อัยการก็ถูกฟ้อง เป็นจำเลยได้

03 มิ.ย. 2563 | 22:00 น.

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3580 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4-6 มิ.ย.63 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

 

อัยการก็ถูกฟ้อง

เป็นจำเลยได้

 

          ได้ติดตามข่าว ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร  บุตรชาย นายทักษิณ ชินวัตร ในคดีร่วมกันฟอกเงินทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำนวน 10 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งต่อมาอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ได้ทำความเห็นส่งไปยังอัยการสำนักงานคดีศาลสูงว่า เห็นควรไม่อุทธรณ์คดี (มีคำสั่งไม่ดำเนินคดีต่อไปในชั้นอุทธรณ์) และอัยการสำนักคดีศาลสูงเห็นด้วย

          แต่ตามกฎหมายต้องส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พิจารณาตาม พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ มาตรา 34  ประกอบ ป.วิอาญา มาตรา 145 ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งดีเอสไอ ได้โต้แย้งคำสั่งพนักงานอัยการ โดยพิจารณาจากคำพิพากษา พยานหลักฐานในสำนวน และความเห็นแย้งของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนท้ายคำพิพากษา ที่เห็นควรลงโทษจำเลยแล้ว เห็นว่า ยังมีประเด็นสำคัญแห่งคดี ที่ควรต้องนำสู่การพิจารณาของศาลสูงเพื่อวินิจฉัย

          นั่นคือ ดีเอสไอ มีความเห็นว่าควรอุทธรณ์ต่อศาลสูงต่อไปนั่นเอง แต่ปรากฎว่า พนักงานอัยการโดย ท่านรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด กลับมีคำสั่งไม่อุทธรณ์คดีนี้ต่อไปอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เหลือเวลาพิจารณาถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2563 โดยฝ่ายพนักงานอัยการ ยังไม่มีเหตุผลข้อชี้แจงใดๆ ต่อสังคม ว่าเหตุใดจึงไม่อุทธรณ์คดีนี้ ทั้งที่เป็นคดีสำคัญมาก อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างยิ่ง และผู้เสียหายก็คือ รัฐหรือแผ่นดิน แต่พนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายความของแผ่นดินแท้ๆ กลับสั่งไม่อุทธรณ์คดีนี้ไปเสียเฉยๆ  มีผลทำให้คดีเป็นที่สุด ปล่อยจำเลยให้ลอยนวลพ้นผิดไป ซึ่งฝืนต่อแนวปฎิบัติของสำนักงานอัยการในคดีอื่นๆ ที่เคยปฏิบัติมา

          อ่านข่าวนี้แล้ว ทำให้หลายคนคงช็อค มึนงงกับการใช้ดุลยพินิจของอัยการ หลายท่านอาจถึงสิ้นหวัง ไว้อาลัยแด่กระบวนการยุติธรรมชั้นอัยการ จนเสื่อมสิ้นศรัทธากันไปเลยก็มี ทั้งๆ ที่คดีนี้ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน เห็นควรพิพากษาลงโทษให้จำคุกจำเลย 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และทำความเห็นแย้งไว้ท้ายคำพิพากษาด้วย จึงมีคำถามไปทั่วเมืองว่า รัฐหรือแผ่นดินจะดำเนินการอย่างไรดี กับอัยการที่ใช้ดุลยพินิจเช่นนั้นในทางกฎหมาย

          เผอิญผู้เขียนจำได้ว่า เคยค้นพบคำพิพากษาฎีกาฉบับหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่และการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ของพนักงานอัยการ  น่าจะพอเทียบเคียงได้กับคดีนี้ จึงคัดมาโดยสรุป ฝากเป็นข้อคิดแด่อัยการ และท่านผู้อ่านเป็นความรู้ เผื่อจะมีประชาชนผู้กล้าออกมาปกป้องประโยชน์ของแผ่นดินต่อไป

          เรื่องทำนองนี้ เคยมีคดีที่ปรากฎข้อเท็จจริงอันเป็นที่สุด จากคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นคดีตัวอย่างมาแล้ว โดยมูลเหตุแห่งคดีเกิดจากพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ถูกกล่าวหา ฐานหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งๆ ที่หนังสือพิมพ์ลงข้อความอันเป็นเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นพนักงานอัยการ มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคดี ส่วนโจทก์รับราชการเป็นข้าราชการตุลาการ รถยนต์ของโจทก์ถูกรถยนต์ของนาย บ.ชนท้าย โจทก์จึงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า ถูกนาย บ.ทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย

          พนักงานสอบสวนควบคุมตัวนาย บ.ไว้ แต่ต่อมาได้รับการประกันตัวไป แต่นาย บ.ได้แจ้งความกลับโดยกล่าวหาว่า โจทก์ทำร้ายร่างกายตนจนได้รับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ โดยโจทก์มิได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้ประกันตัว และวันนั้นทั้งโจทก์และนาย บ.ก็มิได้แจ้งความว่าอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งความเท็จ แต่ในวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ลงข่าวกรณีโจทก์กับ นาย บ. โดยมีข้อความพาดหัวข่าวว่า "ผู้พิพากษาทะเลาะกับพ่อค้าผ้า"

          โจทก์จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กล่าวหาบริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาว่า ร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร แต่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้อง แล้วส่งความเห็นพร้อมสำนวนการสอบสวนมายังพนักงานอัยการ จำเลย(พนักงานอัยการ) ได้รับมอบหมายให้ตรวจสำนวนและวินิจฉัยสั่งคดี มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และ นายประชา โดยอ้างเหตุผลว่า "ผู้ต้องหาทั้งสองไม่มีเหตุที่จะแกล้งใส่ความโจทก์ ในการพิมพ์โฆษณาเช่นนั้น" โจทก์จึงนำเรื่องนี้ไปฟ้องอัยการเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาล ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่สุดศาลฎีกาได้วินิจฉัยดังนี้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549

          จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งที่หนังสือพิมพ์ ด. ซึ่งบริษัท ส. เป็นเจ้าของและ ป. เป็นบรรณาธิการ ลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย

          และในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง

          การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิด คือการใช้อำนาจในฐานะพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ผลของการกระทำของจำเลยคือ โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย (ท่านที่สนใจหาอ่านฉบับเต็มได้)        

          นี่คือคดีตัวอย่าง ที่พนักงานอัยการชั้นสูง ก็อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ โดยคดีอันเป็นสุดตามฎีกานี้ ศาลจึงพิพากษาให้ลงโทษจำเลยว่ามีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 ให้จำคุก 1 ปี เพียงแต่ศาลให้รอการลงโทษไว้เท่านั้น

          จากคำพิพากษาดังกล่าว น่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีแก่ท่านอัยการทั้งหลาย ว่าการใช้ดุลยพินิจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีใด ท่านจะใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจมิได้ หรือโดยมีเจตนาที่จะช่วยบุคคลใดให้พ้นผิดมิได้

          ส่วนคดีนี้ที่สุดผลแห่งการสั่งไม่อุทธรณ์ของท่านรองอัยการสูงสุด จะจบลงอย่างไร และจะมีผู้นำคดีไปฟ้องท่านอัยการให้ตกเป็นจำเลยในคดี แทนนายพานทองแท้ ชินวัตร เสียเองต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ เป็นเรื่องของเวรกรรมในวันข้างหน้าครับ

          เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกรรม ดั่งพุทธภาษิตที่ว่า "กรรมมุนา วัตถตีโลโก" สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม