วิกฤติและโอกาส กับบทเรียน 1 ปีรัฐบาล

10 มิ.ย. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3582 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 11-13 มิ.ย.63 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

วิกฤติและโอกาส

กับบทเรียน 1 ปีรัฐบาล

 

          การระบาดทั่วไปของไวรัสโคโรนา เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงปี 2563 โดยพบครั้งแรกที่นครอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 และประกาศให้เป็นโรคระบาดทั่วไป เมื่อ 11 มีนาคม 2563

          สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยรายแรกเมื่อ 12 มกราคม 2563 เป็นหญิงชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่น จากนั้นจึงทะยอยพบผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ ตามมา หากนับเวลาที่ประเทศไทยของเรา ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติของโรคระบาดไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 แล้ว กินเวลาร่วม 5 เดือน และอาจทอดเวลาต่อเนื่องทั้งปี 2563 อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

          ภายใต้สภาวะวิกฤติของโรคระบาดร้ายแรง ที่คุกคามต่อชีวิตมวลมนุษยชาติ ที่โลกยังไม่สามารถค้นพบวัคซีน เพื่อการป้องกันโรคได้ และยังมิอาจค้นพบยาเพื่อการรักษาโดยตรง อัเนื่องจากเป็นโรคระบาดใหม่ ที่วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ยังต้องใช้เวลาในการศึกษาทดลอง แต่ละประเทศจึงต้องใช้ความสามารถที่เป็นลักษณะเฉพาะของตน ในการรับมือเพื่อเอาชนะโรคร้ายนี้

          ประเทศไทยถือว่าโชคดี ที่มีระบบการแพทย์และการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง รวมถึงการมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวนถึง 1,040,000 คน ผู้มีจิตอาสา เสียสละ ช่วยงานและมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพของชุมชน และด้วยการตัดสินใจดำเนินมาตรการที่ถูกต้องของรัฐบาล จึงทำให้ไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้ด้วยดี ได้รับผลสำเร็จเป็นที่ชื่นชมจากทั่วโลก ดังเป็นที่ทราบกัน

          ในวิกฤติย่อมมีโอกาส และเมื่อการเผชิญปัญหาผ่านไป ย่อมทำให้เกิดบทเรียนที่มีคุณค่า อยู่ที่จะศึกษาและเก็บรับบทเรียนอย่างไร สิ่งดีๆ และโอกาสท่ามกลางวิกฤติ ที่รัฐบาลควรมองเห็นและแปรให้เป็นผลประโยชน์ ในทางเศรษฐกิจและมูลค่าทางสังคม เป็นสิ่งที่ไทยจำเป็นต้องคว้าเอามาให้เกิดประโยชน์ ผู้เขียนจึงขอเสนอเพื่อพิจารณา ในการขับเคลื่อนประเทศ ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่

          1. ในยามคับขันและวิกฤติ คนไทยได้แสดงออกถึงความรักสามัคคี ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน โดยมิได้แบ่งแยกชนชั้น หรือความยากดีมีจน ดังปรากฎเป็นรูปธรรม ที่ผู้มีฐานะดีก็บริจาคช่วยเหลือผู้ขาดแคลน, การระดมทุนเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือโดยการแสดงออกผ่าน "ตู้ปันสุข" เมื่อรัฐมีมาตรการใดๆ ทุกคนให้ความเคารพ และปฎิบัติอย่างมีวินัย พร้อมเพรียงกัน นี่คือจิตใจที่ดีงาม และวัฒนธรรม ที่ควรค่าแก่การรักษาและสืบทอด จิตใจที่คนไทยรวมกันเป็นหนึ่ง ฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน

          2. การปิดการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศชั่วคราว ห้ามออกนอกบ้านและเดินทางระหว่างจังหวัด ปิดอุทยาน และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ร่วม 3 เดือน ได้ทำให้สภาพแวดล้อม ชายหาด ท้องทะเล ฟื้นคืนสภาพสวยงามตามธรรมชาติ สัตว์ทะเลที่หาดูยาก ได้กลับมาปรากฎให้เห็น แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งได้คืนความงดงาม สะอาด สัตว์ป่าหายาก กลับคืนมา ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสวยงาม อันเป็นมรดกของการท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่ายิ่งกลับคืนมา ปัญหาอยู่ที่รัฐบาล หน่วยงานที่มีหน้าที่ จะรักษาความงดงามนี้ให้คงไว้อย่างไร จะสร้างวินัยให้กับคนไทยในการมีส่วนร่วมอย่างไร และจะทำให้มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจอย่างไรต่อไป

          3. มาตรการในการรับมือกับโควิด การป้องกันและควบคุมโรค กับความสามารถในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อจากโควิดของไทย มีประสิทธิภาพ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก การแพทย์ไทยมีความน่าเชื่อถือติดอันดับโลก เป็นโอกาสที่จะดึงดูดการลงทุน การเข้ามาพักอาศัยและใช้บริการทางการแพทย์ ของบุคคลที่มีฐานะจากทั่วโลก รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ควรได้รับอานิสงฆ์นี้ด้วย

          4. ความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยปลอดภัย คนไทยมีน้ำใจต่อคนทุกชนชาติ รัฐบาลเอาใจใส่ไม่ทอดทิ้งประชาชน และไทยมีสถาบันพระมหากษัติริย์ ที่สนพระทัยต่อทุกข์สุขของราษฎร ทำให้ไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่น่าอาศัยที่สุดในลำดับต้นๆ ของโลก ย่อมเป็นโอกาสที่ดีแก่การท่องเที่ยว

          5. รัฐบาลได้รับความนิยมสูงเพิ่มขึ้น หลังวิกฤติโควิด พร้อมกับได้รับบทเรียนในการบริหารจัดการปัญหาสำคัญของประเทศ ด้วยการตัดสินใจดำเนินมาตรการที่ถูกต้อง สอดคล้องกับสถานการณ์ ทันเวลา ที่สำคัญคือการเลือกใช้คนที่ถูกต้องเหมาะสมกับงาน และสอดคล้องกับการแก้ปัญหา เป็นบทเรียนสำหรับการเดินหน้าทางการเมืองต่อไป ทำอย่างไรจึงจะได้รับความนิยมที่ดี ประชาชนเชื่อถือศรัทธา ไว้วางใจรัฐบาลเช่นนี้ต่อไป และมีความนิยมสูงยิ่งๆ ขึ้น โมเดลนี้นำมาปรับใช้กับการปรับ ครม.ได้ หากจำเป็น

          6. วิกฤติโควิด ได้ทดสอบสภาพเศรษฐกิจ และสังคมไทย ระบบการปกครองแบบไหน และสภาพสังคมอย่างไร ที่สามารถรับมือกับวิกฤติร้ายแรงเช่นนี้ได้ ลักษณะแบบสังคมไทย ได้ให้คำตอบกับคนทั่วโลกว่า สังคมไทยที่ยึดถือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีภาคการเกษตรที่ผลิตอาหารเป็นพื้นฐาน มีอุตสาหกรรมอาหารที่สามารถเลี้ยงตนเองและชาวโลก กับการเมืองการปกครองแบบไทย ก็สามารถยืนตระหง่านรับมือกับมหันตภัยร้ายแรงได้ พวกที่วุ่นวายถวิลหาการปกครองอื่นๆ ถูกปิดปากเงียบแบบไร้พลัง เพราะยุโรป อเมริกา ต่างโดนพิษโควิดตายเป็นเบือ

          หลังวิกฤติโควิด จึงมีทั้งโอกาสและสิ่งที่ดีๆ เป็นบทเรียนแก่รัฐบาล และแก่สังคมไทย กล่าวเฉพาะรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสรุปบทเรียนและมองเห็นโอกาส ที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศ ให้ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไร ด้วยการแปรวิกฤติให้เป็นโอกาส และใช้โอกาสที่ดีๆ สิ่งดีๆ ที่เป็นต้นทุนของประเทศ ขยายผลต่อยอดให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้หรือไม่ อย่างไร

          จึงเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดต่อแต่นี้ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่รัฐบาลสามารถบริหารแก้ไขปัญหาวิกฤติให้ผ่านพ้นมาได้จนประสบผลสำเร็จนั้น การเมืองต้องไม่มีปัญหาและเป็นอุปสรรคในการทำงาน นักการเมืองต้องไม่ทำตนให้เป็นปัญหา ไม่ทำลายความนิยมและความเชื่อถือของรัฐบาล

          วันนี้รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ควรต่อยอดและเก็บเกี่ยวขยายผลจากความสำเร็จของรัฐบาล ในการรับมือกับวิกฤติโควิด เสริมสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลให้มากยิ่งขึ้น มากกว่าที่จะทำให้ประชาชนร้องยี้ ด้วยการก่อปัญหาแย่งตำแหน่ง หรือทำลายคนดีๆ ที่ทำงานกอบกู้วิกฤติเคียงข้างนายกรัฐมนตรี

          ครบรอบ 1 ปีของรัฐบาล เบื้องหน้าจึงมีทั้งภารกิจที่ยิ่งใหญ่และยากลำบากเพื่อฟื้นฟูประเทศ สร้างชาติบนวิถีชีวิตใหม่ การใช้โอกาสที่ดีของประเทศให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ และเพิ่มมูลค่าแก่สังคม การเมืองภายในพรรคที่ค้ำยันรัฐบาล จึงต้องเก็บรับบทเรียนและปรับตัวสู่วิถีใหม่ ต้องเข้าใจด้วยว่าประชาชน สนับสนุนลุงตู่เป็นนายกฯ เพราะเหตุใด ประชาชนมิได้ต้องการ เห็นการเมืองมารุมทึ้งรุมแทะกัดกินประเทศเหมือนการเมืองในอดีตที่ล้มเหลว

          ผลงานที่ดีรัฐบาลพึงพอใจได้แค่วันเดียว หากตัดสินใจพลาด ความพินาศล้มเหลวจะมาเยือนชั่วข้ามคืน ความดีที่ทำมาย่อมหมดสิ้น