ยุทธศาสตร์ชาติ … ได้ไปต่อหรือไม่

19 มิ.ย. 2563 | 02:00 น.

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เปรียบเสมือนแผนที่การเดินทางของการพัฒนาประเทศ ใช้เวลาระดมสมองนาน มีคนหลายกลุ่มเกี่ยวข้องตั้งแต่ชาวบ้าน นักวิชาการ ภาคธุรกิจ ข้าราชการ นักการเมือง ภาคประชาชน และคนในทุกสาขาวิชาชีพ ซึ่งผ่านการถกเถียง วิจารณ์ กลั่นกรอง จนกระทั่งออกมาเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศตามที่เห็นในยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงราวปี 2580 มีทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์ย่อย 35 ประเด็น และมีแผนย่อยอีกเป็นร้อยแผน

ซึ่งจะว่าไปแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวนี้เป็นของใหม่บ้านเรา เพราะเราเคยชินกับภาพของนักการเมืองชุดใหม่มาเป็นรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบาย ทำอะไรระยะยาวไม่เป็นหรือไม่อยากทำก็เหลือจะเดา แต่พอมีแผนระยะยาว 20 ปี คนก็ตั้งคำถามเชิงดูแคลนว่าจะทำได้จริงหรือ แต่โดยการจัดการของรัฐบาลที่ทำให้ยุทธศาสตร์มีการจัดการเชิงสถาบัน (institutionalization) ตั้งแต่มีหน่วยงานดูแล มีการติดตามการดำเนินงาน แถมไม่พอยังถูกระบุในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และใครไม่ทำก็มีความผิดในฐานะที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เลยทำให้ทุกคนต้อง “สนใจ”และ “ทำ”

              เราต้องเข้าใจความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแผนสารพัดแผนที่ใช้ในบ้านเราในปัจจุบันจะเรียกว่า “แผนแม่” ก็ไม่ผิด เพราะเป็นกรอบของแผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานต่าง ๆ ก็ต้องชี้ให้ได้ว่าตอบยุทธศาสตร์ชาติข้อไหน อย่างไร ไม่งั้นไม่ได้เงิน นอกจากนั้น เมื่อได้งบไปทำงาน ก็มีคนติดตามการทำงานยุบยั่บ และที่สำคัญก็คือ ยุทธศาสตร์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องมีสมาชิกวุฒิสภา และมาตรา 270 ในรัฐธรรมนูญฯ ก็กำหนดให้มีหน้าที่ติดตาม เร่งรัด ให้คำแนะนำ เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ สัมฤทธิ์ผลตามยุทธศาสตร์ชาติ

              แต่วันนี้ วิกฤติไวรัสโควิดที่สร้างวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และการเมืองและเศรษฐกิจโลกที่สร้างระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ไม่ว่าสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยีและการเมืองโลก ทำให้สภาพแวดล้อมทุกด้านเปลี่ยนไปและมีผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินงานหลายด้านในยุทธศาสตร์ชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังเชื่อว่าแนวโน้มและทิศทางเดินหลักก็ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ยังคงเดินตามกรอบเรื่องชีวภาพ เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีกรอบ 4.0 เหมือนเดิม แต่รายละเอียดของแผนย่อย ๆ ลงมาอาจเปลี่ยนไปบ้าง

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในประเทศที่หลายคนอาจมองข้ามไปและผมยังคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ คือ การเมืองในปัจจุบันไม่เหมือนตอน คสช. ความขลังของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในยุค ครม. ที่มาจากหลายพรรค แถมพรรคเดียวกันมีหลายก๊วนอีกด้วย จะสามารถสะกดให้นักการเมืองทำตามยุทธศาสตร์ชาติได้เหมือนตอนเป็นนายกรัฐมนตรียุค คสช. หรือไม่ ก็มีห่วงหลายเรื่อง ทั้งการเมืองและการนำไปสู่ปฏิบัติ

              เรื่องที่หลายคนเป็นห่วงว่ายุทธศาสตร์ชาติที่ต้องปรับจะมีหน้าตาอย่างไร คือ ภาพของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับภาพของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นภาพเดียวกัน ดังนั้น แม้จะยังเดินหน้าต่อไป และมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในหลายมิติที่เปลี่ยนไป อาจจะไม่ได้เอาจริงเอาจังจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะทุกพรรคก็ต้องแย่งชิงซีนในการปรับนโยบายของพรรคในวิถีใหม่ และต้องไม่อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ และสิ่งที่แต่ละพรรคเสนอก็ต้องพยายามไม่ให้มีกลิ่นอายของยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ให้เห็นภาพของนายกฯ ประยุทธ์ เพราะพลเอกประยุทธ์ ฯ วันนี้คือเรื่องเดียวกันกับพรรคพลังประชารัฐ และเราแทบจะไม่เคยได้ยินรัฐมนตรีคนใดพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติเลย

              ครม. ในปัจจุบัน รัฐมนตรีมาจากหลายพรรค และแต่ละคนก็มาโดยแบกวาระของพรรคมาด้วย มีนโยบายพรรคในเรื่องที่สัญญากับคนลงคะแนนให้มาว่าต้องทำอะไร และที่สำคัญระยะการทำงานในแผนต้องสั้น คือ ไม่มองผลลัพธ์ระยะไกล ทำแต่เรื่องไว ๆ เอาแต่งานประเภทสามเดือนเห็นหน้า หกเดือนเห็นหลัง เพื่อไว้โชว์ผลงาน ให้ทันกับการเลือกตั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้น การปรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทุกรัฐมนตรีต่างพรรคก็จะพยายามให้มีการปรับแผนระยะสั้นเพื่อให้มาในรูปแบบกิจกรรมที่ตอบนโยบายของพรรคตนเอง และต้องเห็นผลระยะสั้นเท่านั้น จนทำให้สิ่งที่ต้องทำเพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาระยะยาวของประเทศอาจจะไม่มีการดำเนินการ ซึ่งจะส่งผลต่อเป้าหมายสุดท้ายของยุทธศาสตร์ชาติ

ปัจจุบันยุทธศาสตร์ชาติมีหลายประเด็น ซึ่งแต่ละประเด็นก็มีแผนจำนวนหลายแผน แต่ละแผนก็มีแผนย่อยอีกพอสมควร ในขณะที่เป้าหมายของแต่ละแผนนั้นจะถูกกำหนดในระดับผลกระทบ หรือ impact ซึ่งจะต้องรวมผลลัพธ์ของแต่ละแผนย่อยทุกแผนเข้าด้วยกัน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีใครที่เป็นเจ้าภาพจริง ๆ ผมหมายถึงเจ้าภาพที่มองภาพรวมในแต่ละประเด็นและกำหนดกิจกรรมสำคัญทั้งหมด ทุกจิ๊กซอว์ในภาพรวม

รวมทั้งกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินงานต้องทำ และที่สำคัญเจ้าภาพต้องมีอำนาจในการกำหนดงบประมาในแผนนั้น ๆ เพราะปัจจุบันนี้ การกำหนดงาน การใช้งบประมาณ เป็นไปตามนโยบายรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงหรือความสนใจของผู้บริหารหน่วยงาน ดังนั้น การที่จะทำให้ยุทธศาสตร์เดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ได้ยาก ผมว่าถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลยก็ว่าได้ นอกเสียจากว่าเราจะมีเจ้าภาพที่มีอำนาจและเป็นผู้รับผิดและรับชอบกับผลลัพธ์ของประเด็นยุทธศาสตร์ชาตินั้น ๆ

กระบวนการติดตามการดำเนินงานในปัจจุบัน สภาพัฒน์ฯ เป็นแม่งานในการรวบรวมงานและโครงการ โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ คัดเลือกโครงการในแต่ละแผนมาติดตาม ที่ผ่านมาก็จะเป็นโครงการที่ได้งบประมาณมาทำ และหลายโครงการก็มีความสำคัญไม่มากพอที่จะทำให้การพัฒนาในภาพรวมของแผนเป็นไปตามเป้าหมาย และหลายกิจกรรมที่เป็นภารกิจประจำของหน่วยงานอื่น ๆ ก็มีน้อยรายที่จะถูกนำมาพิจารณา กลายเป็นการติดตาม ตรวจสอบ งานระดับโครงการมากกว่าแผนยุทธศาสตร์  

ผมเชื่อว่าหลังจากสภานการณ์ไวรัสครั้งนี้ ยุทธศาสตร์คงยังไปต่อ เพราะนายกรัฐมนตรียังชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่แนวทางหลักคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก แต่น่าสนใจว่าจะวาระซ่อนเร้นของพรรคต่าง ๆ จะถูกสอดเสียบเข้ามามากน้อยแค่ไหน และหากถ้าพ้นจากนายกรัฐมนตรีคนนี้แล้ว ดูจากความเอาใจใส่ของพรรคร่วมฯ แล้ว ผมว่าตัวใครตัวมัน ครับ