โรงไฟฟ้าชุมชน 7 หมื่นล้าน เค้กก้อนโตที่ต้องแย่งชิง

03 ก.ค. 2563 | 12:45 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3589 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 5-8 ก.ค.63 โดย... กระบี่เดียวดาย

โรงไฟฟ้าชุมชน

7หมื่นล้าน

เค้กก้อนโตที่ต้องแย่งชิง

 

 

     ไม่มีอะไรผิดพลาดมากจนเกินไป หรือมีความพยายามลากถ่วงเชื่อมโยงทางการเมือง แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับปรับปรุงใหม่คงจะเข้าพิจารณาในครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ หลังจากสภาพัฒน์ได้วิเคราะห์แผนสุดท้ายและรอความเห็นสุดท้ายจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเพิ่งส่งถึงมือกระทรวงพลังงาน

     หมายถึงว่าถ้าครม.เห็นชอบแผนฉบับใหม่ การสตาร์ตลงทุนด้านพลังงานให้สอดคล้องกับแผนก็จะเกิดขึ้นตามมาในทันที โดยเฉพาะโครงการพลังงานชุมชุนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

     ทั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน หมายมั่นปั้นมือที่จะเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้นและมุ่งตรงไปที่ฐานราก เพื่อกระจายเม็ดเงินลงไปสู่ฐานราก ประคองเศรษฐกิจรากหญ้าไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่านี้

     โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกฯเป็นประธานเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562

     หลักการใหญ่ของโรงไฟฟ้าชุมชน จะเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้าอย่างยั่งยืน มีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า และลดภาระค่าใช้จ่าย มีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน รวมทั้งช่วยลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยกำหนดให้พื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศ และพื้นที่ที่อยู่ปลายของสายส่งไฟฟ้า หรือพื้นที่ชายขอบ พื้นที่เกาะ เป็นต้น เป็นพื้นที่เป้าหมายดำเนินงาน

     การรับซื้อไฟฟ้าช่วงปี 2563-2567 รวม 1,933 เมกกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid ที่ผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 40% ของปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวมทั้งหมดของโรงไฟฟ้า ชีวมวล และ/หรือ ก๊าซชีวภาพ ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน)

     ตามแผนปี 2563-2564 จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ (MW) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) 1.โครงการ Quick win ปริมาณรับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563-64 เพื่อเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ เข้ามาร่วมโครงการ และเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือพีพีเอมาก่อน

     2. โครงการทั่วไป รับซื้อไฟฟ้าในปริมาณ 600 เมกะวัตต์ เปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป

     รูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณ 60 - 90% และ 2. กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณ 10-40% (หุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า 10%) และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีก รวมแล้วไม่เกิน 40%

     รวมทั้งต้องมีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ให้กับกองทุนที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้นๆ โดยโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) จะมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย

     “คะเนกันว่าเงินลงทุนที่จะใช้ต่อเมกะวัตต์ 100-120 ล้าน นั่นหมายความว่าจะมีเม็ดเงินเงินลงทุน 7-8.4 หมื่นล้านลงไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจฐานรากในระยะ 1-2 ปีนี้ ที่สำคัญโครงการยังต้องใช้พืชพลังงาน เศษวัสดุทางเกษตรในท้องถิ่นป้อนให้กับโรงไฟฟ้า ก็จะทำให้เกษตรกรขายผลผลิตในราคาที่มีเสถียรภาพ มีรายได้หล่อเลี้ยงชัดเจนและมีงานทำ”

     ชุมชนท้องถิ่นเริ่มจับมือทำประชาคมรวมทั้งมองหาผู้ร่วมทุนกันแล้ว เพราะเล็งเห็นว่าจะเป็นทางรอดของพวกเขาทั้งการผลิต มีงานมีรายได้

     ขณะนี้เหลือเพียงขั้นตอนเดียวที่เป็นที่น่ากังวล คือการเตะถ่วงของนักการเมือง ผู้จ้องเข้าครอบครองกระทรวงพลังงาน เพื่อหวังเข้าสู่เก้าอี้ มีส่วนตัดเค้กโครงการนี้

     แว่วว่าทีมนี้เริ่มเดินสายประกบธุรกิจพลังงานและลงพื้นที่ตั้งโต๊ะทำสัญญาล่วงหน้ากันแล้ว

     นี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่เร้าให้ลุงตู่ปรับครม.

     เป็นปัจจัยทิ่มตรงไปเก้าอี้รมต. ก็เค้กที่รออยู่ข้างหน้ามันหอมหวลยวนใจ กระไรปานนั้น...

​​​​​​​