ลดดอกเบี้ยส่วนบุคคล สร้างความเป็นธรรม

20 มิ.ย. 2563 | 07:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3585 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-24 มิ.ย.2563

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเตรียมออกประกาศให้สถาบันการเงินทุกแห่งเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้มากกว่า ด้วยการ "ลดเพดานดอกเบี้ย” สินเชื่อบุคคล (P - Loan) เป็นการทั่วไป 2 – 4% ต่อปี โดยเฉพาะหนี้ในส่วนของหนี้ครัวเรือนทั้ง หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2563 นับเป็นการประกาศใช้เป็นการทั่วไป เป็นมาตรฐานเดียวกัน มากกว่ามาตรการขั้นต่ำ ของธปท.ที่ออกมาเมื่อ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา 

เมื่อพิจารณารายละเอียดของมาตรการที่ออกมาพบว่ามีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญ ดังนี้ บัตรเครดิต ปรับลดจาก18% ต่อปี เหลือ 16% ต่อปี สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. บัตรกดเงินสดลดลงจาก 28% ต่อปี เหลือ 25% ต่อปี เงินกู้ส่วนบุคคลผ่อนชำระเป็นงวดจาก 28% ต่อปี เหลือ 25% ต่อปี สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจาก 28% ต่อปี ลดลงเหลือ 24% ต่อปี พร้อมกำหนดให้มีการเพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนหรือที่ผ่อนชำระเป็นงวด สำหรับลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม และมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการที่ธปท.ออกมาจะช่วยแบ่งเบาภาระของลูกหนี้ได้อย่างมาก ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระลูกหนี้ให้ได้รับดอกเบี้ยถูกลง อย่างไรก็ดีมีรายงานว่า หลังจากที่ธปท.ประชุมร่วมกับสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจนอนแบงก์  เพื่อรับฟังความคิดเห็นทางสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ได้แก่ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ ได้ทำหนังสือถึงธปท. แสดงความกังวล

ระบุหากธปท.ประกาศลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทต่างๆลง 2 - 4% จะทำให้ลูกค้าบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน เพราะไม่สามารถสร้างผลกำไรจากจากอัตราดอกเบี้ย พร้อมเสนอให้เลื่อนผลการบังคับใช้มาตรการออกไปในวันที่ 1 ต.ค.2563 โดยมีเงื่อนไขมาตรการของธปท.ดังกล่าว ให้บังคับใช้กับลูกค้าใหม่เท่านั้น ส่วนลูกค้าปัจจุบันให้คงอัตราดอกเบี้ยคงเดิมจนกว่าจะครบสัญญา

เราเห็นด้วยกับมาตรการของธปท.ที่กำลังจะออกมาเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างตรงจุด เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระลูกหนี้แล้ว ยังป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง จะต้องควบคุมต้นทุน หาแหล่งเงินที่ถูกลง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมโดยรวม