4 มิ.ย.พบนายกฯเตรียมแผนฟื้นฟูอุตฯยานยนต์ทั้งระบบ

31 พ.ค. 2563 | 23:25 น.

คอลัมน์: พื้นที่นี้....Exclusive

โดย:งามตา สืบเชื้อวงค์

 

ถ้ากล่าวถึงธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย นอกจากธุรกิจของไทยซัมมิท กรุ๊ปส์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ ที่มีรุ่นใหญ่อย่าง "สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ"นั่งเป็นประธาน(สมพร ภรรยานายพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ(เสียชีวิตแล้ว) ทางกลุ่มบริษัท “ซัมมิทกรุ๊ป”ของตระกูล “ จุฬางกูร” ก็ไม่น้อยหน้า โดยทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจนี้จุดเริ่มต้นมาจากคนในตระกูลเดียวกัน

 

ครั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ”จะโฟกัสไปที่“กรกฤช จุฬางกูร”  ประธานบริหารบริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด บุตรชายคนที่ 4 ในจำนวนชายหนุ่มทั้งหมด  6 คนของ สรรเสริญ-หทัยรัตน์ จุฬางกูร (สรรเสริญ จุฬางกูร พี่ชายคนโตในตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ)เจ้าของกลุ่มบริษัท ซัมมิท กรุ๊ป ก้าวขึ้นมาดูแลธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์เต็มตัว  แถมพ่วงท้ายด้วยบทบาทรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สะท้อนมุมมองภาพรวมความเคลื่อนไหวช่วงโควิด-19 และความจำเป็นเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องรีบจับมือเอกชนเตรียมแผนฟื้นฟูเร่งกระตุ้นยอดขายและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ 
 

-หวังเริ่มฟื้นตัวไตรมาส4ปี63หรือครึ่งแรกปี64

โดย นายกรกฤช ฉายภาพความเคลื่อนไหวช่วงไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกว่า ทำให้ภาพรวมฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราว  ยอดคำสั่งซื้อลดลงตั้งแต่ 30%-50% และคาดการณ์ว่าธุรกิจยานยนต์ น่าจะฟื้นตัวได้ ประมาณไตรมาส 4 ปี 2563  หรือ ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564

ทั้งนี้การฟื้นตัวจะเป็นลักษณะแบบ  L Shape  ผู้บริโภคอาจจะมีปริมาณการเดินทางน้อยลง เนื่องจากมาตรการภาครัฐที่ยังควบคุมการแพร่ระบาด  ภาคธุรกิจมีรายได้ลดลง  ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ และต้องการเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในส่วนที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต มุ่งเน้นการ Maintenance มากกว่า  และต้องรอจนกว่าภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น หากมีการผลิตและแรงงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงมาประเมินกันอีกที

 

-พิษโควิดลากยาวทุบกำลังผลิตร่วงเหลือ 1 ล้านคัน

ส่วนกรณีหากการแพร่ระบาดไวรัสโควิดยังลากยาวต่อไปอีก  กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อาจปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในประเทศ  โดยประเมินว่าเบื้องต้นหากเหตุการณ์จบภายใน 2-3 เดือนนี้ ยอดต่างๆ อาจจะหายไปประมาณ 30% หรือแบ่งเป็นการขายในประเทศ 7 แสนคัน และส่งออก 7 แสนคัน รวม 1.4 ล้านคัน

 

แต่ถ้าหากทุกอย่างยืดเยื้อ  คาดการณ์ว่ากำลังผลิตรวมอาจจะเหลือแค่ 1 ล้านคัน โดยแบ่งเป็นส่งออก 5 แสนคัน และขายในประเทศ 5 แสนคัน และถ้าลากยาวถึงสิ้นปี 2563 คาดว่าแรงงานในระบบจะหายไปประมาณ 200,000 กว่าคน หรือคิดเป็น 30% ของคนในกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์(รวมชิ้นส่วนยานยนต์)ที่มีราว 750,000 คน

 

-ชงรัฐหนุนมาตรการกระตุ้นยอดขาย

จากปัญหาวิกฤติโควิด-19 รองประธานส.อ.ท.มองว่า รัฐบาลควรเร่งเยียวยา 3 ด้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามข้อเสนอของคลัสเตอร์ยานยนต์ โดยมาตรการเยียวยาต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ต่อภาครัฐมี 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1.การนำรถเก่าแลกรถใหม่ ขอให้รัฐสนับสนุน คันละ 100,000 บาท จากการคืนจากภาษีสรรพสามิตเหมือนรถยนต์คันแรก (ในส่วนนี้มีการพิจารณาก่อนหน้านี้ว่าประชาชนนำรถเก่าอาจจะมากกว่า 20 ปีมาแลกซื้อรถใหม่และรับส่วนลด 1 แสนบาท) 

 

 2. ยืดระยะเวลาการใช้ยูโร 5 และ ยูโร 6 ออกไปก่อน  และ 3. ลดภาษีสรรพสามิต 50% ซึ่งในส่วนนี้ทางสรรพมิต สรุปมาว่าจะไม่ลดภาษีให้ แต่ทาง ส.อ.ท.ก็จะนำเสนอแพคเกจกระตุ้นยอดขายให้ภาครัฐช่วยต่อไป

 

ซึ่งแนวทางการฟื้นฟูและมาตรการต่างๆนี้ ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ ทาง ส.อ.ท. จะเข้าพบพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและทีมรัฐบาลเพื่อพูดคุยถึงแนวทางในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงมาตรการกระตุ้นยอดขาย

 

-ประเมินผลกระทบแต่ละด้าน

นายกรกฤช มองว่าจำเป็นต้องเดินแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อย่างเร่งด่วน เนื่องจากมองผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  ออกเป็น 3 ด้าน 1.ด้านการผลิตอย่างที่กล่าวมาว่าในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 มียอดคำสั่งซื้อลดลง 30%-50% ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์บางค่ายส่งสัญญาณปรับเวลาทำงาน จาก 2 กะ เหลือ 1 กะ งดการทำงานล่วงเวลา และประกาศหยุดการผลิตชั่วคราว หลังจากคำสั่งซื้อชิ้นส่วนจากค่ายรถยนต์ในประเทศลดลงและมีการแจ้งชะลอการซื้อ และการส่งออกรถยนต์เริ่มไม่เป็นไปตามแผน

 

2.ด้านผลกระทบแรงงาน ปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงให้หยุดงานและจ่ายพนักงานที่สัดส่วน 75%  ตาม ม.75 และเบิกประกันสังคม 62% แต่ถ้าสถานการณ์คลี่คลายภายในมิ.ย. นี้ จะยังไม่กระทบแรงงานมากนัก คือจะยังจ่าย 75% ต่อไปก่อน แต่ยังไม่ปลดพนักงาน แต่ถ้ายังยืดเยื้อต่อไปจนถึงไตรมาส 3 ปีนี้คาดว่า จะมีการจ่ายเงินพนักงานเพียง 50% และมีการปลดพนักงานหรือขอให้ลาออกเป็นลำดับถัดไป

 

3.ด้านผลการดำเนินงานปี 2563 (มองคาดการณ์รวม) วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั้งในไทยและในระดับโลกอันเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อคำสั่งซื้อรถยนต์จากทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก  ส่งผลต่อเนื่องมาสู่ปริมาณการผลิตรถยนต์ในไทยปีนี้สู่จุดต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี

 

4 มิ.ย.พบนายกฯเตรียมแผนฟื้นฟูอุตฯยานยนต์ทั้งระบบ

วิกฤติดังกล่าวยังได้ทำให้เห็นถึงปัญหาสำคัญในรูปแบบกระบวนการผลิตปัจจุบันซึ่งมีการพึ่งพิงฐานการผลิตเดียวมากเกินไปอย่างชัดเจนขึ้น ทำให้ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยกระจายความเสี่ยงในการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ในห่วงโซ่อุปทานให้มากขึ้น

 

-ซัมมิท กรุ๊ปวิ่งบริหารความเสี่ยง

นอกจากนี้นายกรกฤช ยังกล่าวถึงภาพรวมของกลุ่มบริษัท ซัมมิท กรุ๊ปในการบริหารธุรกิจช่วงโควิด-19ว่า มีการกระทบถึงยอดขายอย่างมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดช่วงนี้คือการบริหาร cash flow และต้นทุนการผลิต โดยในส่วนของต้นทุนการผลิตทางซัมมิทได้มีการวิเคราะห์ถึงต้นทุน supply chain ทั้งหมด ตั้งแต่รับของเข้าจนถึงการส่งของ   

 

“ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่มีการผลิตปกติเราได้มีการว่าจ้าง supplier ภายนอก ทั้งในส่วนชิ้นงานอุปกรณ์การทำแม่พิมพ์ และภาชนะใส่ชิ้นงาน ในช่วงนี้จึงมีการงดที่จะมีการ outsource ออกไปเพิ่มเติมและหันมาทำเองภายในด้วย”

 

นอกเหนือจากนั้นยังมีการวิเคราะห์เกี่ยวกับระบบบริหารภายในที่ยังมีช่องว่างอยู่ ทั้งในเรื่องของ KPI องค์กรตลอดไปจนถึง KPI ส่วนบุคคล เพื่อที่จะสะท้อนระบบประเมินผลที่เกิดขึ้นให้มีศักยภาพที่มากขึ้น

 

-ฟื้นฟูกลับมาให้ปกติยังต้องใช้เวลามากกว่าธุรกิจอื่น

อย่างไรก็ตามมองว่าจากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ การฟื้นฟูให้กลับมาของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ภาวะปกติได้  อาจจะใช้เวลามากกว่าธุรกิจอื่นๆเนื่องจากรถยนต์อยู่ในหมวดสินค้าที่สามารถรอได้ ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปต่างได้รับความบอบช้ำจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้อย่างมาก  รถยนต์ที่มีการผลิตมากที่สุดในไทยคือตลาดรถ pick up ซึ่งเกี่ยวข้องการใช้ในการบรรทุกสิ่งของและเป็นยานพาหนะราคาประหยัด ซึ่งในช่วงนี้คนที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากสุด

 

ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด- 19 ที่อเมริกายังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย จึงคิดว่าอาจจะต้องใช้เวลาในการกลับมาสู่สภาวะปกติอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี