“สิ่งมหัศจรรย์ทั้ง7”ของเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐและตลาดการเงินปี 2020

20 มิ.ย. 2563 | 00:30 น.

“This time is different” ดูจะเป็นคำกล่าวอมตะสำหรับวิกฤติเศรษฐกิจแทบทุกครั้งไม่ยกเว้นครั้งนี้ เพราะจนถึงปัจจุบัน นักวิเคราะห์ทั่วโลก ก็ยังไม่สามารถหาตัวเทียบเคียงผลกระทบจากวิกฤติโคโรนาไวรัส ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและตลาดการเงินได้จริง

ยิ่งไปกว่านั้น “ความต่าง” ในรอบนี้ ก็ดูจะมีมากกว่าที่เราเคยเรียนในวิชาเศรษฐศาสตร์หรือการเงินอยู่อย่างมาก ผมจึงนำสิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น “7เรื่อง” ในฝั่งสหรัฐมาสรุปให้ทุกคนฟัง เพื่อจะได้เข้าใจตลาดหลังวิกฤติ และจะได้ช่วยกันมองหาอนาคตไปพร้อมกัน

(1)เศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นแรง แต่ก็สั้นมาก แม้สำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐ (NBER)จะกำหนดให้เศรษฐกิจเข้าภาวะถดถอยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์  ซึ่งก่อนวิกฤติจริงเล็กน้อย แต่จากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานลดลงเกินกว่า 10% ในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด ก็เห็นได้ชัดว่า สหรัฐพ้นจากภาวะถดถอยไปแล้ว หมายความว่า เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กินเวลาสั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา 

(2) เศรษฐกิจถดถอย แต่ความเชื่อมั่นในอนาคตกลับไม่ลดลง วัดได้จาก Conference Board’s Consumer Expectation ที่ย่อตัวลงเพียงเล็กน้อยในเดือนมีนาคม หลังจากนั้นก็เพิ่มกลับขึ้นมาโดยตลอด แปลว่า แม้จะตกงาน แต่ก็ยังมองอนาคตว่าสดใส

“สิ่งมหัศจรรย์ทั้ง7”ของเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐและตลาดการเงินปี 2020

(3) เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินในประเป๋าของประชาชนกลับเพิ่มขึ้น นี่อาจเป็นเหตุผลของความมหัศจรรย์หลายอย่างเมื่อรายได้เฉลี่ยของชาวสหรัฐปรับตัวขึ้นราว 7.2% จากช่วงก่อนวิกฤติ แน่นอนว่า เป็นผลจากนโยบายช่วยเหลือของทางการ เงินที่เพิ่มกลับไม่ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัวขึ้น แต่เป็นการออมที่สูงขึ้น แตกต่างอย่างมากจากทุกครั้งที่เคยพบมา

(4) ดอกเบี้ยตํ่าที่สุด แต่ตราสารหนี้ขายได้มากกว่าปกติ และความเสี่ยงส่วนเพิ่มจากเครดิตก็ลดลงเร็วเหลือเชื่อ ซึ่งในอดีตไม่มีวิกฤติครั้งไหนเลยที่ปริมาณการออกบอนด์ทั้งในฝั่ง Investment Grade และ High Yield จะเพิ่มสูงขึ้นได้ทันที แต่ในครั้งนี้ปริมาณตราสารหนี้ออกใหม่และขายได้ช่วงวิกฤติกลับมีมากกว่าก่อนหน้าถึง 2 เท่า ทำให้ความเสี่ยงส่วนเพิ่มจากเครดิตลดลง

(5) นักลงทุนสถาบันที่ถือหุ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับในอดีต จากแหล่งข้อมูลของหลายวาณิชธนกิจในสหรัฐ พบว่า ปริมาณหุ้นที่นักลงทุนสถาบันถือ อยู่ในระดับเพียงเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 10 ของปรกติ และส่วนใหญ่เป็นการคงการลงทุนไว้ในหุ้นเติบโตขนาดใหญ่ แทบจะไม่มีการกลับเข้ามาซื้อเลยทั้งในช่วงที่ตลาดปรับตัวลงหรือขึ้นที่ผ่านมา

(6) แต่นักลงทุนรายย่อยกลับเข้าตลาดมากที่สุดในทศวรรษ วิกฤติครั้งนี้ทำให้นักลงทุนรายย่อย (ที่อาจว่างอยู่บ้าน) กลับขึ้นมาเป็นผู้ซื้อหลักในหุ้นแทบทุกกลุ่มส่งผลให้ตลาดฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

(7) ระดับเงินสดในอุตสาหกรรมการเงิน เริ่มลดลงในช่วงที่ตลาดฟื้นตัวกลับมาในระดับเดียวกับก่อนวิกฤติ แต่ครั้งนี้การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (Money Market) กลับเพิ่มขึ้นจาก 3.8 ล้านล้านดอลลาร์มาที่ 5 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงที่หุ้นปรับตัวขึ้น 

ถ้าจะให้มองต่อว่า เรื่องมหัศจรรย์อะไรจะเกิดขึ้นต่อ ก็ต้องพยายามเข้าใจเหตุผลของความต่างทั้งหมดก่อน

ในฝั่งเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่า ประเด็นหลักคือนโยบายช่วยเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าครั้งไหนในประวัติศาสตร์ ขณะที่บริษัทใหญ่ ก็ดูจะมีความสามารถในการปรับตัวเข้าสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

แต่ในฝั่งของมุมมองนักลงทุน กลับคล้ายกับอาการ “เมาสภาพคล่อง” และอารมณ์ตลาดดูจะใกล้กับวิกฤติ Dot Com ปี 2000 มากที่สุด เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยดูจะมีความหวังและมีความเพลิดเพลินในการเก็งกำไรในหุ้นมาก 

ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ในอนาคตเราจะได้เห็นการเคลื่อนย้ายของเงินลงทุนจาก “ของที่ทุกคนมี” อย่างบอนด์และหุ้นเติบโตสูง ไปสู่ “ของที่ไม่มีใครมี” อย่างหุ้นมูลค่าหรือตลาดเกิดใหม่จนเศรษฐกิจอาจกลับมาฟื้นตัวเร็วอย่างที่ใครก็ไม่คาดคิดได้เหมือนกัน

ทางที่ดีคือ “อย่ากลัวหรือกล้ามากเกินไป” เพราะตลาดการเงินครั้งนี้มีเรื่องมหัศจรรย์รออยู่อีกมากมายแน่นอนครับ 

 

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์

โดย: จิติพล พฤกษาเมธานันท์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563