสในหลายๆ มิติ 

แต่ผมเชื่อว่าสำหรับจีน ยิ่งถ้าเขาถูกกีดกันด้วย TPP ซึ่งเป็นจริงตามที่อาจารย์ว่า ผมกลับมองว่า จีนน่าจะต้องยิ่งค้าขาย และลงทุนกับประเทศที่อยู่ใน TPP มากยิ่งขึ้นครับ เช่น ในกรณีนี้คือ เวียดนาม ที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดกับจีนเมื่อเทียบกับ 10 ประเทศอาเซียน และเป็นประเทศที่จีนมาลงทุนมากที่สุดใน 10 ประเทศอาเซียน ที่เขาต้องการเข้ามาลงทุนเพราะเขารู้ตัวว่าถูกกีดกันจากกรอบการค้าเสรีหลายกรอบ  

ดังนั้นก็ต้องมาทำการค้า ทำการลงทุนในประเทศอื่นๆ ที่เป็นภาคี TPP ไงครับ เพื่อจะได้ใช้ประเทศนั้นๆ เป็นสปริงบอร์ดในการส่งสินค้าไปขายในประเทศในกลุ่มที่เขาถูกบล็อก และนั่นทำให้วันนี้ใครๆ ก็อยากไปลงทุนในเวียดนามเพราะเขามี FTA กับอีกมากกว่า 50 ประเทศ แต่นั่นก็หมายถึง TPP ครับที่อาจารย์บอกว่าสร้างมาบล็อกจีน เพราะเมื่อสหรัฐออกไป กลายเป็น CPTPP ซึ่งไม่ได้ต้องการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนอีกต่อไป 

ล่าสุด เมื่อนักข่าวนิเคอิไปสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง ว่าจีนรู้มอง TPP อย่างไรนายกฯ หลี่ ตอบกลับมาครับว่า คุณคงหมายถึง CPTPP ใช่หรือไม่ คงไม่ใช่ TPP หรอก (ผมคิดว่าเขาทราบครับว่า CPTPP ไม่ใช่ TPP แล้ว) แล้วนายกฯ จีนก็บอกว่าท่าทีของจีนคือ open and positive กับ CPTPP ครับ และการที่นายกฯจีนจะออกมาพูด แบบนี้ได้ ก็แปลว่าทางการจีนเองก็มีการศึกษาเรื่องนี้แล้วเช่นกัน

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่ผมคิดว่าอาจจะมีการหลุดคำพูดออกไป และน่าจะเป็นความผิดของสื่อที่จริงๆ ไม่ควรจะเอาคำเหล่านี่มาตัดต่อออกเผยแพร่ คือ เรื่องการขายตัวในราคาถูก ผมคิดว่าเราไม่ได้ขายตัวหรอกครับ เพราะถ้าเจรจาแล้วเรารับเงื่อนไขต่างๆ ไม่ได้ เราไม่มีความพร้อม หรือต่างฝ่ายต่างไม่สามารถตกลงกันได้ การบอกเลิกการเจรจาก็ยังทำได้ครับ

สุดท้ายนี้ต้องกราบขออภัยอาจารย์ด้วยครับ ที่ผมไม่มีโอกาสและไม่มีช่องทางในการเข้าไปเรียนอาจารย์เรื่องข้อมูลเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง แต่ผม เชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คนด้วย เพราะนาทีนี้ประเทศไทยต้องการโอกาสครับ ไม่เจรจา CPTPP ก็มีต้นทุน เข้าเจรจา CPTPP ก็มีต้นทุน และเข้าเจรจาช้าก็มีต้นทุน  

อาจารย์คงจำตอนที่จีนจะขอเข้า WTO ได้ ว่าคนมาทีหลังต้องเจรจาและเสียค่าผ่านประตูสูงแค่ไหน ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย และเป็นจริง เพื่อให้เราสามารถกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาได้อย่างดีที่สุด สามารถหามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้มากที่สุด และรักษาผลประโยชน์ของชาติให้มากที่สุด

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ปิติ ศรีแสงนาม 

 

จดหมายถึง อาจารย์ศุภชัย พานิชภักดิ์  ว่าด้วยเรื่อง CPTPP