ความหวังเงินกู้ 4 แสนล้าน จะฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่

07 มิ.ย. 2563 | 03:00 น.

บทบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3581 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-10 มิ.ย.2563

 

ความหวังเงินกู้ 4 แสนล้าน

จะฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่

 

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ที่เกิดขึ้น กำลังคลี่คลายลงทุกขณะ ล่าสุด พบไม่มีการติดเชื้อในประเทศติดต่อกัน 11 วัน  ซึ่งกำลังรอลุ้นกันว่าทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) จะประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์ หรือ มาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 4 ใน 12 กิจกรรมได้ภายในเดือนมิถุนายน 2563 นี้หรือไม่

          นับตั้งแต่ดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ที่ส่งผลให้ธุรกิจหลายประเภทต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว ก่อให้เกิดการตกงาน การขาดรายได้  รัฐบาลได้มีมาตรการออกมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ไล่ตั้งแต่โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” รายละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน จำนวน 16 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 2.4 แสนล้าน

          ขณะที่เยียวยาเกษตรกรทั่วประเทศอีก 10 ล้านราย วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และยังมีกลุ่มเปราะบางวงเงินอีก 4.9 หมื่นล้านบาท รวมวงเงิน 4.39 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวนี้ ประเมินกันว่า ยังไม่ได้มาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากนัก แต่เป็นเพียงเม็ดเงินที่ช่วยประคองตัวให้ผู้ได้รับผลกระทบอยู่รอดเท่านั้น

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งสัญญาณให้เห็นถึงเศรษฐกิจไทย ยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ หากไม่เร่งฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวได้ เพราะเวลานี้การบริโภคค่อนข้างต่ำ ไม่มีกำลังซื้อจากการตกงานชั่วคราว การถูกเลิกจ้างงาน ขายของหรือสินค้าไม่ได้ ไม่ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ความหวังที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ คงต้องมารอลุ้นกันว่าเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่จะนำมาใช้ฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจนั้น จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน และเงินที่นำมาใช้นั้นจะตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งต้องมาดูว่าแต่ละแผนงานหรือโครงการที่แต่ละกระทรวงเสนอมาให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสศช. รวบรวมกลั่นกรอง ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน เป็นต้นมา เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563 จะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้หรือไม่

ที่สำคัญวิกฤติครั้งนี้ ถือว่าสาหัสสากรรจ์ มีการประเมินว่าเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่นำมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น คงช่วยประคองตัวไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงไปเท่านั้น แต่จะหวังให้ภาวะเศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิมคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องจักรหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้จะมีเงินอัดฉีดเข้าไปในโครงการไทยเที่ยวไทยในปีนี้ ก็คงจะยังไม่เห็นภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้เต็มรูปแบบ เพราะนักท่องเที่ยวจะมีความระมัดระวังตัวจากการติดไวรัสโควิด-19 มากขึ้น ซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในไทยด้วย 

ถึงวันนี้ คงต้องจับสัญญาณภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ว่า จะออกมาอย่างไร ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะสาหัสกว่าช่วงไตรมาสแรก เพราะเป็นช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง ดังนั้นในช่วงโค้งสุดทายของปีนี้ อาจจะได้เห็นเม็ดเงินก้อนใหญ่อีกก้อนที่จะนำมาใช้อัดฉีดในการฟื้นเศรษฐกิจให้ผงกหัวขึ้นได้บ้าง คงต้องจับตากันต่อไป