5 เหตุผลดัน“ทองคำ”พุ่งแน่ 30,000 บาท

18 มิ.ย. 2563 | 04:02 น.

ตอนนี้บรรดานักลงทุนส่วนหนึ่งหันมาโฟกัส “ทองคำ”มากขึ้น คนนิยมซื้อเพื่อสะสม ลงทุน และเก็งกำไร แม้จะมีบางจังหวะที่ราคาทองคำผันผวนช่วงสั้นๆ  แต่ระยะยาวต่างพยากรณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าราคาทองขาขึ้น

คอลัมน์: พื้นที่นี้....Exclusive 

โดย:งามตา สืบเชื้อวงค์

การเลือกลงทุนทองคำมีเหตุผลหลายอย่างด้วยกัน เช่น การเปลี่ยนเงินออมให้เป็นทรัพย์สินเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง และการลงทุนในทองคำนั้นยังเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างผลตอบแทนที่ดี และอาจทำกำไรระยะสั้นได้สูง และเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงกว่าถ้าเทียบกับหุ้นในชั่วโมงนี้  

 

สอดคล้องกับที่ อภิชาต  ลักษณะสิริศักดิ์  ผู้จัดการทั่วไป บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.)ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” เรื่อง “ทองคำ” ในฐานะอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด ที่คลุกคลีอยู่ในวงการสินค้าโภคภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทองคำ เหล็ก น้ำตาล มานานนับปี

-ถือทองคำไว้เสี่ยงน้อย

นายอภิชาตมองว่า “ทองคำ” มีมูลค่าในตัวเอง  ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปร่างหรือดัดแปลง ในสมัยก่อนเมื่อ 40 -50 ปีที่แล้วราคาทองคำมีมูลค่าน้อยกว่า  500 บาท  ปัจจุบันราคาทอง 1 บาทมีมูลค่ามากกว่า  25,000 บาท (ราคาทองคำในบ้านเรา ต้องใช้การคำนวณจาก ราคาทองคำในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)

“ทองคำ” เป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก แม้แต่ในยามศึกสงครามภายในของแต่ละประเทศหรือระดับโลก การถือทองคำไว้มีค่ามากกว่าถือเงินตราสกุลต่างๆ

5 เหตุผลดัน“ทองคำ”พุ่งแน่ 30,000 บาท

จีนและอินเดียก็มีวัฒนธรรมอันยาวนานที่จะซื้อทองคำสะสมไว้ จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังคงมีวัฒนธรรมดังกล่าวอยู่ รวมถึงแบงก์ชาติต่างๆทั่วโลกก็ถือทองคำไว้เป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองระหว่างประเทศ ทองคำ ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย

 

 

-มั่นใจราคาไต่ถึง 3หมื่นบาท

นายอภิชาต  มองว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคาทองคำ 1 บาทจะไต่ระดับขึ้นไปถึง 30,000 บาทในระยะ  1-2  ปีนับจากนี้ไป  มีเหตุผลหลายอย่างที่สนับสนุนราคาทองคำสูงขึ้นอย่างน้อย เหตุผลไล่ตั้งแต่

 

1. อัตราดอกเบี้ยในตลาดทั่วโลกมีอัตราที่ต่ำมาก ในบางประเทศ การฝากเงินมีอัตราดอกเบี้ยติดลบตัวอย่างเช่น ธนาคารในประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก นักลงทุนจึงต้องหาแหล่งตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ย แต่มีความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ปัจจุบันการลงทุนในตลาดหุ้นก็ค่อนข้างเสี่ยงเกินไป ในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ จากการระบาดของไวรัสโดวิด-19 และ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา

กราฟ:ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

5 เหตุผลดัน“ทองคำ”พุ่งแน่ 30,000 บาท

 

กราฟ: US Federal Fund Rate (ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2563 อยู่ที่อัตรา .08%)

5 เหตุผลดัน“ทองคำ”พุ่งแน่ 30,000 บาท

 

2.  สหรัฐอเมริกามีหนี้สินที่มากมายในปัจจุบัน และความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าหลักๆของโลก เช่น น้ำมัน ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เช่น  จีนมีการซื้อน้ำมันจากประเทศคู่ค้าโดยใช้สกุลเงินหยวนในการซื้อขาย

 

ดังนั้นความต้องการและการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ค่อนค้างมีความเสี่ยงในระยะยาวที่จะด้อยค่าลง ทำให้การถือครองทองคำก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ลดความเสี่ยงลงได้

 

“ในมุมมองผม ทองคำก็เปรียบเสมือนค่าเงินหนึ่งสกุล ซึ่งทุกประเทศยอมรับ และแบงค์ชาติส่วนใหญ่ของทั้งโลกก็ถือทองคำเป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองระหว่างประเทศ”

กราฟ:หนี้สินของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

5 เหตุผลดัน“ทองคำ”พุ่งแน่ 30,000 บาท

3.  แบงค์ชาติของทั้งโลก และประเทศหลักๆ เช่น จีน อินเดีย และรัสเซีย ก็เริ่มสะสมทองคำเพิ่มมากขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

  

กราฟ:การถือครองทองคำของแบงค์ชาติทั่วโลก

5 เหตุผลดัน“ทองคำ”พุ่งแน่ 30,000 บาท

กราฟ:การถือครองทองคำของแบงค์ชาติ จีน อินเดีย และ รัสเซีย

5 เหตุผลดัน“ทองคำ”พุ่งแน่ 30,000 บาท

4.  ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามหรือความไม่สงบในระดับโลกก็เริ่มมีมากขึ้น ตัวอย่าง เช่น การเกิดสงครามในกัมพูชาเมื่อหลายสิบปีก่อน ค่าเงินของกัมพูชาไม่มีความหมายในขณะนั้น ทองคำเท่านั้นที่รักษามูลค่าและสามารถแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินอื่นๆหรือสินค้าและบริการต่างๆได้

5.  ต้นทุนการขายทองคำ (Cost of sale) อยู่ที่ประมาณ 1,000 – 1,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เมื่อเปรียบเทียบกับราคา ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ 1,710.45 USD/Ounce (London Fix Price, PM) ก็ไม่ได้สูงกว่าต้นทุนมากนัก  ก็มีโอกาสที่ราคาทองคำจะอยู่สูงกว่าต้นทุนประมาณ 100 % ที่ราคา 2,000 - 2,200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ก็เป็นไปได้  ราคาสินค้าโภคพันธ์หลักๆในโลกนี้ที่จะมีราคาขายมากกว่าต้นทุนการผลิตถึง 100% มีให้เห็นบ่อย

 

 ตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันที่เคยขึ้นไปมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ก็มีให้เห็นหลายรอบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งโลกไม่เกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล

โดยสรุปแล้วเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในการถือครองทองคำ ที่สามารถรักษามูลค่าของตนเองไว้ และเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่องใน 50 ปีที่ผ่านมา และในปัจจุบันสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะมีความน่าเชื่อถือน้อยลง การลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆก็มีความเสี่ยงมากขึ้น  การฝากเงินในธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยที่น้อยมาก   น่าจะเป็นจุดที่ราคาทองคำ จะไปได้ไกลจนถึง 30,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ (คิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ภายในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้