เสร็จศึกพรก. เดินหน้าสู่โหมดฟื้นศก.

30 พ.ค. 2563 | 04:00 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3579 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 3 มิ.ย.2563 โดย... กระบี่เดียวดาย

 

          การอภิปราย พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 รวมทั้งพ.ร.ก.ให้แบงก์ชาติปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลน 5 แสนล้านผ่านสถาบันการเงิน และพ.ร.ก. 4 แสนล้าน ดูแลตลาดตราสารหนี้ 2-3 วันที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่จะระคายผิว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้

          แม้จะมีความพยายามจากบางฝ่ายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องการให้สภาฯ ให้ฝ่ายค้านรุมยำ อุตตม สาวนายน รมต.คลัง ในฐานะผู้รักษาการตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อหวังตีชิ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงในกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ถีบทีม 4 กุมารพ้นวงโคจร ดันพี่ใหญ่เข้ามาสวมหัวหน้าพรรค โดยทีมลิ่วล้อหวังพ่วงเข้าสู่เก้าอี้รัฐมนตรี ซึ่งยังมีความพยายามเคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วง แม้กระทั่งระหว่างการอภิปราย ยังมิวายมีการล็อบบี้ให้กรรมการบริหารพรรคลาออกเพื่อล้างไพ่ตั้งกันใหม่

          “การอภิปราย 2-3 วันที่ผ่านมา ทั้งนายกฯ และรมต.คลัง ตลอดจนทีมข้าราชการที่ทำหน้าที่ในการดูแลจัดการการออก พ.ร.ก.เงินกู้ ตอบคำถามได้พอสมควร อธิบายเหตุผล ความจำเป็น ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันในการกู้เงินครั้งประวัติศาสตร์ ที่ถูกติงติงหนักๆ เป็นเรื่องการใช้เงินกู้ก้อนหลัง 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการ โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งในทางการเมืองที่จะทำให้มีปัญหาใหญ่โตขึ้นได้ ต้องเป็นเรื่องการกระทำทุจริตคิดมิชอบ แต่เมื่อยังไม่มีโครงการ แค่ริเริ่มทางนโยบายยังไม่ได้ใช้เงิน ปัญหาจึงเบาบางลง”

          อย่างไรก็ดี มีส.ส.ฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลบางคน ที่ติติงได้สมเหตุสมผล ที่รัฐบาลต้องรับฟังและนำไปแก้ไข อาทิ เช่น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ที่ตำหนิเรื่องการอุ้มเอกชนที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ทำออกมาก่อนที่เยียวยาโควิดให้ประชาชน ครอบข้อหาอุ้มเจ้าสัวให้ ซึ่งรัฐบาลต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการเร่งดำเนินการ

          หรือกระทั่งประเด็นของ เกียรติ สิทธีอมร จากพรรคประชาธิปัตย์ที่ติติงกรณีเงินฟื้นฟูในประเด็น คณะกรรมการกลั่นกรอง คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และพิจารณาโดยสภาพัฒน์ และกระทรวงการคลัง ขณะที่คนทำรายงานความก้าวหน้า ก็เป็นสภาพัฒน์ซึ่งขัดกับหลักธรรมาภิบาล

          หลังอภิปราย พ.ร.ก.กันเสร็จ รัฐบาลคงต้องเข้าสู่โหมดฟื้นฟูเศรษฐกิจกันอย่างจริงจัง และต้องการผลอย่างแท้จริงให้เศรษฐกิจกระเตื้อง ต้องสกัดกั้นการว่างงาน การเลิกจ้างให้ได้

          สภาพัฒน์ประเมินล่าสุดว่า จำนวนคนที่สุ่มเสี่ยงจะตกงานจากพิษโควิด อาจมีสูงถึง 8.4 ล้านคน ในภาคบริการท่องเที่ยว 3.9 ล้านคน อุตสาหกรรม 1.5 ล้านคน และแรงงานในภาคบริการที่เกิดจาการปิดสถานที่ต่างๆ สถานศึกษา ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬาอีกจำนวน 4.4 ล้านคน

          ล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้คลายล็อกรอบ 3 กำหนดเคอร์ฟิวจาก 5 ทุ่มถึงตี 3 จากเดิมตี 4 แต่ยังคุมการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ การเดินทางข้ามจังหวัดเปิดเดินทางได้ แต่ไม่เสรีมาก และห้างสรรพสินค้าขยายเวลาปิดจาก 2 ทุ่มเป็น 3 ทุ่ม พร้อมกับผ่อนคลายหลายกิจกรรม ทั้งอาคารสถานที่เปิดให้สถาบันการศึกษาเพื่อใช้การคัดเลือก สอบคัดเลือก อบรมระยะสั้น แต่ยังไม่เปิดให้มีการเรียนการสอน ส่วนโรงเรียนนอกระบบ โรงเรียนเอกชน วิชาชีพ ศิลปะการกีฬาก็เปิดได้เช่นกัน

          “ผ่อนคลายมากขึ้นก็จริง แต่กิจกรรมบางอย่างที่เป็นเส้นเลือดใหญ่อย่างธุรกิจกลางคืน ผับ บาร์ ยังไม่เปิด ซึ่งคนทำงานในส่วนนี้ทั้งธุรกิจต่อเนื่อง เป็นแสน เป็นล้านคนทั่วประเทศ เรียกว่าธุรกิจกลางคืนยังคงดับสนิท ด้านหนึ่งก็กลัวในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ด้านหนึ่งก็กลัวอดตาย”

          รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ ต้องก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองทั้งมวล ทั้งในพรรค นอกพรรค หันมากำชับขันน็อตทีมเศรษฐกิจ ประสานทุกภาคส่วน เอกชน รัฐ ฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลัง พิสูจน์ฝีมือการบริหารกันอย่างจริงจัง

          ไม่ไหว ไม่มีเวลาแล้ว ลุงตู่เอ๋ย!!!