ซ้ำรอยมหันตภัยสิ่งแวดล้อม "น้ำมันรั่ว" ลงแม่น้ำไซบีเรีย

06 มิ.ย. 2563 | 23:45 น.

คอลัมน์หลังกล้องไซบีเรีย : เรื่อง/ภาพ: ยลรดี ธุววงศ์, ภาพ: Nornickel press service

 

          “ทำไมเราถึงเพิ่งรู้ข่าววิฤตครั้งใหญ่ขนาดนี้จากสื่อออนไลน์?”

          ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินถึงกับออกปากดุผู้บริหารบริษัท Norilsk Nickel ผู้ประกอบการเหมืองแร่และโลหะรายใหญ่เสียงเรียบกลางการประชุมที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ หลังจากที่เขาเพิ่งได้รับรายงานเหตุการณ์น้ำมันดีเซลล็อตใหญ่ไม่ต่ำกว่า 20,000 ตันรั่วไหลลงแม่น้ำในไซบีเรีย ผู้นำรัสเซียดูไม่ค่อยพอใจนักหลังจากที่รู้ว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในบริเวณที่เกิดเหตุเองก็เพิ่งรู้เรื่องนี้ 2 วันหลังเกิดเหตุจากการ “บังเอิญ” ไปเห็นภาพถ่ายที่โพสบนโลกออนไลน์อีกที

          วิกฤตครั้งใหญ่ครั้งนี้เกิดขึ้นในเมืองโนริลสค์ เมืองเขตอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของไซบีเรีย เมื่อถังเก็บน้ำมันดีเซลของบริษัท Norilsk Nickel ถังหนึ่งพังทลายลงมา ทำให้น้ำมันรั่วไหลลงแม่น้ำใกล้ๆ ซึ่งปลายทางของแม่น้ำสายนี้จะไหลไปสู่ทะเลคาราของมหาสมุทรอาร์กติก และทำให้ความเข้มข้นของมลพิษในพื้นที่สูงกว่าปริมาณเกณฑ์มลพิษที่รับได้หลายเท่า เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุอาจเป็นเพราะตัวถังถูกใช้งานมานานกว่า 30 ปีแล้ว รวมกับการละลายของชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) จากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อโครงสร้างความแข็งแรงของตัวถังเก็บน้ำมัน

 

ซ้ำรอยมหันตภัยสิ่งแวดล้อม "น้ำมันรั่ว" ลงแม่น้ำไซบีเรีย

          งานนี้เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา ร้อนถึงนายปูตินต้องเร่งมือลงนามคำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการเร่งด่วน ส่งเจ้าหน้าที่นับร้อยชีวิตเข้าไปกู้สถานการณ์ พร้อมย้ำว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศ คาดว่าจะสามารถไล่เก็บน้ำมันที่รั่วไหลลงแม่น้ำได้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ ป้องกันไม่ให้น้ำมันดีเซลไหลลงแม่น้ำสายหลักที่จะขยายอาณาเขตที่เสียหายไปได้ถึงมหาสมุทรอาร์กติก นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์รัสเซีย แต่ก็นับได้ว่าเป็นหนึ่งในวิกฤติน้ำมันรั่วที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์แดนหมีขาวเลยทีเดียว

          ตามหลักการแล้วน้ำมันจะไม่ผสมตัวกันกับน้ำ แต่การเก็บน้ำมันกลับขึ้นมาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เบื้องต้นจะต้องใช้ทุ่นกักน้ำมันกักคราบไว้และใช้เครื่องมือกักเก็บ ส่วนวิธีการขจัดคราบน้ำมันก็ทำได้หลายวิธีเช่นปล่อยให้สลายตัวเองไปตามธรรมชาติหรือใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันเป็นต้น แต่สิ่งสำคัญคือการกักกันน้ำมันไม่ให้ไหลกระจายออกไปในวงกว้างให้มากที่สุด 

          เหตุการณ์น้ำมันรั่วดูผิวเผินเหมือนเป็นวิกฤตที่น่าจะจัดการได้อย่างไม่อยากเย็นนักด้วยเทคโนโลยีต่างๆ แต่ความจริงแล้วอาจส่งผลลัพธ์ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้น สามารถส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาลและอาจไม่สามารถฟื้นฟูธรรมชาติของบริเวณนั้นกลับมาได้เหมือนก่อนอีกเลยก็เป็นได้

          น้ำมันรั่วลงแม่น้ำหรือทะเลเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลก ในไทยก็เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้หลายครั้ง หลายคนอาจยังคุ้นหูกับกรณีน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ดเมื่อปี 2556 ที่ทำเอาชายหาดเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมันสีดำ ทำให้สัตว์ทะเล ทั้งกุ้งหอยปูปลาตายไปนับไม่ถ้วน ส่วนแนวปะการังเกิดการฟอกขาวไปทั้งแถบ แม้ฟื้นฟูมาเป็นปีก็คืนสภาพให้เป็นดังเดิมไม่ได้ 100% 

          เทียบกันแล้ว เหตุการณ์ที่เกาะเสม็ดมีน้ำมันดิบ 50,000 ลิตรไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย แล้วน้ำมันที่ไหลรั่วไปวิกฤตในไซบีเรียครั้งนี้มีมากถึง 20,000 ตัน (20 ล้านลิตร) จะเป็นงานช้างขนาดไหนสำหรับคนทำงาน แล้วยิ่งถ้าจินตนาการต่อไปว่าปริมาณดังกล่าวไหลลงไปสู่มหาสมุทรจะเกิดอะไรขึ้น

          รัฐบาลรัสเซียไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้เลยแม้แต่น้อย บีบให้บริษัทดังกล่าวต้องรีบออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างเร่งด่วน แต่ยังไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะดำเนินคดีต่อผู้บริหารหรือไม่ ส่วนหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลรัสเซียได้เริ่มเตรียมวางแผนฟื้นฟูพื้นที่ไว้บ้างแล้ว คาดว่าการทำความสะอาดคราบน้ำมันในพื้นที่อาจต้องใช้เวลา 5-10 ปี และต้องใช้เงินฟื้นฟูมากถึง 100,000 ล้านรูเบิลหรือเกือบ 50,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

** พบกับ คอลัมน์ “หลังกล้องไซบีเรีย” ทุกวันอาทิตย์ ทุกช่องทางออนไลน์ของ “ฐานเศรษฐกิจ" **
Bio นักเขียน : “ยลรดี ธุววงศ์” อดีตนักข่าวที่ผ่านสนามข่าวทั้งในและต่างประเทศ จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ Spring News ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาโทอยู่ในส่วนที่หนาวเย็นที่สุดของประเทศรัสเซีย