เดินหน้าประเทศไทยสู่เจ้าภาพการประชุมอ่าวเบงกอล

10 มิ.ย. 2563 | 04:55 น.

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,582 หน้า 5 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน 2563

 

ปีหน้า (2021) ประเทศไทยจะได้รับเกียรติอีกครั้งในการเป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ BIMSTEC หรือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นโดยความริเริ่มของประเทศไทยในปี 1997 จนถึงปัจจุบัน BIMSTEC ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 7 ประเทศรอบอ่าวเบงกอล ได้แก่ ไทย เมียนมา บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล ภูฏาน และศรีลังกา 

แน่นอนว่านี้คือเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของประเทศไทย พวกเรามีประวัติศาสตร์ เชื่อมโยง ค้าขาย ถ่ายทอดศาสนา สังคม วัฒนธรรมกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในทางทำเลที่ตั้งเรามีพรมแดนทางบกติดกับเมียนมากว่า 2,401 กิโลเมตร ในขณะที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกที่เราเรียกว่าทะเลอันดามันก็เป็นส่วนหนึ่งของอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งทำให้ไทยมีพรมแดนทางทะเลติดกับอินเดีย และจากเมืองท่า Port Blair ของหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในดินแดนสหภาพของอินเดีย ในเวลาคํ่าในวันที่ท้องฟ้าสดใส แสงไฟที่เรืองรองที่มองจากชายหาดของเมืองท่านี้ไปที่เส้นขอบฟ้าก็คือแสงไฟฟ้าที่เกาะภูเก็ต เรามีพรมแดนที่ใกล้ชิดกันขนาดนี้

ในมิติเศรษฐกิจ BIMSTEC คือตลาดขนาดใหญ่ของประชากรขนาด 1.5 พันล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจที่มีมูลค่ารวมสูงมากกว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง (Emerging Economies) มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่อัตราสูงกว่าร้อยละ 6.5 และนี้คืออีกหนึ่งพื้นที่ที่เป็นโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย เพราะ 

1) มีตลาดขนาดใหญ่ 2) มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ 3) มีทรัพยากรมนุษย์ที่ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ทั้งในมิติปริมาณ และคุณภาพ 4) มีระยะทางที่ไม่ไกลจากประเทศไทยมากจนเกินไป 5) มีความใกล้ชิดกันทางมิติสังคม-วัฒนธรรม ทำให้เรารู้ว่าเขาคิดอะไร กินอะไร เป็นอยู่อย่างไร และจะขายอะไรให้พวกเขาได้ และ 6) เรายังมีข้อตกลงทางการค้าให้ได้ใช้สิทธิประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น Thai-India FTA, ASEAN-India FTA และในอนาคตจะมี BIMSTEC FTA และ RCEP นั่นทำให้ในโลกที่ห่วงโซ่อุปทานจะแยกตัวอย่างชัดเจน (Decoupling) เป็นเอเชีย และอเมริกา ไทยเราคงต้องกระจายความเสี่ยงมองหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่อย่างอ่าวเบงกอลเอาไว้ด้วยความไม่ประมาท

 

เดินหน้าประเทศไทยสู่เจ้าภาพการประชุมอ่าวเบงกอล

 

และในฐานะที่ตัวผมเองและคณาจารย์อีกจำนวนหนึ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายคลังสมอง BIMSTEC Network of Policy Think Tanks เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม VDO Conference ในหัวข้อ BIMSTEC Cooperation in Post COVID-19 ร่วมกับนักวิชาการจากประเทศรอบอ่าวเบงกอลและสำนักเลขาธิการ BIMSTEC สิ่งที่ผมเสนอแนะเพื่อเดินหน้าความสัมพันธ์ของประเทศรอบอ่าวเบงกอล โดยพิจารณาจากงานศึกษาแบบสหสาขาวิชาโดยมองอ่าวเบงกอลจากมิติภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม ทำให้มีข้อเสนอแนะบทบาทของไทยในการเดินหน้า BIMSTEC ดังนี้

 

1. ต้องเดินหน้ากระบวนการบูรณาการภูมิภาคอย่างจริงจัง เพราะนอกจาก BIMSTEC จะเป็นมรดกทางการทูตของไทยแล้ว BIMSTEC ยังเป็นอนาคตทางเศรษฐกิจอีกด้วย เราต้องยืนยันกับประชาคมโลกให้ได้ว่าประเทศรอบอ่าวเบงกอลยังคงเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains: GVCs)

2. เพื่อทำให้ข้อ 1 เป็นจริง ฝ่ายไทยต้องเร่งผลักดันให้การเจรจากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด (Rules of Origin) ภายใต้กรอบการค้าเสรี BIMSTEC สามารถเกิดขึ้นจริงให้ได้ เพื่อทำให้นักธุรกิจ นักลงทุนของเราสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้านี้ได้จริง

3. ต้องให้ความรู้ประชาชนและภาคธุรกิจให้มองเห็นโอกาสทางการค้าการลงทุนจากอ่าวเบงกอล ต้องลบทัศนคติด้านลบที่มองว่าพื้นที่นี้ล้าหลัง ด้อยพัฒนา ขี้โกง ทำธุรกิจด้วยยาก ออกให้หมด เราไม่ต้องการให้จุดด้อยเล็กๆ จากคนบางกลุ่มเพียงไม่กี่คน ทำลายโอกาสของไทยในเวทีนี้

4. ต้องเร่งส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐของไทยและภาคเอกชนของไทยใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือหลากหลายมิติทั้ง 14 ด้านของ BIMSTEC ให้มากที่สุด โดยทั้ง 14 มิติ ประกอบไปด้วย การค้าและการลงทุน, การขนส่งและโทรคมนาคม, พลังงาน, การท่องเที่ยว, เทคโนโลยี, ประมง, เกษตร, สาธารณสุข, การลดความยากจน, การต่อต้านภัยก่อการร้ายและอาชาญกรรมข้ามชาติ, สิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการภัยธรรมชาติ, การสนับสนุนการเชื่อมโยงภาคประชาชน, ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

5. ในระดับประเทศ เราคงต้องมีมุมมองใหม่ ยกระดับให้ BIMSTEC ไม่ใช่กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคอีกต่อไป แต่ต้องเป็นกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่จะเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงประชาคมอาเซียนเข้ากับกลุ่มประเทศในเอเชียใต้ ทั้งนี้เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองของประเทศไทยในการสร้างดุลยภาพในเวทีนานาชาติ

และสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งก็คือ ประเทศไทยโดยการทำงานหนักของ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กำลังจะเตรียมความพร้อมในวาระที่ไทยจะได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมสุดยอดและการประชุมที่เกี่ยวข้องของกรอบ BIMSTEC ในปี 2021 เราเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เพื่อเตรียมความพร้อม แสวงหาและสร้างโอกาสให้ประเทศ ไทยก้าวไกลในอ่าวเบงกอล

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts” ที่ได้รับทุนสนับ สนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)