จีนฟื้นนโยบาย “แบกะดิน”  แก้ปัญหาว่างงานหลังโควิด

11 มิ.ย. 2563 | 03:25 น.

คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร  รองผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์ 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563

 

นโยบายให้ประชาชนสามารถตั้งร้านค้าแผงลอยริมทางได้ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายน กำลังได้รับการตอบสนองอย่างท่วมท้นจากประชาชนทั่วประเทศจีน สำหรับพวกเราที่ประเทศไทย ฟังดูแล้วอาจรู้สึกแปลกใจว่าการตั้งแผงลอยถึงกับต้องประกาศเป็นนโยบายประเทศเลยหรือ ก็คงเป็นเพราะที่ผ่านมารัฐบาลจีนเข้มงวดเรื่องการจัดระเบียบผังเมืองอย่างมาก เมืองหลักๆ ในประเทศจีนเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีมุมอับ อาทิ สลัม คนจรจัด รวมถึงแผงลอย  

นโยบายการตั้งแผงลอยริมทางของจีน ได้รับการตอบรับดีมากจากประชาชน เพราะผลกระทบจากโรคระบาดหยั่งลึกลงไปถึงทุกรากหญ้า มีอัตราคนว่างงานเพิ่มขึ้นถึงระดับ 6% (จากเดิมอยู่ที่ระดับ 4% มาโดยตลอด) อัตราการว่างงานจริงอาจสูงกว่านี้มาก เพราะภาคธุรกิจ SME ที่มีสายป่านสั้นมีสัดส่วนการจ้างงานในประเทศจีนสูงถึง 90% ดังนั้น การให้ประชาชนสามารถตั้งแผงลอยขายของได้เองเป็นการลดภาวะคนตกงาน ราคาสินค้าอาจจะถูกลง และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องเศรษฐกิจคือทำให้เมืองมีชีวิตชีวากลับคืนมา 

 

แบกะดินสร้างงานอย่างน้อย 60 ล้านคน 

นายกหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า ประเทศจีนมีประชาชนราว 600 ล้านคน ที่มีรายได้ไม่เกิน 1,000 หยวนต่อเดือน (หรือประมาณ 4,400 บาท) ทั้งที่ค่าเฉลี่ยรายได้ทั้งประเทศจะสูงกว่านี้เกือบสามเท่าตัว แสดงว่ามีช่องว่างระหว่างผู้มีรายได้ต่ำและสูงกว้างทีเดียว อาจพิจารณาได้จากจำนวน 600 ล้านคนนี้ คิดเป็นสัดส่วนถึงสองในสามของตลาดการจ้างงานทั้งหมดของจีน รายได้ 1,000 หยวนถือว่าต่ำสำหรับค่าครองชีพในเมืองชั้นหนึ่งและชั้นสองส่วนมากของประเทศจีน 

จึงไม่แปลกใจที่ในการประชุมสองสภาฯ ของประเทศจีนที่เพิ่งปิดตัวลงไม่นานนี้ ได้เน้นเรื่องแก้ปัญหาการว่างงานเป็นหลัก มีการกล่าวถึงตัวอย่างเมืองชั้นสองชั้นสามแห่งหนึ่งในภาคตะวันตกของจีน ได้กำหนดให้มีแผงลอย 36,000 แผง และสามารถบรรเทาปัญหาการว่างงานได้ 100,000 คน โดยทันที หากลองคิดคร่าวๆ ว่าประเทศจีนมีเมืองกว่า 600 เมือง นโยบาย “แบกะดิน” นี้อาจเป็นช่องทางช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 60 ล้านคน หรือเท่ากับอัตราการว่างงานทางการของทั้งประเทศจีนทีเดียว 


จีนฟื้นนโยบาย “แบกะดิน”   แก้ปัญหาว่างงานหลังโควิด

นโยบายกระตุ้นการจ้างงาน

รัฐบาลจีนได้กำหนดเม็ดเงินทางด้านการคลังจำนวน 6 ล้านล้านหยวน เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

* การออกพันธบัตรพิเศษวงเงิน 2 ล้านล้านหยวน เพื่อไปลงทุนในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานแนวใหม่ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นหลัก และ

* มาตรการที่เกี่ยวกับการเยียวยาประชาชน อีกประมาณกว่า 4 ล้านล้านหยวน เช่น การลดเงินนำส่งประกันสังคม การเร่งใช้กองทุนประกันการว่างงาน การลดราคาสินค้าของรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะผูกขาด ตลอดจนการให้ธนาคารพาณิชย์สนับสนุนธุรกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายกหลี่ เค่อเฉียง กล่าวไว้ว่า กว่า 70% ของเม็ดเงินข้างต้นจะนำไปใช้เพื่อส่งเสริมรายได้ของประชาชนโดยตรง และไม่เน้นการอัดฉีดเงินเป็นการทั่วไป เพราะอาจนำไปสู่สภาวะเงินเฟ้อในภายหลังได้ เราจะเห็นได้ว่าวงเงิน 6 ล้านล้านหยวนนี้ คิดแล้วเป็นประมาณ 6% ของ GDP ปีที่แล้ว ซึ่งยังต่ำกว่าหลายๆ ประเทศที่เน้นกระตุ้นนโยบายการคลัง (ยังไม่นับนโยบายการเงิน) เกิน 10% ของ GDP 

 

แบกะดิน vs อีคอมเมิรซ์ 

การตอบรับอย่างท่วมท้นต่อนโยบาย “แบกะดิน” ทำให้ชวนคิดว่าทำไมพี่น้องคนจีนถึงตอบรับกับสิ่งนี้ที่เป็นรูปแบบดั้งเดิม ทั้งที่ประเทศจีนมีธุรกิจอีคอมเมิรซ์ ตลอดจน O2O ที่ก้าวล้ำมากแล้ว ทั้งนี้ คงเป็นเพราะประเทศจีนใหญ่มาก การซื้อสินค้าออนไลน์เป็นเพียงส่วนหนึ่ง และอย่างไรก็ตามยังเป็นส่วนน้อยของยอดค้าปลีกทั้งหมด โดยเฉพาะในเมืองชั้นสามชั้นสี่ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่แพลตฟอร์มอย่าง Pinduoduo ใช้เป็นช่องในการเจาะตลาดอีคอมเมิรซ์ โดยบุกจากตลาดชั้นล่างก่อน จนขึ้นมาหายใจรดต้นคอยักษ์ใหญ่ Alibaba 

นอกจากนี้ การเปิดร้านออนไลน์ ยังมีค่าใช้จ่ายการตลาดที่ไม่น้อย ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่เห็นแนวโน้มใหม่นี้ ท้ายที่สุด การตลาด “แบกะดิน” อาจเป็นช่องทางใหม่ของสินค้าไทยที่เข้าสู่ตัวผู้บริโภคจีนโดยตรงได้

 

หมายเหตุ : ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut

 

เกี่ยวกับผู้เขียน - นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารธุรกิจจีน มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสาระสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญโท MBA จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลล่อน สหรัฐอเมริกา