ธุรกิจกลางคืนดีด๊า ลุงตู่ใจดี”เว้นภาษีอ่าง”

13 มิ.ย. 2563 | 09:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3583 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3583 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

ธุรกิจกลางคืนดีด๊า!

ลุงตู่ใจดี”เว้นภาษีอ่าง”

 

          ฮือฮากันทั้งบางเมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะรัฐมนตรีเต็มคณะ มีมติเห็นชอบมาตรการผ่อนปรนมาตรการทางภาษีสรรพสามิต โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

          มติครม.ชุดนี้ ให้มีการยกเว้นการเก็บภาษีธุรกิจสถานบริการที่อยู่ในพิกัดภาษีสรรพสามิต ที่หลากหลายรูปแบบคละเคล้ากันไป โดยให้เว้นการเก็บภาษีสำหรับธุรกิจกลางคืน ผับ บาร์ ร้านอาหารที่จำหน่ายสุรา ธุรกิจอาบอบนวด สนามม้า สนามกอล์ฟ เริ่มตั้งแต่กฎหมายมีผลไปจนถึง 30 ก.ย.2563

          ครม.ลุงตู่เห็นว่า กลุ่มธุรกิจกลางคืนได้รับผลกระทบ และถูกสั่งปิดนานสุด จึงต้องช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายให้เจ้าของธุรกิจ แต่มีข้อแม้ว่า เจ้าของธุรกิจจะต้องไม่เลิกจ้างพนักงาน เช่น แคดดี้ เด็กเสิร์ฟ พ่อครัว เพื่อไม่ให้คนตกงานเพิ่ม

          นอกจากนี้ ยังให้เลื่อนเวลาการปรับภาษีบุหรี่ และยาเส้นออกไปอีก 1 ปี จากเดิมมีแผนขึ้นภาษีบุหรี่ราคาซองละไม่เกิน 60 บาท จาก 20% เป็น 40% ในวันที่ 1 ต.ค.2563 โดยให้เลื่อนไปขึ้นภาษีวันที่ 1 ต.ค.2564 แทน รวมถึงการเลื่อนปรับภาษียาเส้นออกไปถึงปีหน้าด้วย เพื่อช่วยเหลือชาวไร่ และผู้ประกอบการยาสูบ

          ขณะเดียวกัน ยังมีการปรับลดภาษีให้กับเครื่องดื่มนวัตกรรมที่มีสัดส่วนผสมน้ำผักและผลไม้ไม่ต่ำกว่า 10% ให้เสียภาษีแค่ 3% รวมถึงให้ปรับลดภาษีรถสามล้อไฟฟ้าลงเหลือ 2% เพื่อลดภาระผู้ประกอบการ และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก

          หลังจากนี้จะต้องมีการส่งเรื่องการลดภาษีให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความก่อนมีการออกกฎหมายบังคับใช้ โดยการปรับลดภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐ สูญเสียการเก็บรายได้ไปบ้าง แต่รัฐบาลมองว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจ หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย

          อันว่าธุรกิจกลางคืนในเมืองไทยนั้นถือเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2563 เว็บไซต์ นสพ. Nikkei Asian Review ของญี่ปุ่นเสนอข่าว “Pandemic dims lights on Thailand’s$5bn nightlife sector” โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าเศรษฐกิจกลางคืนของไทยตกประมาณปีละ 1.8 แสนล้านบาท

          ขณะที่ South China Morning Post ของฮ่องกง และสำนักข่าว AFP ของฝรั่งเศส เคยเสนอข่าว “Desperate Thai sex workers like “Pim” risk COVID-19 death just to pay rent” อ้างข้อมูลจาก มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งทำงานด้านสิทธิของผู้ขายบริการทางเพศรวมถึงแรงงานในสถานบันเทิงยามค่ำคืนในไทย พบว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจสถานบันเทิงยามค่ำคืนของไทยนั้นสูงถึง 2.1 แสนล้านบาทต่อปี

          การเว้นภาษีกลางคืนจึงสร้างความฮือฮาในวงกว้าง..ด้วยประการฉะนี้

          ผมจำแนกให้เห็นภาพของการเว้นการเก็บภาษี ดังนี้ เอาภาษีบุหรีก่อน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ครม.เคยมีมติขยายเวลาการขึ้นภาษีบุหรี่สรรพสามิตรจาก 20% เป็น 40% จากเดิมที่จะเก็บในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ไปเป็น 1 ตุลาคม 2563 มารอบหนึ่งแล้ว มาถึงตอนนี้ขยายออกไปอีก 1 ปี ตอนนั้นก็อ้างว่า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกใบยา และ ผู้ประกอบการบุหรี่ทั้งหมดกส่า 1 แสนคน

          ตอนนั้น โรงงานยาสูบ ประเมินว่าการเก็บภาษีแบบใหม่จะทำให้บุหรี่ที่ขายราคาต่ำสุดปัจจุบันที่ 60 บาทต่อซอง ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 80-90% ของตลาด หากปรับภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 40% จะทำให้ราคาขึ้นไปอยู่ที่ 93-100 บาทต่อซอง 

          สะท้อนว่าการเก็บภาษีบุหรี่นั้น ถือเป็นของแสลงของรัฐบาลจึงต้องขยายเวลาออกไปร่วม 2 ปี

          ถามว่าภาษีก้อนนี้ปีละเท่าไหร่ไปดูข้อมูลของสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต พบว่าปี 2561 ยอดรวมการจัดเก็บภาษียาสูบได้จริง 71,009  ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 จัดเก็บภาษียาสูบได้ 66,535  ล้านบาท

          ขณะที่กระทรวงสาธารณะสุขบอกว่า ตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เท่ากับ 74,884 ล้านบาท การเว้นการเก็บภาษียาสูบในอัตราใหม่ผู้ประกอบการจึงมีแต่ได้

          คราวนี้มาดูสถานบริการเต้นรำ และกินดื่ม ประเภทไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ-บาร์ สวนอาหาร นั้นปัจจุบันกำหนดเก็บภาษี 10% ของรายได้ เช่นเดียวกับธุรกิจสวนอาหาร และผับ บาร์บางแห่งที่อ้างว่าไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษี เพราะไม่มีฟลอร์เต้นรำหากนักเที่ยวเต้นรำบริเวณโต๊ะ หรือรอบโต๊ะ ก็ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตตามคำตัดสินของศาลในกรณีซานติก้าผับ

          ในแต่ละปีการเก็บภาษีสถานบริการเต้นรำและกินดื่มไม่มาก แค่ปีละ 100 ล้านบาท เท่านั้น เพราะธุรกิจนี้มีช่องโหว่ในการจัดเก็บอย่างมาก แม้จะมีการขู่ว่าจะตั้งทีมตรวจมาเป็นระยะ แต่เบี้ยใบ้รายทางที่ตกหล่นแก่เจ้าหน้าที่มีมากกว่าการเก็บภาษีเข้าหลวง

          ภาษีน้ำหวานหรือ เครื่องดื่มนวัตกรรมที่มีสัดส่วนผสมน้ำผักและผลไม้ ในแต่ละกรมสรรพสามิตเก็บภาษีได้ 2,000-3,000 ล้านบาท มีการประเมินว่าเมื่อมีการเก็บภาษีใหม่ที่จะบังคับใช้จะทำให้จัดเก็บภาษี เพิ่มขึ้นอีก 1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้รวมทั้งสิ้น 3,500-4,500 ล้านบาทต่อปี 

          แต่ที่ฮือฮากันมาก คือการเว้นการเก็บภาษีอาบอบนวดออกไปถึงกันยายน 2563

          ธุรกิจอาบอบนวดนั้นถือเป็น “ธุรกิจสีเทา” ที่ตกเป็น “จำเลยสังคม” และธุรกิจนี้กระจายอยู่ทั่วเมืองไทยกว่า 2,000 แห่ง เชื่อหรือไม่แต่ละปีมีการจ่ายภาษีสรรพสามิตเข้าหลวงแค่หลัก 130-150 ล้านบาทเท่านั้น

          ปัจจุบันการเก็บภาษีสรรพสามิตมีอัตราแค่ร้อยละ 10 และมีการเก็บภาษีเพิ่มเป็น On Top ให้กระทรวงมหาดไทย ในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต วิธีเก็บจะคิดจากรายรับของการให้บริการอาบน้ำหรืออบตัว และนวด

          ต่อมามีการแก้ไข พรบ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 ทำให้สถานอาบอบนวด ถูกคิดจากอัตราการอาบน้ำหน่วยละ 1,000 บาทต่อรอบ ไนต์คลับ 3,000 บาทต่อตารางเมตร

          แต่จนบัดนี้ยังมีข้อบกพร่องในการเสียภาษีเป็นรอบอยู่มาก และไม่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นแม้แต่น้อย จากธุรกิจสีเทา

          เคยมีการศึกษาสถิติของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2547-2556 พบว่ามีสถานอาบอบนวดเพิ่มขึ้นจาก 390 เป็น 527 แห่งทั่ว 50 เขตของกรุงเทพมหานคร หรือเพิ่มขึ้น 35% หรือปีละ 3.4%

          หากนับถึงปัจจุบัน น่าจะมีสถานอาบอบนวดตามอัตราการเติบโตนี้อยู่ที่ราว 602 แห่งแล้ว และหากรวมทั้งในเขตปริมณฑล เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ และอื่นๆ อาจจะมีราว 1,000 แห่งถ้านับรวบสถานที่นวดที่ผิดกฎหมายไม่มีใบอนุญาต อาจมีรวมกันกว่า 2,000 แห่ง

          สถานประกอบการอาบอบนวดแห่งหนึ่งมีผู้ให้บริการ 50-200 คน รวมผู้ให้บริการประมาณ 50,000 คน หากสมมติให้รายได้จากการนวดเป็นเงินคนละ 1,500-2,500 บาท คนหนึ่งทำงาน  2-3 รอบต่อวัน ก็จะตกวันละ 3,000- 4,500-5,000บาท ธุรกิจนี้จะมีมูลค่าในช่วง 36,900-82,125-92,000 ล้านบาทต่อปี

          แต่ผลการศึกษาล่าสุดในรอบ 10 ปี พบว่าเจ้าของสถานที่น่าได้ประมาณ 50% ของสถานที่หรือราว 41,062  ล้านบาท แต่ต้องจ่ายส่วยหรือให้บริการแก่ "คนมีสี" ประมาณ 30% ตกเป็นเงินราว 12,318  ล้านบาท

          ทว่าการจัดเก็บภาษีสถานอาบอบนวดได้ทั่วประเทศแค่เดือนละ 10.22 ล้านบาท ปีละ  122-130 ล้านบาท เงินกว่าหมื่นล้านบาทล้วนหายไปอยู่ในมือของกลุ่มเจ้าหน้าที่และข้าราชการนอกระบบ

          หากมีการเสียภาษีถูกต้อง เงินเหล่านี้น่าจะนำมารณรงค์การไม่เที่ยวผู้หญิง/ผู้ชาย รักษาพยาบาลและป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ได้ไม่น้อย แต่รัฐบาลลุงตู่กลับมีมติมาช่วยธุรกิจอาบอบนวด...555

          ชอบหรือไม่ชอบ...ครับคุณผู้ชาย!