ไทยเป้าหมายแหล่งทุ่มตลาดเหล็กเคลือบจากจีน พ.ค.ทะลุล้านตัน

22 มิ.ย. 2563 | 06:24 น.

 

คอลัมน์ : Let  Me Think
โดย      :งามตา สืบเชื้อวงค์

 

งานเข้าอีกแล้วสำหรับผู้ประกอบการในวงการเหล็กไทย ในขณะที่ยังไม่คลายอาการผวาการแพร่ระบาดของโรคร้ายไวรัสโควิด-19  ล่าสุดกำลังรับศึกหนักต่อเนื่องจากพิษสงจีน ที่ขยับอะไรก็กลายเป็นเรื่องทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อประชาคมโลกได้ทั้งนั้น  และสำหรับอุตสาหกรรมเหล็ก ดูเหมือนเวลานี้ไทยคือเป้าหมายสำคัญที่สุดในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะในยามที่จีนมีกำลังผลิตเหล็กชนิดต่างๆมากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศจีนเอง

กำลังเป็นที่จับตากันถึงผลผลิตเหล็กของจีนที่ขยายตัว +19% ในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค. 2563 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงอย่างผิดปกติ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่เป็นผู้บริโภคเหล็กซึ่งหดตัวอย่างรุนแรงโดยติด -31% ถึง -32.1%

 

ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศจีน และสมาคมเหล็กและเหล็กกล้าของโลก รายงานตรงกันว่า ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ผลผลิตเหล็กของจีนไม่ได้ลดลงจากปีที่แล้วเลยแม้แต่น้อย  ที่แย่คือการผลิตกลับสวนทางเพิ่มขึ้น และเร่งการผลิตจนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

รายงานการผลิตเหล็กดิบ (Crude steel) ซึ่งเป็นวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปตั้งต้นสำหรับการผลิตสินค้าเหล็กทุกประเภท ช่วงเดือน ม.ค. - เม.ย. 2563 จีนมีการผลิตเพิ่มขึ้น +1.3% ปริมาณ 319 ล้านตัน   และที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ จีนเพิ่งเปิดเผยตัวเลขการผลิตในเดือน พ.ค. 2563 โดยปริมาณผลผลิตเท่ากับ 92 ล้านตัน นอกจากจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก คือ +4.2% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. ปี 62 และ +8.5% เทียบกับเดือน เม.ย. 2563 ยังทำให้การผลิตเดือนนี้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แซงหน้าเดือน เม.ย.อีกด้วย

ไทยเป้าหมายแหล่งทุ่มตลาดเหล็กเคลือบจากจีน พ.ค.ทะลุล้านตัน

 

 

 

ไทยเป้าหมายแหล่งทุ่มตลาดเหล็กเคลือบจากจีน พ.ค.ทะลุล้านตัน

นอกจากนี้ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องทุกประเภทที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศจีน แสดงให้เห็นการหดตัวอย่างรุนแรงในทุกกลุ่มไล่ตั้งแต่ ภาคการผลิตอุตสาหกรรม หดตัวรุนแรง ในช่วง -3.1% ถึง -32.1%  ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร & การก่อสร้าง หดตัวรุนแรง ในช่วง -6.3% ถึง -15.9%

 

ไทยเป้าหมายแหล่งทุ่มตลาดเหล็กเคลือบจากจีน พ.ค.ทะลุล้านตัน

บางกลุ่มอาจมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเช่น การผลิตรถยนต์ (Car) ที่กลับมาขยายตัว +27% ในเดือนพ.ค. แต่มีอีกหลายกลุ่มยังไม่มีสัญญาณของการฟื้นตัวเลย เช่น การผลิตเครื่องชักผ้าและเครื่องปรับอากาศที่ในเดือน พ.ค. 2563 ยังหดตัว -8.2% และ -14.7%

 

จากตารางข้างบนเป็นตัวชี้วัดว่า กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็กทุกกลุ่มของจีนมีความต้องการใช้เหล็กหดตัวอย่างรุนแรงตลอดช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อน และเป็นการหดตัวอย่างรุนแรงจากผลกระทบ โควิด-19 โดยที่ยังไม่มีกลุ่มอุตสาหกรรมใดที่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เหมือนเดิม

 

ดังนั้น ในสภาวะที่ความต้องการใช้เหล็กของกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นผู้บริโภคเหล็กหดตัวรุนแรงระหว่าง -3.1% ถึง -32.1% แต่ปริมาณการผลิตของผู้ผลิตเหล็กในจีนกลับไม่ลดลงแต่อย่างใด จึงเป็นสภาวะการณ์ที่ผิดปกติ และเป็นความเสี่ยงอย่างมากของอุตสาหกรรมเหล็กประเทศต่างๆ ในโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

 

 

จากฐานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ยืนยันได้อีกว่า จีนมุ่งส่งออกเหล็กแผ่นเคลือบมายังประเทศไทยเป็นหลัก โดยส่งออกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558 และเพิ่มต่อเนื่องทุกปี ขึ้นมาสูงสุดในปี 2562 ที่จำนวน 1.88 ล้านตัน หรือ+123% ในระยะเวลา 4 ปี ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับเดือน ม.ค. - เม.ย. 2563 มีการส่งออก 0.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมากถึง+63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562และคาดว่าในเดือนพ.ค.นี้จะเพิ่มเป็นทะลุ  1 ล้านตัน

 

ไทยเป้าหมายแหล่งทุ่มตลาดเหล็กเคลือบจากจีน พ.ค.ทะลุล้านตัน

ตรงกันข้าม การส่งออกเหล็กเคลือบจากจีนไปประเทศอื่น (ที่ไม่ใช่ไทย) อยู่ในระดับทรงตัว ส่วนการส่งออกของประเทศจีนในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เหล็กแผ่นเคลือบ ทั้งการส่งออกมายังประเทศไทย และการส่งออกไปยังประเทศอื่น (ที่ไม่ใช่ประเทศไทย) พบว่า ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

การนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบอะลูมิเนียมผสมสังกะสีทาสี (PPGL )และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GI) ของไทยจากจีนมีพฤติกรรมเหมือนกัน คือ ทะยานเพิ่มขึ้นผิดปกติภายหลังระบบโลจิสติกส์ของประเทศจีนกลับมาเป็นปกติภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด -19 คลี่คลายลง

 

ดังนั้น จากสถานการณ์ความต้องการใช้เหล็กในจีนที่หดตัวรุนแรงตามผลกระทบการระบาดไวรัสโควิด-19แต่สวนทางกับการผลิตเหล็กภายในประเทศจีนที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้เมื่อระบบโลจิสติกส์ของจีนกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด -19 ภายในจีนคลี่คลายลง ผู้ผลิตเหล็กจีนทำการระบายสินค้าในกลุ่มเหล็กแผ่นเคลือบออกมา และเป็นการเร่งส่งออกที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ เนื่องจากสต็อกสินค้าเหล็กในประเทศจีนสูงขึ้นผิดปกติตามไปด้วย

 

เคยมีการประเมินไว้ว่าในเดือน มีค. 2563 สต็อกเหล็กทุกประเภทของจีนแตะระดับ 100 ล้านตัน + 203% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่ สถิติการนำเข้าของไทยในเดือน เม.ย. 2563 พบถึงความผิดปกติของการนำเข้าจากจีน โดยการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบอะลูมิเนียมผสมสังกะสีทาสี (PPGL) ของประเทศไทยในเดือน เม.ย. 2563 รวมทั้งสิ้น 63,188.62 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 63 +62.3% ประเทศหลักที่ผลกระทบต่อความผิดปกติคือ การนำเข้าจากประเทศจีน

การนำเข้า PPGL จากจีนมีปริมาณ 55,106.08 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 63 +79.8% และเป็นระดับการนำเข้าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไทย ทำให้สัดส่วนการนำเข้าจากจีนเท่ากับ 87.21% เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากทุกประเทศ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกปีจาก 75.47% ในเดือน เม.ย. 2561 และ 82.78% ในเดือน เม.ย. 2562 และถือว่าเป็นสัดส่วนการนำเข้าจากประเทศจีนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไทย

 

นอกจากสินค้า PPGL ยังมีกรณีการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GI) ของไทยจากประเทศจีนที่มีความผิดปกติในรูปแบบเดียวกัน โดยเดือน เม.ย. 2563 มีการนำเข้าจากจีนมากถึง 173,156 ตันทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกันของสินค้าประเภทนี้

 

ไทยเป้าหมายแหล่งทุ่มตลาดเหล็กเคลือบจากจีน พ.ค.ทะลุล้านตัน

จากการนำเข้าของเหล็ก PPGL ที่เพิ่มทะยานขึ้นอย่างผิดปกติ ในเดือน เม.ย. 63 และเป็นลักษณะเดียวกันกับเหล็ก GI ซึ่งทั้ง 2 สินค้าอยู่ระหว่างการไต่สวนมาตรการ AD แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตเหล็กจีนมีพฤติการณ์อาศัยตลาดภายในประเทศไทย มาทำการผลิตสินค้าภายในประเทศจีนเองให้มีปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำลง

 

สวนทางกับภาวะตลาดความต้องการใช้เหล็กของจีนที่หดตัวรุนแรงและยังไม่ฟื้นตัว และทำการส่งออกกลับมาประเทศไทยด้วยปริมาณสูงผิดปกติ ซึ่งเป็นพฤติการณ์ของการทุ่มตลาดอย่างชัดเจน และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศอย่างมาก

 

จึงเป็นเหตุให้ล่าสุดทางบริษัทผู้ผลิต PPGL ในประเทศกำลังพิจารณายื่นขอใช้มาตรการฉุกเฉินภายใต้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าตามไปกับกรณีสินค้าเหล็กGI ที่มีการยื่นขอใช้มาตรการต่อกรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ไปก่อนหน้านี้แล้ว

ยังต้องจับตาการต่อสู้กับตลาดเหล็กจากคู่ชนยักษ์ใหญ่อย่างจีน   มาหนักแน่ ไทยจะรับมืออย่างไร  จะทันท่วงทีหรือไม่ยังต้องติดตาม  แต่ที่แน่ๆ “ไทย”คือเป้าหมายแหล่งทุ่มตลาดเหล็กเคลือบจากจีน ที่จะมีสถิติสูงขึ้นเรื่อยๆนับจากนี้ไป

 หากไม่รีบแก้เกมรุก ก็อาจจะเหมือนเหล็กชนิดอื่นๆที่ทุบผู้ประกอบการไทยน่วมไปเป็นแถบมาแล้ว