อายุเกิน 60 ปี จะเป็น‘อธิการบดี’ได้หรือไม่ !?

31 พ.ค. 2563 | 03:00 น.

คอลัมน์ อุทาหรณ์จากคดีปกครอง  โดย...นายปกครอง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,579 หน้า 5 วันที่ 31 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2563

 

วันนี้นายปกครองมีคดีน่าสนใจ เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิดำรงตำแหน่ง “อธิการบดี” ของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดม ศึกษา โดยมีประเด็นสำคัญที่พิพาทกันเกี่ยวกับอายุของผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งดังกล่าวว่าจะมีอายุเกิน 60 ปี ได้หรือไม่

ตำแหน่ง “อธิการบดี” นั้น เป็นตำแหน่งทางบริหารที่เป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยในการดำเนินกิจการทั้งปวง โดยมีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายของมหาวิทยาลัย รวมทั้งบริหารงานในด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และประกาศของมหาวิทยาลัย จึงเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญ อันเป็นที่สนใจของผู้ที่มีคุณสมบัติในการที่จะเข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ดังที่กล่าวในตอนต้นแล้วว่า เรื่องน่ารู้วันนี้... เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง ซึ่งมีกรณีโต้แย้งกันในประเด็นเกี่ยวกับอายุของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี เนื่องจากเป็นผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้ว จึงมีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 

โดยข้อเท็จจริงของคดีมีอยู่ว่า... ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นข้าราชการ ในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ได้เข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏดังกล่าว ซึ่งผลปรากฏว่า

มีผู้ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์ จำนวน 3 คน คือ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ย. ซึ่งได้คะแนนสูงสุด  

ต่อมา สภามหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้มีมติเห็นชอบให้ผู้ช่วยศาสตรา จารย์ ย. ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี และมีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนอธิการบดี และได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีจนกว่าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่

ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ย. เกษียณอายุราชการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ปัจจุบันมีอายุ 62 ปี จึงไม่มีสถานภาพใดในมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี และขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งอธิการบดี การมีมติและคำสั่งของสภามหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเดือดร้อนเสียหาย 

อายุเกิน 60 ปี  จะเป็น‘อธิการบดี’ได้หรือไม่ !?

 

ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนมติและคำสั่งของสภามหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีดังกล่าว 

 

คดีนี้... ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาได้นั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 มิได้บัญญัติจำกัดเฉพาะผู้ที่มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น อีกทั้งยังได้มีบทบัญญัติตาม มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 65/2 วรรคหนึ่ง รองรับกรณีการแต่งตั้งผู้ที่มิได้มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีไว้อีกด้วย 

ฉะนั้น ผู้ที่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีจึงไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในขณะสมัครหรือขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีแต่อย่างใด 

ในส่วนประเด็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี หรือไม่?

ศาลพิจารณาว่า เมื่อมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติของอธิการบดี ประกอบกับข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ว่าด้วย คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2550 ไม่มีการบัญญัติหรือกำหนดว่าผู้ที่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์แต่อย่างใด ประกอบกับการที่พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัย ในกำกับของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตราขึ้นใช้ในภายหลัง ก็มิได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี 

 

ย่อมแสดงให้เห็นว่า การให้ผู้ซึ่งมีอายุเกินกว่า 60 ปี ดำรงตำแหน่งอธิการบดีไม่ได้เกิดผล กระทบหรือผลเสียหายต่อการบริหารจัดการภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา ฉะนั้น ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ในขณะสมัครหรือขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดี 

ดังนั้น การที่สภามหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีมีมติให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ย. ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 11 - 12/2563)

จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด สรุปได้ว่า ...ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี จะเป็นบุคคลภายใน หรือภายนอกมหาวิทยาลัยก็ได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในขณะสมัคร หรือขณะดำรงตำแหน่ง เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดห้ามไว้ 

หากแต่มีบทบัญญัติของกฎหมายรับรองให้บุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้ด้วย รวมทั้งไม่จำเป็นว่าจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในขณะสมัคร หรือขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นข้อห้ามเช่นกัน 

ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355