“คลายล็อค" เฟส 4 ผลดีต่อเศรษฐกิจ

14 มิ.ย. 2563 | 03:00 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3583 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-17 มิ.ย.63 โดย... ว.เชิงดอย

“คลายล็อค เฟส 4” ผลดีต่อเศรษฐกิจ

 

          +++ น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภายในประเทศไทย ปลอดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโรคไวรัสโควิด-19 ติดต่อกันมาร่วม 20 วัน ตัวเลขที่รายงานว่ายังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ ก็ล้วนเป็นคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 11 มิถุนาย 2563 ที่ผ่านมา พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในประเทศไทย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,125 ราย เป็นผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 681 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย มีผู้รักษาหายเพิ่มขึ้น 6 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 2,987 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 80 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย

          +++ “หมอพรรณประภา” บอกว่า ผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งหมด 60 ราย เป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และเข้าพักใน State Quarantine โดยกลับมาจากประเทศคูเวตมากสุด 28 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 10 ราย ซาอุดิอาระเบีย 7 ราย อินเดีย 3 ราย ปากีสถาน 3 ราย ตุรกี 2 ราย รัสเซีย 2 ราย กาตาร์ 2 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย และเนเธอร์แลนด์ 1 ราย แต่แม้จะไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น ก็ยังต้องขอให้ประชาชนคำนึงถึงหลักสุขอนามัย หากจะออกจากบ้านไปยังที่สาธารณะต้องสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพราะจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อลงได้ ถึง 50% นอกจากนี้ควรพกเจลแอลกอฮอล์ไว้ล้างมือ และรักษาระยะห่าง เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ

          +++ ผลพวงจาก “ประเทศไทย” ปลอดผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 ที่มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอให้มีการยกเลิก “เคอร์ฟิว” หลังจากผ่อนคลายมาตการเป็นระยะ ซึ่งประชาชนก็ให้ความร่วมมือด้วยดี และนำไปสู่การ “คลายล็อค เฟส 4” ที่จะทำมีการผ่อนคลายให้มากที่สุด ผ่อนคลายเกือบทั้งหมด... “ว.เชิงดอย” เชื่อว่าหากผ่อนคลายให้เกือบกลับสู่ภาวะปกติ น่าจะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ผลดีต่อคนที่ตกงาน ได้มีโอกาสมีงานทำ

          +++ จากเรื่อง “โควิด-19” หันไปดูเรื่องการเมือง เป็นปัญหาภายในพรรค “ประชาธิปัตย์” เป็น “คลื่นใต้น้ำ” ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นแบบนี้มาเป็นระยะๆ ไม่หยุดหย่อน เพราะล่าสุดมีกระแสข่าวว่า  กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) จะล่ารายชื่อเพื่อเสนอให้เปลี่ยนตัวกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ที่มีมุดหมายไปที่ตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” ที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นั่งเก้าอี้อยู่ และหากมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคสำเร็จ การ “เขย่าเก้าอี้ รมต.” ภายในพรรคก็น่าจะตามมา เหมือนกับ “พลังประชารัฐ” ที่เจอปัญหาอยู่ในขณะนี้นั่นเอง

          +++ แต่ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอีกครั้งระลอกนี้ ก็น่าจะ “แป๊ก” อีกตาม เมื่อ “นายหัวชวน” ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และที่ปรึกษาพรรคไม่เล่นด้วย “ไม่อยากให้สร้างปัญหา อย่าทำให้พรรคเสียหาย ไม่ชอบใครก็เป็นเรื่องส่วนตัว ต้องคิดถึงชาวบ้านที่เลือกมาด้วย เขาไม่อยากเห็นความขัดแย้ง พรรคประชาธิปัตย์มีเรื่องแบบนี้มาเยอะ เช่น เหตุการณ์ 10 มกรา บทเรียนเหล่านั้นทำให้พรรคกระทบ และก็ทำให้ผลในการเลือกตั้งต่อมาเสียหาย ดังนั้น บทเรียนในอดีตควรเป็นข้อคิดเตือนใจของคนที่อยู่ในพรรค ส่วนคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยพรรคอย่างเช่นพวกผม ก็เป็นหนี้บุญคุณพรรค ฉะนั้น อะไรที่ทำให้พรรคเสียหายก็ต้องระวัง สมาชิกทุกคนต้องคำนึงถึงชาวบ้านที่เลือกเรามา อย่าให้เขารู้สึกว่าเลือกเรามาเพื่อขัดแย้งกันเอง" เมื่อถูกถาม จุรินทร์ ทำงานได้ดีแล้วใช่หรือไม่ นายชวน ตอบว่า พรรคได้เลือกนายจุรินทร์ แล้ว สมาชิกต้องช่วยกันสนับสนุนการทำงาน แต่หากไม่พอใจสามารถพูดคุย หรือชี้แจงได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

          +++ จากพรรคประชาธิปัตย์ หันไปดูปัญหาของคนในพรรค “พลังประชารัฐ” ที่มี “คดี” ติดตัว “จอมกร่าง” ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ ต้องยกให้เขาคนนี้ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. เขตหลักสี่ เพราะไป “ซ่า-กร่าง” ที่ภูเก็ต จนกลายเป็นคำร้องอยู่ในมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่จะมีการ “พิพากษา” ในวันที่ 1 กรากฎาคม 2563 นี้ โดยมี “เก้าอี้ ส.ส.” เป็นเดิมพัน

          +++ คำร้องนี้เกิดจาก ส.ส. 57 คน เข้าชื่อกันยื่นเรื่องผ่าน ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกสภาพความเป็นส.ส.ของ สิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185(1) หรือไม่ โดยกล่าวหาว่า สิระ ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น ส.ส.กระทำการก้าวก่าย แทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองในการปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ จากกรณีไปแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับ “ตำรวจภูเก็ต”

          +++ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดประเด็นในการวินิจฉัยไว้เพียงประเด็นเดียวคือ พฤติกรรมของ สิระ ถือเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น ส.ส.กระทำการก้าวก่าย แทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองในการปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ หรือไม่ ...รออีกราว 2 สัปดาห์ ก็จะได้รู้กันว่า “จอมกร่าง” จะหาย “ซ่า” หรือไม่