โควิด-19 กับ ระบบการเงิน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

03 มิ.ย. 2563 | 03:00 น.

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,580 หน้า 5 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน 2563

 

ระบบการเงิน (Financial system) ถือว่าเป็นสถาบันหลักที่มีบทบาทในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยถือเป็นศูนย์กลางของการจัดสรรทรัพยากรในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการเงิน (ผู้กู้/ผู้ระดมทุน) และผู้มีเงินเหลือ (ผู้ออม/นักลงทุน) ผ่านกลไกการกู้ยืมหรือการลงทุน ซึ่งการระดมทุนและส่งผ่านทุนดังกล่าวถือเป็นกลไกสำคัญ ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด 

ตลาดการเงิน ประกอบด้วย ตลาดเงิน (Money market) ซึ่งครัวเรือนสามารถจัดสรรทุนและทรัพยากรให้แก่นักลงทุนโดยตรง และตลาดทุน (Captial market) หรือตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ซึ่งถือเป็นอีกองค์ประกอบหลักหนึ่งของระบบการเงินในการช่วยให้ครัวเรือน และภาคธุรกิจสามารถระดมทุนและทรัพยากรทางอ้อมสำหรับการลงทุน ระบบการเงินที่ดีจะจัดสรรทรัพยากรของเศรษฐกิจให้ถูกนำไปใช้อย่างดีที่สุด ซึ่งจะช่วยทำให้ระดับผลผลิตโดยรวมสูงขึ้น เกิดการจ้างงานและเศรษฐกิจขยายตัว  

สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ระบบการเงินถือเป็นเบื้องหลังที่ยืนยันว่าทรัพยากรของเศรษฐกิจ ถูกส่งผ่านอย่างมีประสิทธิภาพไปยังการลงทุนและการสะสมทุน ส่วนในระยะสั้น ระบบการเงินสะท้อนให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยสามารถเชื่อมระหว่างตลาดสินค้ากับตลาดเงิน ดังนั้นอัตราดอกเบี้ย จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญมากในการดำเนินนโยบายทาง การเงิน เพื่อส่งผ่านไปยังความต้องการสินค้าและบริการ

เมื่อย้อนกลับไปดูวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินในอดีตที่ผ่านมาทั้งในสหรัฐฯ ปี 2008-2009 และในประเทศไทยปี 1997 นั้น จะเห็นได้ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นมีสาเหตุสำคัญมาจากความล้มเหลวของตลาดการเงินที่ก่อให้เกิดการหยุดชะงักของกลไกในระบบการเงิน ในสหรัฐฯ ทรัพย์สินหรือราคาบ้านลดค่าลง 

สำหรับประเทศไทยสถาบันการเงินเผชิญกับภาระหนี้เสียจำนวนมากโดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศ ส่งผลให้สถาบันการเงินมีทุนลดลงและนำ ไปสู่การขาดสภาพคล่อง และนำไปสู่ ภาวะล้มละลายและการปิดตัวของสถาบันการเงิน และเมื่อสถาบันการเงินขาดสภาพคล่อง ก็จะทำให้การลงทุนลดลง ครัวเรือนใช้จ่ายน้อยลง ความต้องการหรืออุปสงค์มวลรวมลดลง และการว่างงานเพิ่มมากขึ้น ผลสุดท้ายที่เกิดขึ้นก็คือเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เมื่อเศรษฐกิจถดถอย ครัวเรือนไม่มีรายได้ กำไรลด ทรัพย์สินรวมไปถึงหุ้นมีมูลค่าลดลง ครัวเรือนและนักลงทุนไม่สามารถชำระหนี้คงค้างอยู่ได้ สร้างแรงกดดันให้สถาบันการเงินเข้าสู่สภาวะล้มละลายต่อเนื่องไปอีก 

 

โควิด-19 กับ ระบบการเงิน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

 

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจและระบบการเงินมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างสูง บทเรียนจากวิกฤติหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้เราได้ทราบว่าทุนและสภาพคล่องคือกันชน (Buffer) สำคัญเพื่อให้ระบบการเงินมีความยืดหยุ่นและต้านทานต่อปัจจัยไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น (Shocks)

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาพิจารณาถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญในขณะนี้มีความแตกต่างจากวิกฤติในอดีต เนื่องจากไม่ได้มีสาเหตุโดยตรงมาจากระบบการเงิน แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริงที่เกิดการหยุดชะงักทั้งในการประกอบการภาคธุรกิจ การผลิต และการใช้จ่าย เนื่องจากผลของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันทางสาธารณสุข 

อาทิ มาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown) โดยการปิดสถานที่ และจำกัดการเดินทาง การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การทำงานจากที่บ้าน (Work from home) เป็นต้น เพื่อรับมือและควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกยังอยู่ในภาวะวิกฤติ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และในบางประเทศมีอัตราเร่งสูงขึ้น 

สำหรับประเทศไทย ผลจากการดำเนินมาตรการควบคุมทางด้านสาธารณสุขและความร่วมมือของประชาชนและภาคธุรกิจ ได้ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ ไทย เริ่มบรรเทาลงและอยู่ในวงจำกัดสะท้อนจากในประเทศไทยขณะนี้ไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

 

อย่างไรก็ดี ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 แถลงโดยสำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า เศรษฐกิจติดลบร้อยละ 1.8 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2557 โดยเป็นผลจากการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดลงอย่างรุนแรงของนักท่องเที่ยว การบริโภคครัวเรือน ชะลอตัว สอดคล้องกับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง 

รวมทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้า ไม่รวมทองคำที่ลดลง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้การลงทุนภาคเอกชนลดลง ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผลของการลดลงของระดับรายได้และสินทรัพย์โดยรวมแล้ว ยังเป็นผลจากปัจจัยเชิงพฤติกรรมและเชิงจิตวิทยาที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการภาคธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งพฤติกรรมการบริโภคและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ 

ในขณะเดียวกันก็ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการใช้จ่ายและการลงทุน และส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด และมีความพร้อมในการกลับมาเริ่มดำเนินการในช่วงที่สถานการณ์ของการระบาดและมาตรการควบคุมต่างๆ เริ่มผ่อนคลายลง 

นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการเพื่อควบคุมไม่ให้ปัญหาลุกลามไปสู่วิกฤติในภาคการเงิน ที่จะกลับมาส่งผลกระทบซํ้าเติมกับวิกฤติในภาคเศรษฐกิจจริง และเพื่อให้ระบบการเงินและสถาบันการเงิน ยังสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ และช่วยเกื้อหนุนครัวเรือนและภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเตรียมมาตรการเพื่อสนับสนุนในช่วงการฟื้นตัวออกจากวิกฤตอีกด้วย 

ดังนั้น จึงถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลและผู้ดำเนินนโยบายใน การต้องชั่งนํ้าหนักและหาจุดสมดุล ระหว่างการดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กับมาตรการเพื่อช่วยลดผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจ  ดังจะเห็นได้จากภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ที่ประเทศไทยเริ่มควบคุมให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงในวงจำกัดอย่างต่อเนื่องมากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลเริ่มที่จะผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ โดยให้กิจกรรมและกิจการบางประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคตํ่า ให้สามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้นเป็นระยะๆ 

ควบคู่ไปกับการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้ งมาตรการทางการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้มีมาตรการต่างๆ ออกมาซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความยืดเยื้อของการแพร่ระบาด ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงมาก 

 

แต่ประเด็นที่ต้องติดตามดูและอย่างใกล้ชิด คือภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัวในระบบการเงิน จากการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจและนำไปสู่ภาระหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่มีความเปราะบาง ในขณะที่หนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงอยู่แล้วมีแนวโน้ม ที่จะสูงขึ้นไปอีก และจะมากกว่าช่วงก่อนโควิด เนื่องจากการขาดรายได้ของครัวเรือน 

รวมไปถึงความตึงเครียดที่มากขึ้นของภาระหนี้ภาครัฐ เนื่องจากต้นทุนทางเศรษฐกิจการคลังในการเผชิญกับวิกฤติครั้งนี้ โดยการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินมูลค่า 1 ล้านล้านบาทในครั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP สูงขึ้น เกือบชนเพดานกรอบความยั่งยืนทาง การคลังที่ร้อยละ 60 ในปี 2564 

การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบเพื่อไม่ให้เกิด ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและต้องไม่นำไปสู่ปัญหาระบบการเงิน โดยทำให้ระบบสถาบันการเงินยังคงเป็นกลไกสำคัญ และมีความแข็งแกร่งพอที่จะทำหน้าที่ในการระดมทุนและส่งผ่านทุนให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้ภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายเพื่อช่วยสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่  

โดยท้ายที่สุดแล้วเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องพอที่จะลงไปสนับสนุนแก่เศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปจำเป็นต้องให้ความสำคัญ กับการเตรียมความพร้อมเพื่อวางรากฐานและการลงทุนในนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย เนื่องจากการดำเนินมาตรการที่ผ่านมาเพื่อเยียวยาเป็นการแก้ปัญหาเพียงแค่ให้เศรษฐกิจไม่ติดลบมาก หรือเศรษฐกิจไม่ถดถอยมาก แต่เศรษฐกิจจะยังคงไม่ได้มีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพโดยเฉพาะในช่วงที่เพิ่งเริ่มที่จะฟื้นตัวจากการถดถอยที่ผ่านมา  การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากความเชื่อมั่นต้องใช้เวลาในการสร้าง 

ดังนั้น จึงถือเป็นความท้าทายที่สำคัญโดยเฉพาะในช่วงหลังโควิด-19 ต่อผู้วางแผนและกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะสั้น และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว