สู่ยานยนต์ยุคใหม่ ขับเคลื่อนไปด้วยไฟฟ้า(2)

17 มิ.ย. 2563 | 00:00 น.

ครั้งก่อนผมได้เขียนถึงภาพรวมของรถยนต์ไฟฟ้า ในฉบับนี้ จึงขอลงลึกถึงแนวโน้มของต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร 

ความจริงแล้ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ทำให้แบตเตอรี่ชนิด lithium-ion ประเภทที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า มีต้นทุนลดลงมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยลดจากประมาณ 1,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2553 ลงมาเหลือประมาณ 160 เหรียญฯ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2562 คือลดลงเฉลี่ยปีละ 20% ผู้สันทัดกรณีชี้ว่าหากต้นทุนแบตเตอรี่ลดลงถึงระดับ 100 เหรียญฯ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเมื่อใด ก็จะทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าแข่งขันได้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

ดังนั้น ถ้าเราคาดว่าต้นทุนแบตเตอรี่จะลดลงปีละ 20% ต่อไปเหมือนในอดีต ในอีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า เราก็จะได้แบตเตอรี่ที่มีต้นทุนประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และรถยนต์ไฟฟ้าก็จะมีราคาถูกลงมากพอที่จะดึงดูดคนให้หันมาใช้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในแง่มุมความคุ้มค่าทางการเงิน คนจะหันมาเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า BEV เมื่อความแตกต่างระหว่างราคารถยนต์ไฟฟ้า (ที่แพงกว่า) กับราคารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ต้องไม่สูงไปกว่าการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง

กรณีรถส่วนบุคคลในประเทศไทยที่มีอายุใช้งาน 10 ปี วิ่งปีละ 20,000 กิโลเมตร การใช้รถยนต์ไฟฟ้าเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงได้ประมาณ 100,000 บาท รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีราคาสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเงินไม่เกินจำนวนนี้คือ 100,000 บาท จึงจะทำให้การหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีความคุ้มค่าทางการเงิน

ส่วนรถแท็กซี่ไทยที่มีอายุใช้งาน 10 ปี วิ่งปีละ 100,000 กิโลเมตร คงต้องเป็นการเปรียบเทียบระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซหุงต้มหรือ NGV การคำนวณโดยใช้ราคาขายปลีกในปัจจุบันพบว่า รถยนต์ไฟฟ้าแท็กซี่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงได้ประมาณ 10,000 บาทเทียบกับการใช้ NGV และประหยัดได้ประมาณ 165,000 บาทเทียบกับการใช้ก๊าซหุงต้ม

ถ้าราคารถ BEV ในประเทศไทยสามารถลดลงได้ปีละ 20% เหมือนกับการลดต้นทุนแบตเตอรี่ ในอีก 3 ปีข้างหน้า รถ BEV ก็จะขายในราคาไม่น่าจะเกิน 1 ล้านบาท และอาจจะแพงกว่าราคารถยนต์ที่ใช้น้ำมันอยู่ไม่เกิน 200,000 บาท ในระหว่างนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีก็อาจทำให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เวลาเติมไฟเต็มหม้อไม่เกิน 1 ชั่วโมง เติมทีหนึ่งวิ่งรถไปได้ไกลถึงอย่างน้อย 400 กิโลเมตร และสถานีเติมไฟก็มีมากขึ้นทั้งในและนอกกรุงเทพฯ

สู่ยานยนต์ยุคใหม่ ขับเคลื่อนไปด้วยไฟฟ้า(2)

เงื่อนไขเหล่านี้จะจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ รถแท็กซี่น่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เพราะ BEV สามารถวิ่งใช้งานได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยไม่ต้องหยุดซ่อมบำรุงมากนัก ในเวลาต่อมา ผู้ใช้รถส่วนตัวและรถประเภทอื่นๆ ก็น่าจะทยอยหันไปใช้รถ BEV กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้ม
สูงขึ้นอีก

เกือบลืมบอกไปว่า รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 น้อยกว่ามาก เพราะฉะนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ เราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานด้านการขนส่งที่ทั้งประหยัดเงินของผู้ใช้รถ และมีผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

สู่ยานยนต์ยุคใหม่ ขับเคลื่อนไปด้วยไฟฟ้า(1)

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,583 วันที่ 14 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563