วิถีใหม่ไทยแลนด์ (1)

05 ก.ค. 2563 | 03:05 น.

 

คอลัมน์ เศรษฐทัศน์  โดย  รศ.(พิเศษ) ดร.กฤษฏา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ไหนๆ หลังวิกฤติ Covid- 19 ประเทศไทยของเรา ก็จะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ และต้องเป็นการฟื้นฟูในลักษณะ New Normal ด้วย เราจึงจำเป็นต้องค้นหา “วิถีใหม่ไทยแลนด์” เพื่อให้การฟื้นฟูในครั้งนี้ นำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยให้เกิดความเข้มแข็งและมั่งคั่งอย่างยั่งยืน 

ที่ผ่านมาเราเผชิญกับการยิ่งพัฒนา ยิ่งเกิดความเหลื่อมลํ้า ยิ่งเกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม คนไทยทั้งปวงเริ่มตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จึงควรร่วมด้วยช่วยกันคิด “วิถีใหม่ไทยแลนด์” ด้วยกัน และพร้อมใจนำแนวคิด รวมทั้งวิธีการต่างๆ ลงไปปฏิบัติ เพื่อให้ประเทศไทยเราดีขึ้น

เรื่องนี้ค่อนข้างใหญ่และกว้างน่าจะพูดกันได้หลายตอน ผมลองเริ่มไปค้นมาจากจุดที่ว่า ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก และโลกนี้เขามีเรื่องอะไรกันบ้าง ก็ไปพบเรื่อง “List of global issues” ใน Wikipedia (en.m. wikipedia.org) ซึ่งระบุเรื่องความเสี่ยงด้านความหายนะของโลก (Global catastrophic risks) ไว้หลายเรื่อง 

วันนี้จะขอพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญกระทบไปทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทยเอง ก็ควรจะได้รับทราบสาเหตุและผลกระทบ รวมทั้งสิ่งที่ควรจะทำเพื่อแก้ไขและลดผลกระทบดังกล่าวในอนาคต

 

1) สภาพปัญหา

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่จริงเป็นเรื่องเดียวกัน คือ สภาพที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นโดยตลอด ซึ่งไปกระทบต่อระบบภูมิอากาศของโลก (The Earth’s Climate System) The Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) 

สรุปว่ามนุษย์เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเห็นความชัดเจนมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา) เนื่องจากเป็นผู้ปล่อย Greenhouse gases ซึ่ง 90% เป็น Carbondioxide และ Methane โดยหลักๆ มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากอุตสาหกรรม จากการขนส่ง และการทำลายป่าเพื่อทำการเกษตร เป็นต้น 

มีการคำนวณพบว่า ในช่วง 1 ทศวรรษ นับจาก ค.ศ. 2009-2018 ระดับอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 0.93 องศา เซลเซียส ซึ่งสูงกว่าช่วง ค.ศ. 1850 -1900 (Pre- industrial baseline) 

และยังพบว่าในปัจจุบันระดับอุณหภูมิผิวพื้น (Surface Temperature) กำลังเพิ่มขึ้น 0.2 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ และยังพบอีกว่าตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมาจำนวนวันและคืนที่มีอากาศเย็นมีจำนวนลดลง ขณะที่จำนวนวันและคืนที่มีอากาศร้อนมีเพิ่มขึ้น

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาจากปัจจัยเชิงกายภาพ (Physical Drivers) 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้

 

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases หรือ GHG)

GHG เป็นตัวกักไม่ให้ความร้อนจากโลกระบายกลับสู่อวกาศ แต่ยังคงสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลก โดยในธรรมชาติการระเหยของนํ้าจากอากาศที่ร้อน รวมทั้งการสะสมความร้อนจากไอนํ้าในก้อนเมฆ ถือว่าเป็นตัวช่วยลดปัญหา GHG แต่ถ้าความร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ การช่วยเหลือจากธรรมชาติก็คงไม่พอ การกระทำของมนุษย์ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมีแต่ช่วยทำให้ GHG เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ  

ในปี 2018 มีการคาดการณ์ว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และ Methane (ก๊าซมีเทน) เพิ่มขึ้น 45% และ 160% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงปี ค.ศ. 1850 - 1900 โดยปริมาณ CO2 มีขนาดประมาณ 52-พันล้านตัน ซึ่งในนี้ 72% มาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ในกิจกรรมต่างๆ

การเปลี่ยนแปลงบนผิวโลก (Land Surface Change)

การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรของมนุษย์เป็นส่วนสำคัญทำให้ผิวโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันคาดการณ์ว่าพื้นที่เกษตรของโลกมีอยู่ถึง 50% ของพื้นผิว และเหลือพื้นที่ป่าเพียง 37% และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงพื้นผิวโลกที่มีพื้นที่โล่งแจ้งมากขึ้น ขาดพื้นที่สีเขียวของป่าคอยดูดซับ GHG ทำให้ความร้อนระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น นอกจากนี้การทำลายป่า หรือเกิดไฟป่าทำให้เกิดฝุ่นละอองและหมอกควัน ทำให้เกิดพิษและอมความร้อนเอาไว้ในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งลอยไปตามลมสู่พื้นที่อื่นๆ สร้างปัญหาให้ลุกลามมากขึ้น

ฝุ่นละอองและเมฆพิษ (Aerosols and Clouds)

ฝุ่นละอองพิษจากอุตสาหกรรมและการทำลายป่านอกจากทำให้ปัญหา GHG เพิ่มขึ้น ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิต และการเกิดถี่ขึ้นของเรื่องนี้ทำให้แสงอาทิตย์ส่องลงมาที่โลกได้น้อยลงเกิดปรากฏการณ์ Global Dimming และการล่องลอยของฝุ่นละอองนั้นมีเวลานานหลายปี นอกจากนี้ฝุ่นละอองประเภท Sulfate Aerosols หรือ ประเภท Black Carbon ยังทำให้เมฆเกิดความหนาแน่น มากเกินไป ไม่สะอาดและตกเป็นเม็ดฝนได้ยากขึ้น

 

 

2) ผลกระทบ

 

ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพของโลก (Physical Environment)

เราอาจเห็นได้จากการเปลี่ยน แปลงของมหาสมุทร นํ้าแข็งที่ขั้วโลก และภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงแรงและเร็วขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 เป็น ต้นมา ความแห้งแล้งและคลื่นความร้อนสูงเกิดมากขึ้นและถี่ขึ้น บางพื้นที่ก็เผชิญเหตุการณ์นํ้าท่วมหรือฝนแล้งบ่อยๆ ระหว่างปี ค.ศ.1993-2017 เป็นต้นมา ระดับนํ้าทะเลสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 3.1  มิลลิเมตรต่อปี พอสิ้นศตวรรษที่ 21  IPCC พยากรณ์ว่าระดับนํ้าทะเลของโลกจะเพิ่มขึ้น 61-110 เซ็นติเมตร โดยสาเหตุหลักมาจากการละลายของนํ้าแข็งที่ขั้วโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนั่นเอง

 

ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ (Nature and Wildlife)

ภาวะโลกร้อนจะส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตในทุกพื้นที่ การเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอันตรายต่ออากาศของโลก เพราะพื้นที่ป่าสีเขียวมีน้อยเกินไปที่จะดูดซับ ในขณะที่ความแห้งแล้งที่มีมากขึ้นก็จะลดผลผลิตภาคการเกษตรลง เกิดการขยายตัวของพื้นที่ทะเลทรายบนโลก รวมทั้งการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าอีกหลายชนิดจะตามมา

มหาสมุทรก็จะมีระดับความร้อนของนํ้าสูงขึ้น สัตว์นํ้าในทะเลจะโยกย้ายถิ่นไปในโซนที่เย็นกว่า ซึ่งจะเคลื่อนย้ายถิ่นได้เร็วกว่าสัตว์บก ความร้อนในนํ้าจะส่งผลให้เกิดการตายหรือสูญพันธุ์ของปะการัง สาหร่ายทะเล และนกทะเลหลายชนิด เพราะห่วงโซ่อาหารเปลี่ยนไป

 

ผลกระทบต่อมนุษย์ (Humans) 

มนุษย์เป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน เช่นในด้านอาหารและนํ้า ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการดำรงชีวิต มีการคาดการณ์ว่าประเทศที่อยู่ใน Low Latitude เช่นใกล้เส้นศูนย์สูตรจะเผชิญกับการลดลงของการผลิตพืชผล (Crop Production) 

ขณะที่ประเทศในทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรก็ต้องเผชิญความไม่แน่นอนในการผลิตเช่นกัน และจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และส่งผลต่อผู้มีรายได้น้อยไม่ตํ่ากว่า 183 ล้านคนทั่วโลก ในขณะที่เดียวกันระดับนํ้าทะเลที่สูงขึ้นก็จะส่งผลคุกคามต่อประเทศและเมืองริมชายฝั่งหรือที่อยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่นํ้า การสูงขึ้นของนํ้าทะเลอาจไปทำลายบ้านเรือนและสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มนุษย์ได้สร้างไว้ 

 

ผลกระทบอีกประการหนึ่งก็คือ ผลต่อสุขภาพ และความปลอดภัย

ในชีวิตมนุษย์ ความแห้งแล้งอาจนำมาซึ่งการขาดสารอาหาร จนทำให้ร่างกายอ่อนแอเกิดโรคภัย และอาจนำมา ซึ่งความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรที่มีจำกัดลง เกิดสงคราม ทำให้ผู้คนล้มตาย เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตตามมา

 

 

3) แนวทางการบรรเทาผล

กระทบ

การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน

ควรมีการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ตอบโจทย์มนุษยชาติไปด้วยและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากขยะ ซึ่งล้วนแต่ช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ที่จะประหยัดพลังงาน เช่น การประดิษฐ์รถยนต์ไฟฟ้า หรือระบบการขนส่งมวลชนที่ใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

การส่งเสริมให้ดำเนินกิจกรรมธุรกิจและการดำเนินชีวิตที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน ทุกฝ่ายควรหันมาตระหนักแสวงหาความรู้และนำไปปฏิบัติในกิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการทำธุรกิจและดำเนินชีวิตประจำวัน ที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน เช่น การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การบริโภค การจัดการขยะ การเดินทาง การใช้พลังงาน เป็นต้น ในทุกกระบวนการหากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจ ผลิตและบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบต่อโลก  ก็จะมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อนลงได้

วิถีใหม่ไทยแลนด์ ที่เรากำลังจะสร้างขึ้นใหม่ ไม่รู้จะเรียกว่าเป็น แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่หรือไม่ ผมหวังว่าจะมีการผูกเรื่องนี้เข้าไปด้วย พื้นที่ประเทศ ไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลก การทำพื้นที่ของเราให้ดี นอกจากโลกจะดีขึ้นแล้ว ก็จะดีต่อพวกเราด้วย เพราะที่นี่คือบ้านของเรา