ความท้าทายงบประมาณ กับข้อจำกัดด้านการคลัง

06 ก.ค. 2563 | 04:00 น.

บทบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3589 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 5-8 ก.ค.63

ความท้าทายงบประมาณ

กับข้อจำกัดด้านการคลัง

 

     ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรอบวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้พลิกฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ควบคู่กับการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน

     มีการตั้งข้อสังเกตว่าประมาณการภาวะเศรษฐกิจที่รัฐบาลนำมาประกอบการจัดทำงบประมาณปี 2564 นั้นยังไม่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่า จะติดลบ 5-6% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไท (ธปท.) ประเมินว่าจะติดลบสูงถึง 8.3% ส่วนในปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวในช่วง 4.0-5.0% จากฐานการขยายตัวที่ต่ำในปี 2563 และแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่อนคลายลง รวมถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศตามการเริ่มฟื้นตัวของฐานรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว การผลิต ภาคเกษตร และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ

     รัฐบาลยอมรับว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีความยืดเยื้อและมาตรการควบคุมของประเทศต่างๆ ขยายระยะเวลาออกไป หรือปัญหาในภาคการผลิตลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังในต่างประเทศ รวมทั้งในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรณีที่การระบาดของโควิด-19 สามารถยุติลงได้อย่างสิ้นเชิงภายในไตรมาสแรกของปี 2564

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้มาตรการด้านการกู้เงินมาใช้ในการแก้ไขปัญหา 1 ล้านล้านบาท และการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติโควิด-19 ยังมีความจำเป็นในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า แต่หากมองไปในระยะยาวจะทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการดำเนินโยบายการคลังมากขึ้น จากภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ซึ่งมีการประเมินว่า ณ สิ้นปี 2563 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 7.73 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของจีดีพี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.54 ล้านล้านบาท ในปี 2564 หรือ 51.7% ของจีดีพี  และปี 2565 จะอยู่ที่ 9.29 ล้านล้านบาท หรือ 54% ของจีดีพี

     ดังนั้นการใช้จ่ายงบประมาณจากนี้ไป จะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความแข็งแกร่งและภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างแท้จริง