ซื้อเก้าอี้ราคาสูง... เพราะไม่ส่ง ประกาศสอบราคา

07 มิ.ย. 2563 | 07:03 น.

 

 

คอลัมน์ อุทาหรณ์ จากคดีปกครอง  โดย  นายปกครอง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,581 หน้า 5 วันที่ 7 - 10 มิถุนายน 2563

 

คดีนี้... ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างต้องอ่านทีเดียวครับ เพราะงานของท่านมีระเบียบขั้นตอนกำหนดไว้อย่างชัดเจน และต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง  มิเช่นนั้นแล้ว... หากมีความเสียหายจากการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ท่านอาจต้องรับผิดตามกฎหมายความรับผิด ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้ครับ...

กฎหมายและระเบียบที่ทางราชการกำหนดไว้ดังกล่าว ล้วนเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ และใช้เป็นหลักเกณฑ์ สำหรับการดำเนินการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งข้อกฎหมายที่จะคุยกันในวันนี้ก็คือ...

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 โดยข้อ 37 กำหนดว่า “ให้เจ้าหน้าที่พัสดุส่งประกาศเผยแพร่การสอบราคาและเอกสารสอบราคาไปยังผู้มีอาชีพขายหรือรับจ้างทำงานนั้นโดยตรง หรือโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กับให้ปิดประกาศเผยแพร่การสอบราคาไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการของหน่วยงานนั้น และต้องดำเนินการดังกล่าวก่อนวันเปิดซองสอบราคาไม่น้อยกว่า 10 วัน”  

การที่กฎหมายกำหนดเช่นนั้น ก็เพื่อให้ผู้มีอาชีพขายหรือรับจ้างทำงานได้เข้าร่วมในการสอบราคาให้มากที่สุด เปิดโอกาสในการแข่งขัน รวมทั้งลดโอกาสในการสมยอมกันในการเสนอราคา ซึ่งจะทำให้หน่วยงานมีโอกาสเลือกผู้เสนอราคาที่ให้ราคาตํ่าและได้พัสดุที่มีคุณภาพตามมาตรฐานนั่นเอง

ประเด็นของคดีที่จะเล่าต่อไปนี้ เหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ข้อ 37 ดังกล่าว เป็นเหตุให้ต้องซื้อเก้าอี้ในราคาสูงกว่าปกติ เมื่อเทียบกับราคาตลาดและเมื่อเทียบกับหน่วยงานของรัฐอื่นที่ซื้อเก้าอี้ในแบบเดียวกัน โดยเป็นกรณีที่ผู้อำนวยการเขตมีคำสั่งมอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายปกครองรับผิดชอบจัดซื้อเก้าอี้พลาสติกแบบมีพนักพิงจำนวน 5,000 ตัว ภายในวงเงิน 750,000 บาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้มอบหมายให้นายเจนภพซึ่งเป็นเจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเป็นผู้ดำเนินการแทน

ในการดำเนินการดังกล่าว สำนักงานเขตได้มีหนังสือส่งประกาศและเอกสารประกอบการสอบราคาไปให้ 3 บริษัท และมีหนังสือปิดประกาศสอบราคาที่สำนักงานเขต ซึ่งในวันที่กำหนดให้เปิดซองสอบราคาปรากฏว่า มีผู้เสนอราคา 3 ราย แต่มีเพียงบริษัทวันดีจำกัดเท่านั้น ที่เสนอราคาถูกต้องตามเงื่อนไขและเป็นราคาตํ่าสุด 

(ส่วนอีก 2 บริษัทได้เสนอราคาสูงกว่าที่กำหนดในวงเงินงบประมาณ และเสนอส่งสินค้าภายใน 15 วัน ซึ่งไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขในประกาศสอบราคาที่กำหนดไว้ 5 วัน)

 

ซื้อเก้าอี้ราคาสูง... เพราะไม่ส่ง ประกาศสอบราคา

 

สำนักงานเขตจึงทำสัญญากับบริษัทดังกล่าวเพื่อซื้อเก้าอี้ในราคาตัวละ 150 บาท เป็นเงิน 750,000 บาท หลังจากนั้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งว่า บริษัทที่ยื่นซองสอบราคาทั้ง 3 ราย เป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกันและราคาที่เสนอขายเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตามปกติ 

 

 

ผู้อำนวยการเขตจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด โดยคณะกรรมการฯเห็นว่า นายเจนภพ และผู้ฟ้องคดีกระทำผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฯโดยจัดซื้อเก้าอี้สูงกว่าราคาซื้อเฉลี่ยของสำนักงานเขตอื่นตัวละ 31 บาท คิดมูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 155,000 บาท ในส่วนของผู้ฟ้องคดี ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ใน 3 ส่วนของมูลค่าความเสียหาย คิดเป็นเงิน 103,333.33 บาท

กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้อง เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้อำนวยการเขตมีคำสั่งมอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชอบการจัดซื้อเก้าอี้พิพาท แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้มอบหมายให้นายเจนภพ เป็นผู้ดำเนินการ แต่ผู้ฟ้องคดีก็ยังมีหน้าที่จัดซื้อพัสดุดังกล่าว โดยต้องดำเนินการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ข้อ 37 ประกอบกับหนังสือสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ที่ กท 0310/2220 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งแจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม โดยให้หน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้างส่งประกาศเผยแพร่การสอบราคา และเอกสารสอบราคาไปยังกองประชาสัมพันธ์และกองทะเบียนทรัพย์สินและพัสดุอีกทางหนึ่งเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และให้มีผู้แข่งขันสอบราคาเพิ่มมากขึ้น

เมื่อสำนักงานเขตได้จัดส่งประกาศเผยแพร่การสอบราคาให้ผู้ประกอบการจำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นการส่งประกาศสอบราคาก่อนวันเปิดซองสอบราคาเพียง 8 วัน ซึ่งน้อยกว่า 10 วันตามที่กำหนดไว้ในข้อ 37 ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฯ ดังกล่าว 

ประกอบกับผู้ฟ้องคดีเลือกที่จะส่งประกาศเผยแพร่การสอบราคาให้แก่ผู้ประกอบการเพียง 3 ราย ทั้งที่มีรายชื่อผู้ประกอบการอยู่อีกหลายราย เป็นเหตุให้มีการจัดซื้อเก้าอี้พลาสติกในราคาสูงกว่าราคาเก้าอี้ยี่ห้อและรุ่นเดียวกัน 

 

 

และการที่นายเจนภพไม่จัดส่งประกาศดังกล่าวไปยังกองประชาสัมพันธ์และกองทะเบียนทรัพย์สินและพัสดุ ซึ่งผู้ฟ้องคดีสามารถตรวจสอบได้โดยง่ายหากใช้ความระมัดระวังตามสมควร จึงถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือสำนักปลัดกรุงเทพมหานครฯ และเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 

เป็นเหตุให้สำนักงานเขตได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อเก้าอี้ในราคาสูงกว่าปกติ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรุงเทพมหานครตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทด แทนแก่กรุงเทพมหานคร จึงชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 397/2562)

คดีนี้จึงเป็นแนวทางการปฏิบัติราชการที่สำคัญ... สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อพัสดุว่า จะต้องศึกษาและถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายหรือระเบียบที่ ทางราชการกำหนดไว้ให้ครบถ้วนในทุกขั้นตอนและเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด 

หากมีการฝ่าฝืนหรือมีข้อผิดพลาดบกพร่องแล้ว อาจส่งผลให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเองอาจต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทางราชการในความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังเช่นอุทาหรณ์ข้างต้นครับ!