เงินหยวนดิจิตัล อาวุธเศรษฐกิจใหม่ของจีน (2)

13 มิ.ย. 2563 | 00:30 น.

 

คอลัมน์มังกรกระพือปีก

โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,583 หน้า 5 วันที่ 14 - 17 มิถุนายน 2563

 

 

เหมือนหรือต่างจากเงินคริปโตอื่นอย่างไร

ผู้คนจำนวนมากต่างสงสัยกันมากว่าเงินหยวนดิจิตัล มีความแตกต่างจากสกุลเงินดิจิตัลอื่นอย่างไร ผมขอบอกว่าเงินหยวนดิจิตัลมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากเงินดิจิตัลอื่นในหลายส่วน 

ประการแรก แม้ว่าเงินหยวนดิจิตัลยังคงกลิ่นอายของเงินคริปโต หรือ เงินดิจิตัลที่มีความปลอดภัยสูงกว่าเงินสด แต่ในด้านการจัดการก็แตกต่างกันอยู่มาก ซึ่งสะท้อนถึงความต่างขั้วของหลักการและแนวคิดพื้นฐาน ที่ซ่อนอยู่ในระบอบสังคมนิยมและทุนนิยม ดังที่เราเคยเห็นในกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างนิคมไฮเทค การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และอื่นๆ 

กล่าวคือ เงินหยวนดิจิตัลในขั้วหนึ่งยึดโยงกับภาครัฐ การรวมศูนย์อำนาจ และการควบคุม ขณะที่เงินดิจิตัลอื่นในอีกขั้วหนึ่งอิงบทบาทของภาคเอกชน การกระจาย อำนาจ และความเป็นอิสระ 

ประการที่สอง ประเด็นการสร้างความน่าเชื่อถือ เงินหยวนดิจิตัลถูกสร้างและรับประกันค่าเงินโดยแบงก์ชาติจีน และผูกไว้กับเงินหยวน หรือเหรินหมินปี้ (Renminbi: RMB) ในอัตรา 1:1 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทุกเงินหยวนดิจิตัลจะมีการตั้งสำรองและเก็บรักษาไว้ในบัญชีของธนาคารกลางจีนในจำนวนเท่ากัน ซึ่งเท่ากับว่ามีการคํ้าประกันในมูลค่าที่เท่ากัน ขณะที่เงินดิจิตัลอื่นอาจอิงหรือไม่อิงหลักทรัพย์

นอกจากนี้ เงินหยวนก็ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของแบงก์ชาติจีน และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ รับรองไว้ จึงเท่ากับว่า เงินหยวนดิจิตัลมีทุนสำรองฯ ของจีนอ้างอิงในทางอ้อมอยู่อีกชั้นหนึ่ง ค่าเงินหยวนดิจิตัลจึงมีเสถียรภาพสูงและความผันผวนตํ่าเช่นเดียวกับค่าเงินหยวน

ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาบิตคอยต์ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเงินดิจิตัลเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ถูกอิงไว้กับพลังงาน มิใช่กับสินทรัพย์ หรือ เงินสกุลหลัก การออกแบบจึงใช้หลักการจัดการอุปสงค์และอุปทาน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วยการจำกัดปริมาณอุปทานไว้ที่ไม่เกิน 21 ล้านเหรียญ

ขณะที่ลิบราของค่ายเฟซบุ๊ก (Facebook) ก็ถูกออกแบบให้อิงไว้กับตระกร้าเงิน 4 สกุล ได้แก่ เงินเหรียญสหรัฐฯ เงินยูโร เงินปอนด์อังกฤษ และเงินเหรียญสิงคโปร์ และมีการจัดตั้งสมาคมลิบรา (Libra Association) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์ 

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า ลิบรามุ่งเป้าที่จะพัฒนาเป็นเงินสกุลหลักใหม่ของโลก ที่เปิดให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเข้ามาถือครองในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ คล้ายระบบของสิทธิ์ถอนเงินพิเศษ (Special Drawing Rights: SDRs) ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะทำให้เงินลิบรามีระดับความน่าเชื่อถือสูงมากในเวทีระหว่างประเทศ

ด้วยโครงสร้างและองค์ประกอบที่แตกต่างกันนี่เอง จึงทำให้ระดับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินแต่ละสกุลแตกต่างกันไปด้วย เพราะขณะที่ค่าเงินหยวนดิจิตัลมีเสถียรภาพสูงมาก เงินสกุลอื่นซึ่งอิงกับสภาพตลาด หรือหลักทรัพย์ที่มีราคาแบบลอยตัวจึงน่าจะมีความผันผวนมากกว่าในเชิงเปรียบเทียบ 

 

เงินหยวนดิจิตัล  อาวุธเศรษฐกิจใหม่ของจีน (2)

 

ยกตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวของราคาบิตคอยน์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยในระยะแรกหลังการเปิดตัว ราคาบิตคอยต์เคลื่อนไหวขึ้นลงในวงแคบๆ ไม่เกิน 20 เหรียญสหรัฐฯ แต่เมื่อกระแสโลกดิจิตัลถูกจุดติดในกลางปี 2015 ตลาดนักลงทุนก็ตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้ราคา ต่อหน่วยขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องขึ้นเป็นราว 1,350 เหรียญสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน 2017 และพุ่งทะลุ 13,860 เหรียญสหรัฐฯ ในปลายปี 2017

อย่างไรก็ดี ครั้นเมื่อโลกเผชิญกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และวิกฤติโควิด-19 ราคาบิตคอยต์ ในช่วง 2 ปีหลังก็ผันผวนอย่างมาก ราคาในต้นปี 2019 ดิ่งลงมาอยู่ที่ 3,400 เหรียญสหรัฐฯ ก่อนดีดกลับท่ามกลางความผันผวน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ศกนี้ บิตคอยต์มีราคาราว 9,800 เหรียญสหรัฐฯ 

ประการที่สาม การมีเป้าหมายในระดับระหว่างประเทศ เงินดิจิตัลเกือบทั้งหมดล้วนมุ่งเป้าเวทีระหว่างประเทศทั้งสิ้น แต่อาจมีวัตถุประสงค์ วิธีการ และเป้าหมายที่แตกต่างกัน 

 

 

ยกตัวอย่างเช่น เงินหยวนดิจิตัลถูกออกแบบเพื่อใช้ทดแทนธนบัตรและเหรียญในการชำระเงิน ไม่ใช่เพื่อการลงทุนหรือเก็งกำไร และเพื่อสนับสนุนนโยบายการยกระดับให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล (Yuan Internationalization) ผ่านอุปสงค์การใช้เงินหยวนที่เพิ่มขึ้น เงินหยวนดิจิตัลจึงไม่จำเป็นต้องมีตลาดซื้อขายรองรับแต่ประการใด

ขณะเดียวกัน เงินหยวนดิจิตัลก็ไม่มีอัตราดอกเบี้ยผูกพันไว้ เพื่อช่วยลดปัญหาในการเก็งกำไรและอุปสรรคในการขยายตลาดไปใช้ในต่างประเทศ ขณะที่เงินดิจิตัลอื่น อาทิ บิตคอยต์สร้างกลไกรองรับในด้านผลตอบแทนเพื่อดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ แคนาดา และสหราชอาณาจักร 

ความแตกต่างอีกประการหนึ่งก็คือ เงินหยวนดิจิตัล สามารถใช้จ่ายผ่านแอพกระเป๋าเงินในสมาร์ตโฟนผ่านวีแช็ตเพย์ และอาลีเพย์ โดยไม่ต้องผูกกับบัญชีธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ลิบราเองก็สร้างแอพกระเป๋าตังค์ชื่อโนวี่ (Novi) และเชื่อมกับเมสเซ็นเจอร์ (Messenger) และว็อทซ์แอพ (WhatsApp) เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว แต่เงินดิจิตัลอื่นอาจไม่มีฟังก์ชั่นนี้

ประการถัดมา ความแตกต่างอย่างโดดเด่นของเงินหยวนดิจิตัลเหนือเงินดิจิตัลอื่น ก็ได้แก่ การนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่ลํ้าสมัยมาต่อยอดการพัฒนาและกำกับการใช้งานควบคู่ไปด้วย ซึ่งจีนได้ทดลองใช้เทคโนโลยีนี้กับภาคการเงินในเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen) และหัวเมืองอื่นในพื้นที่เกรตเตอร์เบย์ (Greater Bay Area) มาระยะหนึ่งแล้ว 

เทคโนโลยีดังกล่าวมีฟังก์ชั่นพิเศษ เช่น คริปโตกราฟฟิก (Cryptographic) และสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน และยกระดับให้ระบบสามารถรองรับความเป็นส่วนตัว (Privacy) ได้ดีกว่าของบิตคอยน์ ลิบรา และโมเนโร่เสียอีก 

นอกจากนี้ ระบบใหม่ยังจะสามารถดึงเอาข้อมูลการใช้งานจากเครือข่ายกิจการเอกชนมาพัฒนาเป็นฐานข้อมูลกลางภายใต้การกำกับดูแลของแบ้งค์ชาติจีน ลองจิตนาการดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากแอพกระเป๋าเงินของเอกชนจีนซึ่งลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศถูกนักลงทุนชาติอื่นเข้าเทกโอเวอร์ กลไกและระบบใหม่คาดว่าจะช่วยให้กระแสความห่วงใยในเรื่องความเป็นส่วนตัวลดลงไปได้มาก

 

อย่างไรก็ดี จีนก็มีแรงกดดันที่ต้องสร้างความสมดุลในการป้องกันไม่ให้เงินหยวนดิจิตัลถูกใช้ในทางที่ผิดควบคู่ไปด้วย เช่น การฟอกเงิน การพนันออนไลน์ การหลบหลีกภาษี และการอุดหนุนการก่อการร้าย

นอกจากนี้ หยวนดิจิตัลยังมีระบบสนับสนุนการใช้เงินผ่าน NFC (Near Field Communication) ที่เปิดให้เครื่องมือสามารถสื่อสารระหว่างกันได้เมื่ออยู่ใกล้กัน (ผ่านคลื่นวิทยุระยะสั้น) เหมือนที่เราเห็นในการใช้บัตรเครดิตแตะกับเครื่องรูดบัตรรุ่นใหม่ แถมยังถูกออกแบบให้สามารถประมวลผลการรับจ่ายเงินด้วยความเร็วถึง 300,000 ธุรกรรมต่อวินาที ซึ่งสูงกว่าของเงินดิจิตัลอื่นที่มีอยู่ในท้องตลาดหลายร้อยเท่า 

ระบบสนับสนุนดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้นับพันล้านคนสามารถรับและโอนเงินได้ตลอดเวลาอย่างไม่ติดขัดแม้ในขณะที่สมาร์ตโฟนของผู้ใช้ไม่ได้ออนไลน์อยู่ก็ตาม ซึ่งในประเด็นหลังก็ทำให้เงินหยวนดิจิตัลมีลักษณะพิเศษของมิติความสะดวกเฉกเช่นเดียวกับเงินสด และจะพัฒนาเป็นเงินดิจิตัลที่ได้รับความนิยมในระดับระหว่างประเทศได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น