เศรษฐกิจไทยดำดิ่งหนัก “คนชั้นกลาง” จนลงทั้งเมือง

04 ก.ค. 2563 | 01:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3589 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 5-8 ก.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

เศรษฐกิจไทยดำดิ่งหนัก

คนชั้นกลาง”จนลงทั้งเมือง

 

     สถานการณ์ประเทศขณะนี้ ไปไหน มาไหน ใครก็พูดกันเรื่องเศรษฐกิจโดยรวมของไทยว่าจะอยู่จะไป ติดลบเท่าใด คนจน คนไม่มีเงินจะเต็มบ้านเต็มเมือง

     แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลจะยังไม่บอกความจริงกับประชาชน ถึงความจริงประเทศไทยให้เห็นกันแบบตาแจ้ง

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง ปีนี้เศรษฐกิจไทย คาดว่าจะปรับตัวลดลง 5-6% แต่ในปี 2564 น่าจะขยายตัวในระดับ 4-5% โดยจะได้รับแรงสนับสนุนจากฐานการขยายตัวที่ต่ำกว่าปกติในปี 2563 และการปรับตัวที่ดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง อุปสงค์ภายในประเทศ รายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว การผลิตภาคการเกษตร แรงขับเคลื่อนภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท งบลงทุน 6.74 แสนล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และการเบิกจ่ายภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน จะทำให้การฟื้นตัวดีขึ้นมาก

     ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมายืนยันว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2563 จะขยายต่ำที่สุดในปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวติดลบ 2 หลัก หรือมากกว่า -10% แต่ไม่เกิน -20% ไตรมาส 3 จะฟื้นตัวดีขึ้นโดยจะเป็นการขยายตัวติดลบลดลง และคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจจะหดตัวแค่ -8.1%

     “ทุกประเทศมองตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วง ไตรมาส 2 หลังจากนั้นจะเริ่มฟื้นตัว ถ้าไม่มีเหตุการร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น การระบาดรอบ 2 ทำให้ต้องปิดประเทศอีกครั้ง เมื่อผนวกกับ การใช้งบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท เงินเยีวยา 6 แสนล้านบาท จะทำให้เกิดแรงฉุดเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้น ขอให้ใช้ให้ตรงจุดในการจ้างงาน เสริมอาชีพเท่านั้น”

     จะเห็นได้ว่า ทุกฝ่ายกำลังฉายภาพของการสร้างความหวังว่าดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงดีขึ้นหรือไม่....

     ผมพามาดูชุดข้อมูลหนึ่งที่น่าจะตอบโจทย์ได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน จะดำดิ่งอีกยาวไกลแค่ไหน ชะตาชีวิตคนไทยจะเป็นอย่างไร!

     1.ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คาดว่า จีดีพีโลกจะติดลบ 13% และจะเติบโตขึ้น 14% ในปี 2021 ส่วนจีดีพีของสหราชอาณาจักรปีนี้จะร่วงลงมาติดลบ 14% โดยในไตรมาส 2 จะร่วงลงอย่างหนักติดลบ 25%  ทำให้ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะหดตัว 30% หากติดลบขนาดนี้จะรุนแรงที่สุดในรอบ 314 ปี นับจากปี 1706 ที่เศรษฐกิจติดลบ 15% จากสงครามราชินีแมรี่แอนน์

     ธนาคารกลางอังกฤษบอกว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ยอดขายของบริษัทต่างๆ จะหดตัวลง 45% การลงทุนจะหดตัวลง 50% คนตกงานจะเพิ่มขึ้นอีก 9% หรือตกงานเพิ่มอีกกว่า1.5 ล้านคน

     อังกฤษเป็นคู่ค้าของไทยอันดับที่ 19 มูลค่าการค้ากับไทย มีขนาดเศรษฐกิจ 2.74 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 6 ของโลก

     2. “ดอยช์แบงก์” คาดการณ์ว่า จีดีพีของสหรัฐ ในไตรมาส 2/2020 อาจดิ่งลงถึง 40% และจะดีดตัวขึ้นในไตรมาสที่ 3 ราว 15% และในไตรมาสที่ 4 ราว 6.5% ซึ่งจะทำให้จีดีพีของสหรัฐตลอดทั้งปีหดตัวลงประมาณ 8-8.5%

     3.กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวกว่า 1% ในปีนี้ แม้ว่าช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ที่ผ่านมาจีดีพีของจีน หดตัวลงมาถึง 6.8% ถือเป็นการหดตัวครั้งแรก นับตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูลเมื่อปี 2535 ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวเกือบ 6% ขณะที่จีดีพีเฉลี่ยทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะหดตัว 3%

     ถ้าโลกพัง ไทยจะเหลืออะไร ในเมื่อไทยพึ่งพาการส่งออกราว 60% ของจีดีพีประเทศ แถมไทยยังพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงติดอันดับโลกราว 15% ถ้าเงินของโลกไม่มี การค้าขายของโลกชะงักงัน ไทยก็คงหนักไม่แพ้กัน

     หากยังไม่เห็นภาพอันตรายของเศรษฐกิจไทย มาดูรายงานธนาคารโลกเรื่อง Thailand in the Time of COVID-19 รายงานชิ้นนี้เป็นการโฟกัสลงไปในความเปราะบางของประเทศไทย โดยเฉพาะคนจนและคนชั้นกลางว่า การระบาดของโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในไตรมาสที่สองของปี 2563 โดยมีคนตกงานกระจายไปทั่ว และกระทบต่อครัวเรือนชนชั้นกลาง และครัวเรือนที่ยากจน

     แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 แต่ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจนั้นรุนแรง เพราะความเปิดกว้างทางการค้าของไทย และความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไทยจะหดตัว 5% ถือเป็นการจะหดตัวมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เป็นผลมาจากการชะลอตัวอย่างรุนแรงของการส่งออก รายรับจากการท่องเที่ยวและการค้าในตลาดโลกที่อ่อนแอลง

     “พลังของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับนโยบายในการรับมือวิกฤติที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบางในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ความท้าทายที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้ที่ตกงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง”

     เพราะการระบาดของโควิดครั้งนี้ ทำให้คนไทยตกงานกว่า 8.3 ล้านคน โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและบริการ

     แทบทุกครัวเรือนในไทยนั้นมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คน เป็นแรงงานในภาคบริการและการผลิตซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด มีสัดส่วนราว 33.5% ของครัวเรือนทั้งหมด

     แม้มาตรการเพื่อรับมือโควิด-19 ของไทยมีมูลค่ารวมกันทั้งถึง 12.9% ของจีดีพี โดยให้ความสำคัญกับการช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบาง ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน ทั้งในเชิงของขนาด ความคุ้มครอง และความหลากหลายของเครื่องมือที่ใช้

     แต่ยังมีบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบกว่าครึ่งของแรงงานรวม โดยที่แรงงานนอกระบบในภาคเกษตรที่มีสูงถึง 92% ในภาคการค้าสูงราว 60% เพราะถึงตอนนี้แรงงานนอกระบบในทุกภาคเศรษฐกิจของไทย ได้รับค่าจ้างต่อเดือนต่ำกว่าแรงงานในระบบ

     นอกจากนี้ หากพิจารณาลงลึกไปจะพบว่า ผลกระทบคราวนี้ลงรากไปถึงครัวเรือนที่เป็นชนชั้นกลางรายได้สูง (upper-middle) ล้วนได้รับผลกระทบมีจำนวนมากขึ้น จึงประเมินว่ามีการว่างงานเพิ่มขึ้น และรายได้จากการทำงานลดลง ดังนั้นกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนและครัวเรือนที่เป็นชนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ

     ธนาคารโลกระบุว่า ถึงตอนนี้จำนวนผู้ที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือผู้ที่มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์สหรัฐ ของไทยมีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.7 ล้านคน ในไตรมาสแรก มาเป็น 9.7 ล้านคน ในไตรมาส 2 ของปี

     ขณะที่สัดส่วนครัวเรือนชั้นกลางที่มีสมาชิกเป็นแรงงานในภาคธุรกิจบริการและการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากถึง 40% ก่อนลดลงเหลือ 24%

     แต่ที่น่าจับตามากที่สุดคือ สัดส่วนของคนที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในกลุ่มครัวเรือนชนชั้นกลาง ในภาคการผลิตและภาคบริการของไทย มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าตัวจากประมาณ 6% เป็น 20% น่ากลัวมั่ยครับ!

     ข้อมูลของธนาคารโลกที่ชี้ปมลงไปถึงปัญหาประเทศไทยมิได้มาลอยๆ แต่มาจากมาตรการจ่ายเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาทของรัฐบาล ที่พบว่าครัวเรือนไทยราว 13% ไม่มีรายได้จากการทำงาน และตอนนี้ทุกคนเลี้ยงชีพจากเงินโอน

     ร้ายกว่านั้นในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา รายได้ของเงินโอน 5,000 บาท คิดเป็น 61% ของรายได้ทางการเงินของครัวเรือนไทยทั้งหมด

     นี่ยังไม่รวมไปถึง กลุ่มผู้ประกอบการที่เปราะบาง ในภาคการผลิต เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมาก มีการจ้างงานมหาศาล กลุ่มนี้ยังคงอยู่ในภาวะที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด...

     สถานการณ์และโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เป็นแบบนี้ บอกเราว่า คนไทยอาการหนักกว่าที่รัฐบาลคิดครับ!