ยิ่งอาฆาต ยิ่งบาปมาก

24 มิ.ย. 2563 | 22:15 น.

ทำมา..ธรรมะ โดย ราช รามัญ

Facebook ราช รามัญ

          การอยู่ร่วมกันในสังคม เราจะหาให้ใครมาทำอะไรที่ถูกใจของเราไปเสียทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ตลอดทั้งเราเองก็ไม่อาจที่จะทำอะไรให้ถูกใจคนอื่นได้ทั้งหมดเช่นเดียวกัน

          เมื่อมีการผิดพลาดเกิดขึ้น บางคนเขาก็ไม่ถือโทษโกรธเคืองแต่บางคนอาจจะจำฝังใจตลอดเวลาว่า เรามีอันเป็นไปเพราะคนนั้น คนนี้ ทำแบบนั้นแบบนี้กับเรา เมื่อมีการจำฝังใจมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะกลายเป็นความอาฆาตผูกพยาบาท

          อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง(เสียชีวิตแล้ว) ที่เคยถูกทำการปฏิวัติรัฐประหาร คุยกับนักข่าวหลังจากที่วางมือทางการเมือง เมื่อนักข่าวถามว่า โกรธไหมที่โดนรัฐประหาร ก็ได้รับคำตอบว่า “ผมลืมไปหมดแล้ว” โดยให้เหตุผลว่า การลืมเป็นสิ่งที่ไม่ทำให้ใจเราขุ่นหมอง เมื่อลืมไม่เป็นใจเราเย็นไม่ได้

          พระพุทธเจ้าสอนเรื่องการอาฆาตผู้คนเอาไว้เหมือนกัน และ สอนวิธีแก้ด้วยว่าเราควรแก้อย่างไร การแก้นั้นก็เหมือนกับลืม แต่เป็นการลืมที่มีวิธีข่มใจของตนเองอย่างน่าสนใจดังนี้

          “...ความอาฆาตเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น 
          ความอาฆาตเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญ พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น
          ความอาฆาตเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญ พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น
          ความอาฆาตเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงการไม่ใส่ใจไม่นึกถึงบุคคลนั้น
          ความอาฆาตเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความมีกรรมเป็นของตน

          ให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดไว้ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นดังนี้ พึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้
จาก อาฆาตวินัยสูตร ตท.๒๒/๑๖๑/๑๘๙

คนเรานั้น...ย่อมมีกรรมเป็นที่พึง มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์โดยแท้

ไม่ว่ากรรมนั้นเป็นเพราะเราเองเป็นต้นเหตุหรือผู้อื่นเป็นต้นเหตุ

ทุกอย่างก็ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันแบบนี้แล