คลี่แผน "ปูติน" 75 ปี Victory Day  โชว์พลังกองทัพ

30 พ.ค. 2563 | 23:44 น.

คอลัมน์หลังกล้องไซบีเรีย เรื่อง/ภาพ: ยลรดี ธุววงศ์

 

          ปกติแล้วทุกวันที่ 9 พฤษภาคมของทุกปี เราจะต้องได้เห็นภาพการเฉลิมฉลองสวนสนามอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมการแสดงแสนยานุภาพของรัสเซียที่ขนเอาสารพัดยุทโธปกรณ์ออกมาโชว์สู่สายตาชาวโลกกันเนื่องในโอกาสวันชัย หรือวัน Victory Day ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรเหนือนาซีเยอรมนีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

          การเฉลิมฉลองครั้งที่ 75 ของวัน Victory Day หรืองานในปีนี้กลับต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมที่ฉลองต่อเนื่องมายาวนานด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งประธานาธิบดีรัสเซียได้ประกาศตั้งแต่การแพร่ระบาดยังไม่กระจายมากนักในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่ารัสเซียจะ “เลื่อน” การจัดงานออกไปก่อน และยังไม่ได้ตัดสินใจ “ยกเลิก” การจัดงานแต่อย่างใด

          ในที่สุดสัปดาห์นี้ผู้นำแห่งแดนหมีขาวได้ออกประกาศอย่างชัดๆ มาแล้วว่าทางการรัสเซียเตรียมจะจัดพาเหรดเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เช่นเคยในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ โดยนายวลาดิมีร์ ปูตินได้ประกาศบอกกับประชาชนอีกด้วยว่าขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในรัสเซียได้ผ่านจุด “พีค” ไปแล้ว จึงเป็นโอกาสที่จะรื้อแผนการจัดงานวันชัยกลับมาคุยกันอีกครั้ง พร้อมเร่งสั่งให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเริ่มเตรียมจัดงานพาเหรดโดยทันที ทั้งที่กลางกรุงมอสโกและตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ

คลี่แผน "ปูติน" 75 ปี Victory Day  โชว์พลังกองทัพ

          วันที่ 24 มิถุนายน ไม่ใช่วันที่กำหนดขึ้นมาเล่นๆ แต่เป็นวันที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ของชาวรัสเซีย เพราะหากพลิกหน้าประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปในปีค.ศ.1945 หรือปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กองทัพรัสเซียได้จัดขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ยาวนาน 2 ชั่วโมงกลางจัตุรัสแดงของกรุงมอสโกในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1945 หรือเกือบสองเดือนให้หลังจากวันประกาศยอมรับความพ่ายแพ่ของทัพนาซี ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเฉลิมฉลองวันที่ 9 พฤษภาคมในปีต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน จึงเรียกได้ว่า ปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปีที่ได้มีโอกาสจัดซ้ำในวันดังกล่าว

          ทุกปีรัสเซียจะจัดงานพาเหรดวันชัยอย่างยิ่งใหญ่ มีนายทหารมากกว่าหมื่นนายทั่วประเทศเข้าร่วม รวมทั้งตัวแทนจากต่างประเทศและเหล่าทหารผ่านศึก ออกมาเดินขบวนตามจตุรัสกลางเมืองต่างๆ ทั่วประเทศโดยมีประชาชนจำนวนมากออกมารอดูตามสองข้างถนน และดูผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ แต่ปีนี้อาจจะต้องลดสเกลงานลงมาบ้าง เพราะโควิด-19 ก็ใช่ว่าจะหายขาดแล้ว จึงคาดว่าน่าจะต้องจัดงานในขนาดย่อมเยากว่าเดิม ส่วนประชาชนทั่วไปก็ยังต้องกักตัวอยู่ในบ้านตามมาตรการป้องกันเช่นเคยคอยดูความยิ่งใหญ่ได้ผ่านหน้าจอทีวี

          ความจริงแล้ว ในช่วงที่ผ่านมากองทัพของรัสเซียเองก็มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสภายในกองทัพ จากตัวเลขการรายงานของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในสัปดาห์นี้ มีนายทหารรัสเซียราว 5,500 นายติดเชื้อโควิด-19 ในจำนวนนี้รักษาหายแล้ว 3,500 นาย แต่เมื่อพูดถึงความพร้อมในการจัดงาน รัฐมนตรีเชื่อว่าจุดพีคของการแพร่ระบาดภายในกองทัพนั้นเลยมาแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน ดังนั้นเขาจึงมั่นใจว่ากองทัพจะสามารถเตรียมพร้อมทุกอย่างได้ภายในต้นเดือนมิถุนายนอย่างแน่นอน

          นอกจากในส่วนของพาเหรดแล้ว ภายในงานทุกปีจะยังมีการเดินขบวน “Immortal Regiment” หรือที่เรียกกันว่า “กองทัพอมตะ” ขบวนของครอบครัวประชาชนชาวรัสเซียทั่วไปซึ่งจะรวมตัวกันออกมาเดินถือรูปของคนในครอบครัวที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 ระลึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความเลวร้ายของสงคราม แต่คาดว่าน่าจะเลื่อนกิจกรรมนี้ออกไปก่อนเนื่องจากยังเสี่ยงเกินไปที่จะให้ประชาชนออกมารวมตัวกันในอีก 1 เดือนข้างหน้าที่สถานการณ์ยังไม่แน่นอน คาดว่าจะจัดได้ในเดือนถัดจากขบวนแสดงแสนยานุภาพของกองทัพราววันที่ 26 กรกฎาคมนี้ ซึ่งประธานาธิบดีปูตินก็ขอขีดเส้นใต้กาเครื่องหมายดอกจันตัวโตๆ ไว้ก่อนว่าอาจเลื่อนการจัดขบวนกองทัพอมตะออกไปอีกหากสถานการณ์ยังอยู่ในจุดเสี่ยงสำหรับผู้มาร่วมงาน

คลี่แผน "ปูติน" 75 ปี Victory Day  โชว์พลังกองทัพ

          การที่นายปูตินไม่ยอมยกเลิกจัดงานแต่ “เลื่อน” วันจัดงานออกมานั้น อาจจะไม่ได้มีเหตุผลอะไรพิเศษซับซ้อนไปมากกว่าคำขอร้องของสมาคมทหารผ่านศึกที่ขอให้รัฐบาลเปลี่ยนวันจัดงาน รัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่ยังให้ความสำคัญกับการทหารและกองทัพจึงไม่นิ่งเฉยกับคำร้องนี้และตอบรับอย่างโดยดี

          ในทางกลับกัน เหล่าทหารผ่านศึก-ฮีโร่ผู้ผ่านความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้เป็นตัวเอกของงาน จนถึงตอนนี้ก็เหลือจำนวนไม่มาก จากปี ค.ศ.1945 มาจนถึงปี ค.ศ.2020 เวลา 75 ปีที่ล่วงเลยผ่านมาทำให้ปัจจุบันแต่ละคนอายุมากกว่า 90 ปีแล้ว และเป็นกลุ่มอายุที่เสี่ยงที่สุดหากติดเชื้อโควิด-19 จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงที่รัฐบาลรัสเซียควรจะต้องคำนึงถึงให้มากในการวางแผนจัดงานปีนี้

 

** พบกับ คอลัมน์ “หลังกล้องไซบีเรีย” ทุกวันอาทิตย์ ทุกช่องทางออนไลน์ของ “ฐานเศรษฐกิจ" **
Bio นักเขียน : “ยลรดี ธุววงศ์” อดีตนักข่าวที่ผ่านสนามข่าวทั้งในและต่างประเทศ จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ Spring News ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาโทอยู่ในส่วนที่หนาวเย็นที่สุดของประเทศรัสเซีย