เงินหยวนดิจิตัล อาวุธเศรษฐกิจใหม่ของจีน (1)

11 มิ.ย. 2563 | 07:02 น.

 

คอลัมน์มังกรกระพือปีก  โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563

++++

เงินหยวนดิจิตัล...ของแท้แห่งยุค

ก่อนอื่น ผมขอทำความเข้าใจก่อนว่า เงินหยวนดิจิตัล “ไม่ใช่” เงินสกุลใหม่อย่างที่หลายคนเข้าใจ รัฐบาลจีนแสดงจุดยืนชัดเจนว่ามิได้ต้องการสร้างเงินสกุลใหม่ แต่ต้องจัดเป็นเงินหยวนในอีก “รูปแบบ” หนึ่งมากกว่า


ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เงินดิจิตัล (Digital Currency) หรือเงินคริปโต (Cryptocurrency) หลายสกุลถูกนำเสนอสู่ตลาดโลก โดยมีกิจการเอกชนของชาติตะวันตกเป็นแกนหลักในการดำเนินการ อาทิ บิตคอยน์ (Bitcoin) ริพเพิ้ล (Ripple) ไลท์คอยน์ (Litecoin) เอเธอร์เรียม (Ethereum) เท็ตเธอร์ (Tether) และโมเนโร่ (Monero) รวมทั้งลิบรา (Libra) ที่โดนวิกฤติโควิด-19 ชะลอการเข้าสู่ตลาดอยู่ 


 รัฐบาลจีนโดยธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Bank of China) ได้เริ่มศึกษาเรื่องนี้นับแต่ปี 2014 และต่อมาในปี 2016 ก็ก่อตั้งสถาบันวิจัยเงินดิจิตัล (Digital Currency Research Institute) ขึ้น

 ในระยะแรก รัฐบาลจีนเรียกเงินหยวนดิจิตัลควบคู่ไปกับระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีชื่อสามัญว่า “การจ่ายเงินดิจิตัลทางอิเล็กทรอนิกส์” (Digital Currency Electro-nic Payment: DCEP) 


 ครั้นเมื่อกระแสเงินดิจิตัลทั่วโลกถาโถมมาแรงขึ้นและเข้าสู่ตลาดจีน จีนก็เริ่มกังวลใจถึงผลกระทบในวงกว้างที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยให้สาธารณชนใช้เงินดิจิตัลที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ในปี 2017 รัฐบาลจีนก็ออกกฎหมายห้ามธุรกรรมการค้าเงินดิจิตัล ห้ามการระดมทุนในรูปเงินดิจิตัลของสตาร์ตอัพ ปิดสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง และงดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่าไม่มีสกุลเงินดิจิตัลของต่างชาติใดดังกล่าวที่ได้รับการยอมรับสถานะทางกฎหมายในจีนแผ่นดินใหญ่


ขณะเดียวกัน แบงก์ชาติจีนก็แต่งตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนสถาบันการเงินหลักและกิจการด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนรวมเกือบหนึ่งพันคน นำโดยนายฉางชุน มู่ (Changchun Mu) ผู้อำนวยการสถาบันฯ ทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการมีเงินหยวนดิจิตัล นับแต่นั้นมา ผู้คนทั่วไปในจีนก็เริ่มใช้คำว่า “เงินหยวนดิจิตัล” กันอย่างแพร่หลาย


ในเดือนมกราคม 2020 จีนได้แถลงข่าวความสำเร็จในการพัฒนาเงินหยวนดิจิตัล ส่งผลให้เงินหยวนดิจิตัลเป็นเพียงเงินดิจิตัลเดียวเท่านั้นที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในจีน โดยสกุลเงินมี 2 ประเภทหลัก อันได้แก่ สำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์เพื่อการค้าชำระเงินในการค้าปลีกและการใช้งานประจำวัน และอีกประเภทหนึ่ง สำหรับใช้ในการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน
                                                        เงินหยวนดิจิตัล อาวุธเศรษฐกิจใหม่ของจีน (1)
 

ล่าสุด ขณะที่โลกกำลังมึนงงและวุ่นวายกับวิกฤติโควิด-19 จีนก็เพิ่มความตื่นตะลึงด้วยการประกาศเดินหน้าทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2020 ทำให้เงินหยวนดิจิตัลเป็นเงินดิจิตัลแรกของโลกที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ส่งผลให้เกิดกระแสความสนใจในเรื่องนี้อย่างมากในจีน จนกระทั่งการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตของคำว่า เงินดิจิตัล เงินคริปโต และเงินหยวนดิจิตัลกลายเป็นคำยอดฮิตในจีนในระยะหลัง

 

การทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัล และแผนงานในอนาคต

รัฐบาลจีนได้ประกาศทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา และจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังเช่นที่เราเห็นในการดำเนินโครงการใหญ่อื่นที่ผ่านมา 
โดยในระยะแรก จีนได้กำหนดให้ 4 เมืองใน 4 ภูมิภาคเป็นจุดนำร่องการใช้เงินหยวนดิจิตัล อันได้แก่ เซินเจิ้น (Shenzhen) ทางตอนใต้ของจีน ซูโจว (Suzhou) ทางซีกตะวันออก (ใกล้กับเซี่ยงไฮ้) เฉิงตู (Chengdu) ด้านซีกตะวันตก และเมืองใหม่ สวงอัน (Xiong’an) ทางตอนเหนือ (ใกล้กรุงปักกิ่ง) 


รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้หัวเหว่ย (Huawei) และกิจการโทรคมนาคมใหญ่ทั้ง 3 ค่ายของจีน อันได้แก่ ไชน่าโมบาย (China Mobile) ไชน่าเทเลคอม (China Telecom) และไชน่ายูนิคอม (China Unicom) เข้าร่วมสนับสนุนโครงการนำร่องในระยะแรก 


ผลการทดสอบในระยะแรกพบว่า ระบบการชำระเงินที่สร้างขึ้นสามารถเชื่อมโยงกับแอพของแบงก์ชาติจีน และสถาบันการเงินหลักของจีน อาทิ แบงก์ออฟไชน่า (Bank of China)ไชน่าคอนสตรักชั่นแบงก์ (China Construction Bank) ธนาคารเพื่อการเกษตรกรรมจีน (Agricultural Bank of China) และธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์จีน (Industrial and Commercial Bank of China) เข้ากับแอพกระเป๋าตังค์ของเอกชนไม่ว่าจะเป็นอาลีเพย์ (AliPay) วีแช็ตเพย์ (WeChat Pay) และแอปเปิ้ลเพย์ (Apple Pay) ที่มีผู้ใช้ในจีนรวมถึงราว 2,000 ล้านบัญชีไดฃ้เป็นอย่างดี
 

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนก็ยังได้รับความร่วมมือจากกิจการจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมท้องถิ่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตไร้คน บริการตู้ส่งสินค้าและพัสดุ ร้านขนมปัง ร้านหนังสือ และสถานที่ออกกำลังกาย รวมทั้งร้านอาหารจานด่วนแบบแฟรนไชส์ของต่างชาติ อาทิ สตาร์บักส์ (Starbucks) แม็คโดนัลส์ (McDonald’s) และซับเวย์ (Subway) ที่ยินดีเข้าร่วมโครงการนำร่องดังกล่าว 


ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลเมืองซูโจวได้ทดลองจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการด้านการเดินทางแก่พนักงานของรัฐในรูปเงินหยวนดิจิตัล ซึ่งเป็นการบังคับให้คนเหล่านี้เป็นต้องทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลไปโดยปริยาย การทดลองใช้ในเมืองสวงอันก็มุ่งเน้นไปที่การค้าปลีกและบริการอาหารนอกสถานที่  หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลในระยะแรกจะกินเวลาระหว่าง 6-12 เดือน ก่อนจะประเมินและขยับสู่เฟสสองที่จีนวางแผนจะขยายพื้นที่นำร่องสู่ปักกิ่ง (Beijing) และจางเจียโคว่ (Zhangjiakou) ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 รวมทั้งเมืองหลักอื่น อาทิ ฮ่องกง นอกจากนี้ ยังคาดว่ารัฐบาลจีนจะขยายธุรกรรมไปควบรวมถึงภาคการขนส่ง การศึกษา และบริการทางการแพทย์