มาตรฐานศก.หมุนเวียน...มาตรฐานแห่งอนาคต

27 พ.ค. 2563 | 04:41 น.

 

ทุกคนกำลังพูดถึงและกังวลว่าเราต้องปรับตัวอย่างไรหลังจากวิกฤติโควิค-19 ครั้งนี้ วิถีชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปตลอดหรือไม่ แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลของหลายประเทศก็เตรียมการปรับยุทธศาสตร์ รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนก็พยายามเตรียมการว่าจะต้องปรับตัว ปรับแผนกันอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่า “New Normal”

 

ถึงแม้จะไม่รู้ว่าคืออะไร หน้าตาอย่างไร และก็ไม่แน่ใจว่าพฤติกรรมที่เราคิดว่าเป็นความเคยชินใหม่จะกลับไปเหมือนเดิมหรือไม่เมื่อสถานการณ์เดิมกลับมา หากแม้ว่าบางอย่างจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่าแนวทางหลักยังคงเหมือนเดิม จะเปลี่ยนเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในรายละเอียดที่ไม่ใช่แกนแก่น (Fundamental)

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีมาตรการอะไรที่แปลก หวือหวา แต่ผมก็เชื่อว่าประเทศไทยจะเดินตามเส้นทางหลัก
ที่ได้ประกาศเป็นนโยบายอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG หรือ Bio – Circular economy – Green เพียงแต่วันนี้ เรายัง
ไม่มียุทธศาสตร์ภาพรวมและแต่ละด้านออกมา ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนทางปฏิบัติว่าเราจะเดินอย่างไร วิธีการเป็นอย่างไร ใครควรทำอะไรในรายละเอียด นอกจากกรอบแนวคิดกว้าง ๆ และเรื่องที่กำลังเป็นกระแสหลักในการพัฒนาของโลกวันนี้ก็คือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) หรือ CE”

จากนิยาม ขอบเขตของแนวคิด CE ในบริบทภาคอุตสาหกรรมแล้ว จะเกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรม ตั้งแต่
การเตรียมวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ การทิ้งเมื่อเลิกใช้ การนำกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล หรือการทำลายซาก ฯลฯ ถ้าเปรียบเป็นมนุษย์แล้ว ก็ต้องนับตั้งแต่ยังไม่ปฏิสนธิในท้องแม่เลย เป็นทารกในครรภ์ เกิด เติบโต ตาย และยังรวมไปถึงการนำซากไปทำประโยชน์อย่างอื่นก่อนจนทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็นำไปกำจัดไม่ให้เหลือซาก … ประมาณนั้น

 

ถ้าถอดออกมาเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ เรียกว่าเกือบทุกกระทรวงในประเทศไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งผมมองว่า ถ้าจะให้นโยบายนี้มีทิศทางชัดเจนและมีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ควรมีเจ้าภาพในการทำ Grand Strategies และแยกแยะออกมา เพื่อมอบหมายใคร หน่วยงานไหนควรทำอะไร เมื่อไร อย่างไร และมีเจ้าภาพกำกับ ติดตาม แต่ทว่าตอนนี้ผมยังไม่เห็นใครหรือหน่วยงานไหนโดดออกมารับเป็นเจ้าภาพในการวางแผนปฏิบัติเลยมีเพียงแต่ละหน่วยงานว่ากันไปตามความเข้าใจของตนเอง

 

แม้ว่าหลายองค์กรในประเทศไทยจะตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) แต่ก็ยังไม่มีหลักปฏิบัติที่ทุกคนสามารถเข้าใจร่วมกันได้ ต่างคนก็ต่างทำตามที่ตนเองคิดว่า “ใช่” ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวทางปฏิบัติขององค์กรตามแนวทาง CE ให้ชัดเจน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จึงกำหนดมาตรฐานแนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) ในองค์กรขึ้นมา แต่ระหว่างดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าบ้านเรามีงานวิจัย งานวิชาการด้านนี้น้อยมาก จึงได้หารือและทำความตกลงกับสถาบันมาตรฐานอังกฤษเพื่อขอใช้มาตรฐาน BS 8001:2017 Framework for implementing the principle of the circular economy in organizations-Guide ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กรมาใช้ โดยอังกฤษก็ยอมให้ใช้โดยการแปล และสมอ. ก็สามารถนำออกมาเป็นมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ แนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร มาตรฐานเลขที่ มตช. 2-2562 และประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562

 

มาตรฐาน มตช. 2-2562 นี้ เป็นมาตรฐานที่ให้เป็นแนวทาง ไม่ใช่เป็นข้อกำหนดเฉพาะหรือหลักจริยธรรม (Code of Conduct) โดยรายละเอียดประกอบด้วย 7 หัวข้อ แบ่งเป็น 4 ส่วน รวมทั้งการให้นิยาม แนวคิด ขอบข่าย หลักการ และที่สำคัญ คือ กรอบการดำเนินงานในการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ที่มีทั้งหมด 8 ขั้น ตั้งแต่การวางกรอบ กำหนดขอบข่าย สร้างแนวคิดที่เป็นระบบ ศึกษาความเป็นไปได้ สมเหตุสมผลทางธุรกิจ ทดสอบนำร่องในกลุ่มเล็ก ๆ โดยมีเจ้าภาพชัดเจนเพื่อสร้างรูปแบบ นำไปสู่การปฏิบัติ และการติดตามผล นอกจากนี้ยังมีส่วนของข้อแนะนำเพื่อเป็นข้อมูลให้กับองค์กรพิจารณาดำเนินการ ทั้งประเด็นกฎหมาย การดูแลลูกค้าและคุณภาพผลิตภัณฑ์ การตลาด การเงินการบัญชี ประเด็นโลจิสติกส์แบบย้อนกลับ รวมทั้งการบริหารการเปลี่ยนแปลงในองค์กรอันจะเกิดจากการนำเอาหลักการนี้ไปใช้ ฯลฯ ใครสนใจก็คงต้องศึกษาดู ความหนาของมาตรฐานเล่มนี้ 92 หน้า มีตัวอย่างการวัดระดับการพัฒนาการใช้หลักการนี้ขององค์กร รวมทั้งคำถามที่ควรจะใช้ เพื่อการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้งการปรับปรุงองค์กร

 

ผมต้องชื่นชมกับ สมอ. ที่มีวิสัยทัศน์ในการเร่งทำมาตรฐานในเรื่องนี้ แม้ว่าจะยกเอาของอังกฤษมาใช้ แต่ก็ต้องถือว่าสุดยอด เพราะเป็นมาตรฐาน CE ระดับชาติที่เดียวที่มีในโลกขณะนั้น และกว่าที่เขาจะประกาศออกมาได้ ก็ผ่านการถกเถียงในเชิงวิชาการ การวิจัย และทดลองกับหลาย ๆ องค์กรมาแล้ว และที่สำคัญคือทำให้เรามีไกด์ไลน์ที่ชัดเจนว่าแนวทางการดำเนินงาน กิจกรรมใดที่จะเป็น CE หรือไม่ใช่ และองค์กรใดที่อยากได้ชื่อว่าเป็น “องค์กรเศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ CE ควรมีแนวทาง หลักการและประยุกต์ใช้อย่างไรบ้าง เพราะวันนี้หลาย ๆ องค์กร ทำนั่นหน่อย นี่นิด แล้วก็คิดว่าเป็นองค์กร CE นี้แล้ว

 

นอกจากนี้ สมอ. ก็ผลักดันให้นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศขยายวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรภาคเอกชน ซึ่งท่านเลขาธิการ วันชัย พนมชัย ได้หารือกับท่านรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่จะร่วมมือกันผลักดันและชักชวนให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานนี้และนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรของตนเอง ซึ่งนับว่าเป็นการมองการณ์ไกลที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยล่วงหน้า

 

ผมเชื่อว่าอีกไม่นานเศรษฐกิจหมุนเวียนจะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศในอนาคต ซึ่งเหมือนกับที่เราเห็นมาก่อนไม่ว่าเรื่อง มนุษยธรรม สิ่งแวดล้อม ความโปร่งใส กิจกรรมทางสังคม และอื่น ๆ

 

ผมว่าวันนี้ ทุกวงการมองเห็นภาพคล้าย ๆ กันว่าการพัฒนาในอนาคตนั้นจะต้องเผชิญกับทรัพยากรธรรมชาติที่ลดความสมบูรณ์ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงกว่าเดิม และจำนวนประชากรของโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทรัพยากรทุกอย่าง ทุกเม็ด ของโลก ต้องถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หมุนเวียนให้อยู่ในระบบให้นานที่สุด ในรูปแบบที่ดีและมีคุณค่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนั่นคือ “วิถีของเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งจะกลายเป็นข้อบังคับสำหรับทุกคน ทุกองค์กรที่ต้องทำ หากใครไม่ทำก็ถือว่าเป็นคนสร้างต้นทุนให้สังคม และจะถูกเบียดให้ออกไปจากสังคม ดังนั้น มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน มตช. 2-2562 ที่ทำในวันนี้คือการทำ “มาตรฐานแห่งอนาคต” เพื่อเตรียมให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยพร้อมกับการแข่งขันในบริบทนี้ที่จะมีมาในอนาคตอันใกล้นี้แน่ๆ