"พ.ร.ก." สู้ "ไวรัส" … ช่วยได้จริงหรือ

05 มิ.ย. 2563 | 04:35 น.

ในที่สุดพระราชกำหนด 3 ฉบับ คือ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และ พ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้ง พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่ต้องใช้เงินจำนวน 1.9 ล้านล้านบาทก็ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

หลังจากอภิปราย ชี้แจง อธิบาย ด่า หรือบ่น จากสมาชิกรัฐสภา จะอะไรก็แล้วแต่ตามสไตล์การเมืองแบบไทย ๆ คนค้าน ก็ค้านทุกเม็ด ทุกจุด ฝ่ายเชียร์ก็เชียร์ขาดใจ บางคนขึ้นมาอภิปรายเรื่องอื่นโดยเอา พ.ร.ก. นี้บังหน้า แต่ในที่สุดก็ผ่านโหวตรับรองตามระเบียบ แต่ยังมีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าหยิบมาขยายต่อ

              จะว่าไปแล้ว แต่ละ พ.ร.ก. ก็มีวัตถุประสงค์ แนวทาง และกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และเชื่อมโยงเข้าหากันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาพรวมได้ดี ซึ่งผมก็เข้าใจนะครับว่าทุกกลุ่ม ทุกจุดต้องต้องขยับพร้อม ๆ กันถึงจะได้ผล ผมลองสรุปสาระสำคัญง่าย ๆ ของ พ.ร.ก. ให้อีกทีนะครับ

              พ.ร.ก. เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ เพื่อใช้ในการพัฒนาความพร้อมด้านสาธารณสุขและการแพทย์ 45,000 ล้านบาท เพื่อการช่วยเหลือประชาชนโดยตรง 555,000 ล้านบาท เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน ฯลฯ และใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 400,000 ล้านบาท รวม 1 ล้านล้านบาท โดยการดำเนินงานผ่านโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่จะมีคณะกรรมการกลางพิจารณาและดูแลภาพรวม โดยเงินจำนวน 1 ล้านล้านบาทนี้ เป็นเงินกู้ซึ่งจะกู้เท่าไรนั้น แล้วแต่ความจำเป็น แต่ต้องไม่เกินจำนวนนี้ 

              พ.ร.ก. รักษาเสถียรภาพระบบการเงินฯ โดยลงทุนผ่านกองทุนแบบ Backstop funds (BFS) จำนวน 4 แสนล้าน เพื่อไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทคนไทยที่มีคุณภาพในระดับลงทุนได้หรือพูดง่าย ๆ คือหุ้นกู้คุณภาพดี ที่กำลังจะถึงเวลาจ่ายเงินคืนหรือจ่ายผลตอบแทน เงินนี้เป็น Bridge financing ชั่วคราว ราว 6 เดือน เรียกว่าช่วยไม่นาน แถมดอกเบี้ยแพง ซึ่งเงินจำนวนนี้ในที่สุดก็กลับคืนมาที่แบงค์ชาติเหมือนเดิม

              พ.ร.ก. เงินช่วยเหลือสินเชื่อวิสาหกิจฯ จำนวน 5 แสนล้านเป็น Soft loan ผ่านธนาคารต่าง ๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อปล่อยกู้ให้วิสาหกิจที่เป็นลูกค้าเดิมของตนเองในอัตราดอกเบี้ย 2% โดยมีกติกาว่าต้องปลอดดอกเบี้ยในช่วง
6 เดือนแรก และหากเสียหายรัฐก็จะชดเชยให้ในอัตรา 60 – 70% ของจำนวนเงินที่ธนาคารต้องสำรองเพิ่มในสินเชื่อ

"พ.ร.ก." สู้ "ไวรัส" … ช่วยได้จริงหรือ

              หลายคนอาจบอกว่าเป็น พ.ร.ก. เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ที่อาจเป็นภาระมหาศาลกับลูกหลานนั้น อาจต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ พ.ร.ก. ทั้งสามนี้จะเป็นเงินกู้เพียง 1 ล้านล้านบาท ส่วนอีก 2 พ.ร.ก. หลัง เป็นเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดการสภาพคล่องของตัวเอง แม้ว่าจะปล่อยออกไปให้ธนาคารพาณิชย์กู้ แต่ในที่สุดก็ต้องส่งคืนธนาคารแห่งประเทศไทยเหมือนเดิม แม้ว่าอาจมีวิสาหกิจหลายรายไปไม่รอด แบงก์ชาติโดยรัฐบาลก็อาจต้องชดเชยด้านดอกเบี้ยหรือความเสียหายไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นจำนวนมากมายจนน่ากังวลเหมือนหลายคนพูด 

แม้ว่า พ.ร.ก. เหล่านี้จะดีในหลักการ แต่พอลงถึงระดับปฏิบัติแล้ว ก็มีหลายประเด็นที่สังคมเป็นห่วง ผมลองรวบรวมจากสื่อต่าง ๆ และการอภิปรายของทั้ง สส. และ สว. ทั้งสองสภา พอแยกได้ ดังนี้ พ.ร.ก. นี้เพื่อคนบางกลุ่ม กลุ่มที่รวยหรือบริษัทใหญ่  หลายเสียงมองว่าผลประโยชน์ของ พ.ร.ก. การเงินทั้งสามจะมีประโยชน์กับกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีโอกาส บริษัทใหญ่ ซึ่งคนตัวเล็กไม่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ก. นี้  

              พ.ร.ก. เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฯ ดูเหมือนว่ามีประเด็นเดียว คือความห่วงไยในการจัดสรรโครงการส่วน 400,000 ล้านบาทที่ใช้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากเป็นไปตามแบบเดิม ๆ คือจัดสรรผ่านหน่วยรับงบประมาณ ดังนั้น งานที่จะได้เงินก้อนนี้ไปก็จะเป็นโครงการของรัฐที่เคยโดนตัดงบมาก่อน เงินก็จะตกไปกับคนเขียนโครงการเก่ง ๆ เช่น หน่วยราชการ NGO หรือองค์กรใหญ่ต่าง ๆ ทำให้เงินเหล่านี้จะไม่ลงไปถึงประชาชนที่เดือดร้อนจริง ๆ หรือลงไปถึงชุมชน ประเด็นเรื่องคอรัปชั่นจึงเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาวิจารณ์กันเยอะ บ้างก็ว่างานนี้นักการเมืองมองกันตาเป็นมัน บางพรรคถึงขั้นล้มหัวหน้าพรรคกันเลยทีเดียว

              พ.ร.ก. รักษาเสถียรภาพการเงิน ฯ ที่แบงก์ชาติจะลงทุนกองทุน BSF ไปซื้อหุ้นของบริษัทใหญ่ ๆ เป็นการอุ้มคนมีเงิน บริษัทใหญ่ที่หุ้นกู้หมดอายุและไม่มีเงินจ่ายคืน ช่วยบริษัทใหญ่ไม่ให้ล้ม หรือขยายหุ้นกู้เพื่อต่ออายุ
เอาเงินมาหมุนเวียนในช่วงนี้ ดังนั้น คนได้ประโยชน์จะเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่ออกหุ้นกู้ เจ้าสัวได้ประโยชน์ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป แต่ดูดี ๆ แล้ว แบงก์ชาติ “ไม่ใช่หมู” ที่ใครจะเคี้ยวง่าย ๆ หากไปดูเงื่อนไขการลงทุนในหุ้นกู้เหล่านี้ ไม่ง่าย เงื่อนไขเยอะ และดอกเบี้ยแพง เลยทำให้คนค่อนแคะว่า “ตั้งใจช่วยจริงป่ะ”

              พ.ร.ก. สินเชื่อช่วยเหลือวิสาหกิจ ฯ เงื่อนไขที่ออกมาไม่ว่าเกณฑ์การชดเชย หรือเกณฑ์ปกติของ ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งแรงจูงใจและเงื่อนไขทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สนใจที่หรือเข้าร่วมโครงการนี้มากนัก จะมี
ก็ส่วนน้อย ที่อาจจะนำมาปล่อยสินเชื่อเฉพาะกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีศักยภาพ มีทุน และอยู่รอดอยู่แล้วให้ได้เงินกู้ในต้นทุนต่ำ
ไม่กล้าปล่อยลูกค้าที่มีปัญหา แม้ว่าจะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจริง ๆ ก็ตาม พวกนี้ก็ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อก้อนนี้อยู่ดี เรียกว่า “หลอกให้ดีใจ”

              เกณฑ์ เงื่อนไข ที่กำหนดในทางปฏิบัติทำได้อย่างที่ พ.ร.ก. ตั้งเป้าหรือไม่ เป็นที่รู้ ๆ ว่าหากหน่วยงานรัฐจะออกเกณฑ์อะไรออกมาก็ต้องแน่ใจว่าหากรัฐเสียหาย หรือต้องเสียเงิน อาจมีการเช็คบิลคนรับผิดชอบ ดังนั้น เงื่อนไขกติกาที่ออกมาอาจเข้มงวดจนบางครั้งไม่สามารถทำได้จริง และปัญหาคือไม่มีใครอยากจะเอาหุ้นกู้ของตนเองไปใช้กองทุน เพราะจะทำให้ตลาดมองว่าเครดิตบริษัทไม่ดี ไม่มีใครลงทุน หรือไม่มีแบงก์ใดให้กู้ ดอกเบี้ยสูง ให้กู้ระยะสั้น ตอนนี้หุ้นระดับ BBB จะบวกหรือลบ และต่ำกว่านี้ จะถึง due กว่า 300,000 แสนล้าน กำลังเร่งหาเงินมาจ่าย

นอกจากนี้ หากใช้กองทุนนี้ก็ได้เงินไม่ครบเต็มจำนวน ต้องไปหาที่อื่นมาก่อนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งสามารถขายให้กองทุนนี้ แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าที่หาได้ โดยแบงก์ชาติคิดเพิ่ม 2% แถมกติกาแบบนี้ หากใครมาขายให้กองทุนนี้ ก็จะบอกเป็นนัย ๆ ว่าหุ้นกู้นั้นเป็นหุ้นที่หาสถาบันการเงินซื้อไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของหุ้นกู้และลามไปถึงความเชื่อมั่นของบริษัทแม่อีกด้วย ใครจะใช้ก็ขยาด

ไม่แปลกที่ไม่มีใครอยากจะใช้ เพราะดอกเบี้ยแพงกว่าตลาด ช่วยสภาพคล่องได้ระยะสั้น และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัท ทำให้มีคนวิจารณ์ว่าแบงก์ชาติตั้งการ์ดสูงไปหรือไม่ หรือตั้งรั้วซะสูงลิ่ว ปลอดภัยจากโจรแต่คนดีที่หนีภัยมาให้ช่วยก็ปีนข้ามยากเหมือนกัน

ทำไมธนาคารพาณิชย์ถึงไม่อยากเข้ามาช่วย  ในส่วนที่ พ.ร.ก. สินเชื่อที่เป็น Soft loan ผ่านธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยวิสาหกิจที่เป็นลูกหนี้เดิมและมีหนี้ค้างอยู่ และถือว่าไม่ใช่หนี้ใหม่ Clean Loan แต่ได้ผูกไว้กับหนี้เดิม โดยเงื่อนไขให้เพิ่มไปอีก 20% ของหนี้ที่เหลือ ในอัตราดอกเบี้ย 2% โดยรัฐจะชดเชยให้ 70% และ 60% ไม่ใช่ของเงินต้นที่แบงก์ปล่อยเพิ่ม แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ของเงินสำรองเพิ่มเติมที่แบงก์ต้องสำรองตามเงื่อนไขของแบงก์ชาติ คำนวณแล้วก็ตกประมาณ 26% กว่า ๆ ทำให้ธนาคารหันไปใช้มาตรการอื่นแทนที่มี บสย. ค้ำประกันที่ 40% แทนกันหมด

ตอนนี้ในส่วนนั้นแบงก์พาณิชย์แย่งใช้กันหมดในเวลาสั้น ๆ แถมส่วนต่างของดอกเบี้ยก็แค่คุ้มค่าบริหารจัดการเท่านั้น กำไรที่ได้ไม่ค่อยคุ้มกับความเสี่ยงที่มีมากในช่วงนี้ และต้องแบ่งเงินไปสำรองเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยสองปี ซึ่งส่งผลต่อผลประกอบการทางบัญชีในระยะสั้น การกำหนดเงื่อนไขแบบนี้ทำให้วิสาหกิจรายเล็กไม่สามารถเข้าถึงเงินก้อนนี้ เรียกว่า SME ที่เฝ้ารอก็ “โห่” กันละครับ    

การจัดสรรงบประมาณให้กับกลุ่มต่าง ๆ เป็นไปอย่างประสิทธิภาพและโปร่งใสหรือไม่ ตอนนี้มีคณะกรรมการฯ เตรียมร่างหลักการดำเนินงาน มีการจัดการหน่วยรับผิดชอบ อย่างรวดเร็ว จนหลายฝ่ายสงสัยในความโปร่งใส และทั้งเวทีอภิปรายของ สส. และ สว. ต่างก็เป็นห่วงในเรื่องความโปร่งใส ประเภทโครงการที่จะได้รับการจัดสรร กลัวจะกลายเป็นโครงการที่หน่วยงานหรือผู้ประมูลอยากได้ แต่ไม่ใช่ที่ประชาชนต้องการ เพราะตอนนี้มีคนพูดกันมากว่าในระดับพื้นที่ก็มีนักวิ่งได้เริ่มวิ่งจองโครงการกันฝุ่นตลบแล้ว บางแห่งรู้แล้วโครงการอะไรได้เงิน โครงการอะไรไม่ได้ ยังไม่พอบ้างก็ว่ามีข่าวลือจัดสรรงบประมาณนี้กันแล้วในกลุ่มนักการเมือง บางพรรคการเมืองถึงขั้นจะเปลี่ยนกัปตันเรือกันเลยทีเดียว

เงินนี้เป็นเงินกู้เป็นส่วนมาก ดังนั้นควรมีกรรมการคัดโครงการดี ๆ จากทุกภาคส่วน มองภาพรวมและในแต่ละพื้นที่ และต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนทั้งความสามารถและซื่อตรง  

การประเมิน ติดตาม ในทุกระดับมีประสิทธิภาพหรือไม่ ทุกคนดูเหมือนเป็นห่วงของการใช้เงินกู้ส่วนที่ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 400,000 ล้านบาท ที่จะจัดสรรผ่านหน่วยรับงบประมาณ และการประมูล รวมทั้งการใช้งบประมาณอาจมีตกหล่นระหว่างทาง หรือที่ชอบพูดเปรียบเปรยงบประมาณว่าเป็น “ไอติม” กว่าจะถึงมือประชาชนจะเหลือแค่ “ไม้ไอติม” หรือดีไม่ดี บางคนที่ควรได้ไอติมก็ไม่ได้เลย ดูเหมือนว่าหลายคนจะห่วงใยเหมือน ๆ กันในเรื่องนี้ จึงมีข้อเสนอขอตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดสรร กรรมการติดตาม ขนาดสมาชิกทั้งในสภาบนและสภาล่างต่างก็เสนอให้มีคนดูแลเรื่องนี้จริงจัง และในทางการเมืองเขาคิดไปไกลถึง “ลูกกระสุน” ทำให้บรรดา สส. จึงจะตั้งกรรมาธิการติดตามการใช้เงินก้อนนี้เฉพาะ เรียกว่า “งูเห็นนมไก่ หรือไม่ก็ ไก่เห็นตีนงู”

ไม่ว่าเงินก้อนนี้จะถูกใช้ไปกับใคร อย่างไร ก็ได้แต่หวังว่าจะลงไปสู่คนที่ใช่ โดยเฉพาะวิสาหกิจหลายแห่ง
อาจไม่ได้รับผลจากการระบาดของไวรัส แต่เป็นเพราะมาตรการของรัฐที่สู้กับไวรัสมีผลกระทบกับเขา แม้เขาเหล่านั้นไม่ใช่รายใหญ่มีหุ้นกู้ออกระดมทุน หรือเป็นลูกค้าคนสำคัญของธนาคาร แต่เขาเหล่านี้ก็ควรจะได้รับการเยียวยาจาก พ.ร.ก. นี้

เราเข้าใจถึงความจำเป็นของ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับนี้ ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ฟื้นฟูและซ่อมแซมเศรษฐกิจและสังคมจากสงครามกับไวรัสโควิด เพียงแต่หวังว่าจะถูกใช้ให้คุ้มกับภาระที่คนรุ่นต่อไปแบกรับแทนเรา และเราทุกคน
ก็ต้องเฝ้าติดตามกันอย่างจริงจัง