“แบน”ไม่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล...รัสเซียชุบชีวิตแอพฯต้องห้าม

21 มิ.ย. 2563 | 00:45 น.

คอลัมน์หลังกล้องไซบีเรีย : เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์

 

          เล่นเอากลับตัวกันแทบไม่ทัน เมื่อรัฐบาลรัสเซียผู้ออกตัวอย่างขยันขันแข็งว่าจะตั้งเป้ารักษาความมั่นคงของประเทศจากภัยในโลกไซเบอร์ กลับประกาศปลดล็อกการแบนแอพพลิเคชันต้องห้ามที่ออกคำสั่งแบนไปเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้วให้กลับมาใช้งานได้อย่างอิสระอีกครั้ง

          การแบนแอพพลิเคชัน Telegram ทำให้ชาวรัสเซียทั่วประเทศรวมตัวกันออกมาประท้วงตามท้องถนนทั่วประเทศในปี 2561 มาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการท่องโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างอิสระ ต่อต้านนโยบายของรัฐบาลที่บังคับให้ผู้ให้บริการแอพพลิเคชันสื่อสารและโซเชียลมีเดียต่างๆ ส่งฐานข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานให้กับหน่วยงานความมั่นคง FSB ของประเทศ Telegram ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารที่เป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวรัสเซียด้วยจุดขายเรื่องนโยบายการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน จึงถือเป็นหนึ่งในเส้นฟางสุดท้ายที่จุดกระแสความไม่พอใจให้ประชาชนในช่วงนั้น

          มาวันนี้ Roskomnadzor หน่วยงานด้านการกำกับการดูแลด้านการสื่อสารของรัสเซียกลับออกประกาศอย่างเป็นทางการว่ารัฐบาลได้ปลดการแบน Telegram เป็นที่เรียบร้อยแล้วง่ายๆ เสียอย่างนั้น ทำให้ตอนนี้ผู้ใช้งานภายในประเทศรัสเซียสามารถใช้แอพพลิเคชันดังกล่าวได้อย่างเสรี

          ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากจะบอกว่า “แบน” ก็ดูเหมือนเป็นการ “แบน” ที่ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่นัก เนื่องด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แค่ใช้ตัวช่วยง่ายๆ ก็สามารถหลอกระบบให้เหมือนว่ากำลังใช้งานจากต่างประเทศได้แล้ว และยังเปิดเข้าใช้งานได้เหมือนเก่าแม้จะต้องเพิ่มความยุ่งยากเข้าไปเล็กน้อย ไม่สามารถยับยั้งให้ชาวรัสเซียให้เข้าไปใช้งานได้อย่างที่ตั้งใจไว้

          แม้ว่าโดนแบนไปแล้ว แต่ยังมีชาวรัสเซียผู้ที่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวใช้งานเป็นจำนวนมาก จนทำให้หลายหน่วยงานภาครัฐเลือกใช้ Telegram เป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสช่วงนี้ ที่ศูนย์ปฏิบัติการจัดการสถานการณ์โควิดของกรุงมอสโกใช้ Telegram ให้ข้อมูลกับประชาชน จนมีผู้ติดตามหลายแสนบัญชี ย้อนแย้งกับคำสั่งของรัฐบาลรัสเซียเสียเอง หลังจากทำตัวลักลั่นมานานจนมีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง ในที่สุดก็ถึงเวลาที่รัฐบาลประกาศลดธงเสียที ทำให้คนรัสเซียได้กลับมาใช้งานได้สะดวกสบายเช่นเก่า ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลรัสเซียจะยอมถอยกับการปลดแบน Telegram ซึ่งเป็นหนึ่งในแอพพลิเคชันสื่อสารที่นิยมที่สุดในประเทศแล้วก็ตาม ปัจจุบันยังมีเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นอีกจำนวนมากที่ยังขึ้นอยู่ในบัญชีดำ

          เดิมที่แนวคิดเรื่องการแบนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันต่างๆ ของรัสเซียเกิดจากความพยายามป้องกันเหตุก่อการร้าย การเผยแพร่แนวคิดแบบสุดโต่ง หรือการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับสิ่งของผิดกฎหมาย เพราะรัสเซียเคยมีประวัติ เหตุที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถตามตัวผู้กระทำผิดกฎหมายได้ เนื่องจากคนร้ายใช้ช่องทางการสื่อสารที่มีนโยบายรักษาข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าก่อคดี เมื่อตัดสินใจปลดล็อก Telegram รัฐบาลรัสเซียจึงประกาศว่าจะหันไปจับมือร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ให้รับหน้าที่การควบคุมดูแลข้อมูลที่ไม่เหมาะสมแทน 

          บทเรียนที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนแล้วว่า การบีบบังคับ “ห้าม” แบบหักดิบ อาจไม่ใช่ทางออกในการจัดการการไหลเวียนของข้อมูลสื่อสารบนโลกออนไลน์ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากเทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัลเช่นปัจจุบันมีช่องทางให้ทุกคนได้พลิกแพลงอย่างไม่จบไม่สิ้น ซ้ำการแบนยังก่อให้เกิดภาพลบและความเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับเป้าหมายแฝงต่อตัวรัฐบาล

          ในทางกลับกัน การปลดล็อกไม่บีบบังคับ “ห้าม” ทำด้วยคำสั่ง อาจจะเป็นผลเชิงบวกในระยะยาวด้วยก็เป็นได้ เพราะเมื่อเปิดให้มีการใช้งานอย่างเสรี แต่ความต้องการรักษาความปลอดภัยยังคงมีอยู่ น่าจะนำไปสู่การแข่งขันพัฒนาระบบความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศ ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีเสรีภาพไปควบคู่กับความปลอดภัยในการใช้ชีวิต

** พบกับ คอลัมน์ “หลังกล้องไซบีเรีย” ทุกวันอาทิตย์ ทุกช่องทางออนไลน์ของ “ฐานเศรษฐกิจ" **
Bio นักเขียน : “ยลรดี ธุววงศ์” อดีตนักข่าวที่ผ่านสนามข่าวทั้งในและต่างประเทศ จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ Spring News ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาโทอยู่ในส่วนที่หนาวเย็นที่สุดของประเทศรัสเซีย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

WHO งงสถิติโควิดรัสเซีย สุด “แปลก” ไม่ตามโลก

ซ้ำรอยมหันตภัยสิ่งแวดล้อม "น้ำมันรั่ว" ลงแม่น้ำไซบีเรีย

คลี่แผน "ปูติน" 75 ปี Victory Day  โชว์พลังกองทัพ