ไส้ในเศรษฐกิจไทย … แย่กว่าที่คิด

03 ก.ค. 2563 | 04:05 น.

ในช่วงต้นปีที่โควิดระบาดใหม่ ๆ หลายคนไม่แปลกใจที่หน่วยงานเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศต่างคาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะติดลบระหว่าง 5-7% แต่ที่จะตระหนกมากขึ้นก็เมื่อเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับเศรษฐกิจไทยและของโลกใหม่  โดยฉายภาพที่เศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกที่จะดิ่งลงลึกกว่าที่คิด ติดพื้นนานกว่าที่คาด และเมื่อมองไส้ในเศรษฐกิจแล้ว ปัจจัยทุกตัวไหลลงอย่างรวดเร็วและลึกกว่าที่เคยประมาณการณ์ไว้ ซึ่งทุกประเทศก็คล้าย ๆ กันที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังเป็นความหวังเดียวของทุกรัฐบาลที่จะใช้ในการพยุงเศรษฐกิจ แม้จะไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนักก็ตาม

              สำหรับประเทศไทย เมื่อมองไปถึงไส้ในแล้วจะพบว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายของภาคเอกชน และการส่งออกอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่กว่าที่คิด คือ ติดลบมากกว่าที่คาดไว้เดิมเมื่อต้นปีไม่ว่าจะเป็นผลมาจากโควิด หรือมาตรการของรัฐในการสู้โควิด หรือจากการปิดประเทศของเราและทุกประเทศทั่วโลก ทำให้แบงก์ชาติประมาณการเศรษฐกิจไทยลดลงกว่าที่เคยคาดไว้ -5.3% เมื่อเดือนมีนาคม เป็น -8.1% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปีและต่ำกว่าในช่วงที่ไทยเจอวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ซะอีก สอดคล้องกับหน่วยงานเศรษฐกิจอื่น ๆ  

Text Box: ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ปี 2563

หน่วยงาน

เดิม (%)

ปรับใหม่ (%)

ธนาคารแห่งประเทศไทย

-5.3

(มี.ค.)

-8.1

(มิ.ย.)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

-6.7

(เม.ย.)

-7.7

(มิ.ย.)

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

-1.5 ถึง -2.5

(ก.พ.)

-5.0 ถึง -6.0

(พ.ค.)

EIC (ธนาคารไทยพาณิชย์)

-5.6

(มี.ค.)

-7.3

(มิ.ย.)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

-5

(มี.ค.)

-6

(มิ.ย.)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

1.1

(มี.ค.)

-8.8

(มิ.ย.)

 

ถ้าลองมาดูไส้ในเศรษฐกิจไทยจะเห็นว่าในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา แบงก์ชาติปรับการประมาณการการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศลดลงหนักกว่าเดิม จากที่ประมาณการไว้ที่ - 4.3% ปรับใหม่เป็น -13.0% ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ของนักลงทุนคงรี ๆ รอ ๆ สถานการณ์ว่าประเทศต่าง ๆ จะเอาอย่างไรกับการค้าระหว่างประเทศ และมาตรการในประเทศจะผ่อนปรนเร็วและมากขนาดไหน ซึ่งตอนนี้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงถึง -11.8% ใน 5 เดือนแรกของปีนี้ และคาดว่าจะติดลบกว่า 10% ทั้งปี รวมทั้งธุรกิจบริการท่องเที่ยวที่ไม่มีวี่แววจะกลับมาใกล้เคียงจากที่เคยเป็นตราบที่ยังไม่มีการค้นพบวัคซีน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ

ในเดือนเมษายนลดลงถึงระดับ 75.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทำดัชนีนี้ขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าแนวโน้มการลงทุนอาจขยับดีขึ้นบ้างหากมีการปลดล็อคมาตรการในประเทศ แต่ปัจจัยสำคัญคือการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวจะกลับมาได้เร็วขนาดไหน และหากหลายคนคิดว่าการลงทุนจากต่างประเทศจะไหลเข้ามาเมื่อสถานการณ์ไวรัสเบาบางลง คิดใหม่นะครับ วันนี้จำนวนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาบ้านเราน้อยกว่าเวียดนามเท่าตัวนะครับ

การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจาก – 1.5% เป็น -3.6% ซึ่งสะท้อนถึงรายได้ของประชาชนที่ลดลงทั้งจากการว่างงานที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้เท่ากับ 8 ล้านคน ซึ่งมีอัตราว่างงานสูงสุดเกือบ 11 ล้านคนในไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่ลดลงจากภัยแล้ง ถึงแม้จะมีการช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ก็ใกล้จะหมดเวลาในเร็ว ๆ นี้ และจำนวนเงินไม่มากเท่ากับที่เคยได้รับ ซึ่งหนี้ครัวเรือนที่ปริ่มน้ำเมื่อเทียบกับความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทำให้ต้องระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ในขณะที่ผู้คนยังไม่กล้าออกไปใช้บริการร้านค้า ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้ามากเพราะยังหวาดระแวงกับระบาดของไวรัส และระยะเวลาของมาตรการพักชำระหนี้ที่รัฐออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิดก็จะหมดในอีกสองสามเดือนข้างหน้าอีกด้วย   

              ในส่วนการส่งออกและการนำเข้าของประเทศในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าประเทศไทยเกินดุลกว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เป็นการเกินดุลในแบบที่ใคร ๆ ก็ไม่พึงปรารถนาหรือน่าหวั่นไหวด้วยซ้ำไป เพราะการส่งออกของเราลดลงมาตลอด แต่ที่เกินดุลเพราะการนำเข้าของเราลดลงมากกว่าการส่งออกที่ลดลง คือ การส่งออกลดลง –3.7% ในขณะที่การนำเข้าลดลงกว่า 11.4% และที่น่ากลัวเพราะสินค้านำเข้าของไทยส่วนมากจะเป็นวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป หรือเครื่องจักรและสินค้าทุน การลดลงของสินค้านำเข้าแสดงถึงการขยายตัวการผลิตและการลงทุนที่ลดลง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่หดตัวทำให้ลูกค้าในต่างประเทศลดการนำเข้าและระมัดระวังการใช้จ่าย โดยสินค้าไทยมีคู่แข่งจากประเทศที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ เวียดนามที่มี FTA กับ สหรัฐอเมริกา EU และอื่น ๆ ซึ่งแบงก์ชาติปรับประมาณการอัตราการส่งออกในปี 2563 ลดลงจาก -16.4% เป็น – 22.7% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาที่เหลือของปี การส่งออกยังดำดิ่งลงไปกว่าเดิม แต่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในอัตราสูงคือ 15.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ค่าของเงินบาทเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐยังคงค่อนข้างแข็งค่า นอกจากเกินดุลการค้าของเราเองแล้วยังไม่พอ สหรัฐฯ ปั๊มปริมาณเงินเหรียญเข้าสู่ระบบเพื่อแก้ปัญหาโควิดอีกกว่า 3.5 ล้านล้านเหรียญ  เรียกว่า บาทแข็งเพราะคนอื่นอ่อน มากกว่าแข็งเพราะเศรษฐกิจเราแข็ง

นอกจากนี้ รายได้จากสาขาการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ได้รับปีละกว่า 2 ล้านล้านบาทนั้น น่าจะลดลงจาก 40 ล้านคนที่คาดไว้เดิม คาดว่าเหลือ 9 ล้านกว่าคน หรือลดลงมากกว่า 70% เพราะแนวโน้มการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างอิสระเหมือนเดิมในภาวะที่การแพร่กระจายโควิดระลอกสองในประเทศต่าง ๆ คงทำได้ยากในเร็ววันหรือไม่ก่อนไตรมาสที่ 3 ของปีนี้แน่ ๆ   

ส่วน IMF ก็ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกและประเทศต่าง ๆ ในรายงานเดือนมิถุนายนปีนี้ใหม่ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะติดลบมากกว่าที่เคยประมาณไว้ที่ -3% ในเดือนเมษายน เป็น -4.9% ในเดือนมิถุนายน และยังประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยติดลบมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิมที่ -6.7 เป็น -7.7%  ปี 2563 ซึ่งถือว่าอัตราที่ต่ำสุดในเอเชีย ผมคิดว่าการที่ IMF ประมาณการเศรษฐกิจไทยติดลบมากเพราะระบบเศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพิงภาคการส่งออกมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกสินค้า บริการและการท่องเที่ยวที่นับรวมมูลค่าเพิ่มแล้วคิดเป็นกว่า 70% ของการขยายตัวของ GDP

เครื่องมือที่รัฐบาลมีอยู่ในตอนนี้ ที่พอจะทำได้คือการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนในกิจกรรมต่าง ๆ ที่รัฐต้องทำ ซึ่งจากงบประมาณประจำปี 2563 กว่า 3 ล้านล้านบาทที่ใช้ไปจนจะหมดแล้วนั้นดูจะหวังได้ไม่มากเพราะกว่า 70% เป็นงบประมาณประจำที่เป็นเงินเดือนข้าราชการและค่าใช้จ่ายของหน่วยราชการ ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก แม้ว่าข้าราชการจะมีรายได้แน่นอนทำให้รักษาระดับการใช้จ่ายต่อรายได้ (Marginal propensity to consume) ไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนที่สำคัญคือการลงทุนในโครงการของรัฐที่จะกระตุ้นการขยายตัวการลงทุนของเอกชนหรือการใช้จ่ายของเอกชน เป็นสิ่งจำเป็นในการคัดเลือกการลงทุนในโครงการต่าง ๆ และงบฟื้นฟู 400,000 ล้านจะเป็นความหวังสำคัญสุดที่จะพยุงเศรษฐกิจไทยได้ในระดับหนึ่ง ไม่ให้ลงไปลึกกว่าที่ทุกคนหวั่น แต่ต้องใช้ให้เป็น ใช้ให้ดี ใช้ในกิจกรรมที่เพิ่มรายได้ของคนที่ต้องการใช้จ่าย กระตุ้นการลงทุนต่อของภาคเอกชนและฟื้นฟู ซ่อมแซมส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่ผ่านมาให้ถูกจุด

ทุกสถาบันมองเวลาที่เหลือของปีนี้ว่าเศรษฐกิจไทยมาถึงจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 แล้ว ที่เหลือคือช่วงที่เรากำลังค่อย ๆ ขยับดีขึ้น ดังนั้น ก็หวังว่าทีมเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยหัวหน้าทีม คือ นายกรัฐมนตรี รมต. กระทรวงเศรษฐกิจ อาทิ คลัง พาณิชย์ เกษตรฯ และมหาดไทยที่ดูแลเศรษฐกิจฐานราก คงไม่ปล่อยโอกาสนี้เสียไปในแรงกดดันทางการเมืองจนเกินไป และหากปรับ ครม. จริงตามข่าว คนไทยทุกคนเฝ้าดูครับว่า จะเป็นคนใหม่ หรือคนเก่า หรือกึ่งเก่ากึ่งใหม่ มีฝีมือและน่าไว้ใจพอที่จะพาเราเดินขึ้นจากหุบเหวเศรษฐกิจที่ลึกที่สุดที่ในช่วงชีวิตนี้ของหลายคนเคยประสบ ....... อย่าให้ถึงกับคนไทยกุมขมับ ตั้งแต่ได้ยินชื่อก็แล้วกันครับ