รถชน ไม่เป็นเหตุสุดวิสัย ริบหลักประกันซองได้!?

28 มิ.ย. 2563 | 02:45 น.

 

คอลัมน์ อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดยนายปกครอง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,587 หน้า 5 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2563

 

ในการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ผู้ที่ประสงค์จะเสนอราคาจะต้องวางหลักประกันซอง ไม่ว่าจะเป็น เงินสด เช็ค หนังสือคํ้าประกันของธนาคาร บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือพันธบัตรรัฐบาล อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อแสดงถึงความพร้อมในการเข้ารับงานและเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวผู้เข้าร่วมเสนอราคากับรัฐ

อุทาหรณ์จากคดีปกครองวันนี้ เป็นกรณีที่ผู้มีสิทธิเสนอราคารายหนึ่งถูกตัดสิทธิมิให้เข้าเสนอราคาและถูกยึดหลักประกันซอง เนื่องจากไม่มาลงทะเบียนเพื่อเข้าเสนอราคาในวันเวลาที่หน่วยงานกำหนดไว้ แต่การที่ไปลงทะเบียนไม่ทันดังกล่าว เกิดจากเกิดอุบัติเหตุรถชนในระหว่างการเดินทางมาลงทะเบียน เช่นนี้จะถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่หน่วยงานไม่อาจยึดหลักประกันซองได้หรือไม่? วันนี้นายปกครองมีคำตอบครับ...

เรื่องมีอยู่ว่า...ผู้ฟ้องคดีมอบอำนาจให้นายเอและนางสาว บี นำเอกสารหลักฐานมาลงทะเบียนเพื่อเข้าเสนอราคา ตามที่การประปานครหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ประกาศประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ในงานจ้างก่อสร้างวางท่อประปา 

แต่ในระหว่างเดินทางได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ทำให้เดินทางไปถึงสถานที่เสนอราคาไม่ทันเวลา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงประกาศให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้หมดสิทธิเสนอราคา และมีคำสั่งริบเงินตามหนังสือสัญญาคํ้าประกันของธนาคารที่ผู้ฟ้องคดีใช้เป็นหลักประกันซองประกวดราคา 

ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์การริบหลักประกันซอง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งว่าไม่สามารถคืนหลักประกันซองได้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการที่ไปถึงสถานที่เสนอราคาล่าช้านั้นเนื่องจากเกิดเหตุสุด วิสัย จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้คืนหลักประกันซอง

คดีจึงมีประเด็นปัญหาที่พิจารณาคือ การประปานครหลวงมีสิทธิริบหลักประกันซองได้หรือไม่? 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เอกสารประกวดราคาจ้างแนบท้ายประกาศประกวดราคาจ้าง และหนังสือแสดงเงื่อนไขการซื้อและการจ้างโดยการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้ผู้มีสิทธิเสนอราคาหรือผู้แทนจะต้องมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวน  การเสนอราคาตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด มิฉะนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีจะริบหลักประกันซองทันที 

 

รถชน ไม่เป็นเหตุสุดวิสัย  ริบหลักประกันซองได้!?

 

เมื่อปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือแจ้งวัน เวลา สถานที่เสนอราคา และทราบล่วงหน้า และมีหมายเหตุเตือนไว้ท้ายหนังสือด้วยว่า จะต้องมาให้ทันการลงทะเบียน มิฉะนั้นจะถูกยึดหลักประกันซอง ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้มอบอำนาจให้นางสาวบี และนายเอ เป็นผู้แทนเพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคา แต่ในวันเสนอราคา ผู้ฟ้องคดีไม่ส่งผู้แทนมาลงทะเบียนตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยอ้างว่า ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางจึงเดินทางไปลงทะเบียนล่าช้า และได้มีการแจ้งเหตุอุบัติเหตุดังกล่าวต่อสถานีตำรวจภายหลังวันเกิดเหตุนานกว่า 3 เดือน  

 

 

นอกจากนี้ ในหนังสืออุทธรณ์การริบหลักประกันซอง ผู้ฟ้องคดีก็มิได้กล่าวอ้างถึงการเกิดอุบัติเหตุแต่อย่างใด อีกทั้ง ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานของสถานีตำรวจระบุว่า นายเอได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย โดยไม่ได้ระบุว่านางสาวบีได้ประสบอุบัติเหตุอยู่ด้วยหรือได้รับบาดเจ็บด้วยแต่อย่างใด  

ดังนั้น นางสาวบีผู้แทนผู้ฟ้องคดีอีกคนหนึ่งจึงอยู่ใน วิสัยที่สามารถจะเดินทางไปลงทะเบียนได้ และสถานที่เสนอราคาอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุเพียง 7 กิโลเมตร เท่านั้น หากผู้แทนของผู้ฟ้องคดีรีบเดินทาง ก็อยู่ในวิสัยที่สามารถจะไปถึงสถานที่เสนอราคาได้ทันเวลาลงทะเบียนในเวลาที่กำหนด 

เมื่อเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะต้องเป็น เหตุที่เกิดขึ้นโดยมิใช่ความผิดของบุคคลนั้น และเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ พฤติการณ์ดังกล่าวจึงไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้แทนของผู้ฟ้องคดี ไม่อาจเดินทางไปยังสถานที่เสนอราคาได้ทันเวลา 

กรณีจึงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ส่งผู้แทนมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาจ้างแนบท้ายประกาศประกวดราคาจ้าง ผู้ถูกฟ้องคดีจึงริบหลักประกันซองได้ ตามข้อ 10.1 ของเอกสารประกวดราคาจ้างดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่จำต้องคืนหลักประกันซองให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 760/2561)

 

 

อุทาหรณ์จากคดีปกครองเรื่องนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้ วางหลักการสำคัญเกี่ยวกับการเข้าประกวดราคาการซื้อ หรือการจ้างกับหน่วยงานของรัฐว่า ผู้มีสิทธิเสนอราคาจะต้องมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด หากมาลงทะเบียนไม่ทันกำหนดเวลา เนื่อง จากประสบอุบัติเหตุระหว่างเดินทาง เช่น รถชน ยางรถยนต์ระเบิด ฝนตกทำให้การจราจรติดขัด มีอุบัติเหตุระหว่างเส้นทางทำให้รถติด เหตุเหล่านี้

ศาลเคยวินิจฉัยว่าไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๑๙๙๒/ ๒๕๕๙ ที่ อ. ๑๙๔๙/๒๕๕๙ และที่ อ. ๔๕๙/๒๕๖๑ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดของคดีเพิ่มเติมได้) ทั้งนี้ ศาลจะพิจารณาเป็นรายกรณีไปว่าเข้าลักษณะเหตุสุดวิสัยหรือไม่ 

ทางที่ดีตัวแทนผู้เสนอราคาจะต้องเผื่อเวลาในการเดินทางไว้ด้วยหรือถ้าอยู่ไกลก็อาจต้องมาพักค้างคืนก่อน 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)