ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด โอกาสไทย ‘แถวหน้าโลก’

28 พ.ค. 2563 | 05:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3578 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ค.63

 

          ทั่วโลกชื่นชมความสำเร็จการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ของไทย จนอยู่ในความควบคุม ยกผลงานด้านสาธารณสุขของไทย ทั้งที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ให้อยู่ในแถวหน้าของโลก เหนือกว่าประเทศมหาอำนาจที่เป็นชาติพัฒนาแล้วอื่นๆ

          โรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีองค์ความรู้สำเร็จรูป ไม่มียาหรือวัคซีนที่ใช้ในการรักษาโดยตรง แวดวงสาธารณสุขของแต่ละประเทศต้องประยุกต์ความรู้ ความสามารถ ทรัพยากรเท่าที่่มีของตนเอง มาออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมสังคมตนเองขึ้นมารับมือ

          ความสำเร็จของไทยเองมาจากหลายองค์ประกอบ ทั้งการตัดสินใจทางนโยบายที่รัฐบาลใช้มิติด้านสาธารณสุขเป็นหลักนำที่มาทันเวลาพอดี ระบบสาธารณสุขไทยที่ผ่านการปฎิรูปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีกลไกอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านที่คลุมทุกพื้นที่ประเทศ มีการศึกษาและพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยาต่อเนื่อง ตลอดจนความร่วมมือร่วมใจของทั้งสังคม

          เมื่อเผชิญหน้าวิกฤติด้านสาธารณสุขระดับโลก จึงสามารถบริหารจัดการจนโลกประจักษ์ดังกล่าว

          แต่การดูแลเศรษฐกิจหลังโควิด-19 จากนี้ไปจะเป็นโจทย์ยาวและยาก ในยุคที่ทุกกิจกรรมต้องปรับตัว มีมาตรการใหม่ๆ เพื่อเว้นระยะห่าง ป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อและไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น ที่จะเป็นวิถีปกติใหม่ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจริงชะลอตัวทั่วโลก รายได้ของทั้งกิจการและครัวเรือนถดถอยหรือเหือดหายไป ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดงบประมาณเพื่อพยุงเศรษฐกิจภายในของตนเอง ที่โลกจากนี้จะประดังด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้กิจการ รวมถึงหนี้ภาครัฐ

          รัฐบาลเตรียมเงิน 4 แสนล้านบาท จากพ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขีดเส้นให้หน่วยงานเสนอแผนโครงการภายใน 5 มิถุนายนนี้ แนวคิดเบื้องต้นฟื้นฟูธุรกิจต่างๆ ประมาณ 2 แสนล้านบาท เน้นภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว เริ่มด้วยไทยเที่ยวไทย เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่มา และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นำระบบสาธารณสุขเป็นจุดเด่นในการชูการท่องเที่ยว ส่วนด้านเกษตรเน้นแบบผสมผสานหรือการแปรรูปเพื่อมาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและการส่งออกให้ได้มากขึ้น

          อีกราว 2 แสนล้านบาท จะลงไปในการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ที่จะเน้นสร้างเศรษฐกิจระดับฐานรากให้เข้มแข็ง และสร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน อาจมีโครงการสร้างงานเพิ่มรายได้ กระตุ้นการท่องเที่ยว รวมถึงการชูผลิตภัณฑ์หรือสิ่งเด่นๆ ในแต่ละชุมชนออกมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายด้วย

          แผนงานกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเริ่มเห็นชัดกลางเดือนมิถุนายน เพื่อพร้อมเสนอครม.ต้นเดือนกรกฎาคม เมื่อเห็นชอบแล้วพร้อมดำเนินการทันที เพื่อให้เห็นผลรูปธรรมและต้องเสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2564

          ไทยมีจุดแข็งจากที่มีภาคผลิตหลากหลาย ทุนสำรองสูง หนี้สาธารณะต่ำ แบงก์พาณิชย์แข็งแรง ประคองให้เศรษฐกิจสังคมไทยปรับสู่โครงสร้างใหม่ ที่เพิ่มกำลังซื้อภายใน ลดการพึ่งพาตลาดโลก อุ้มชูตัวเองได้แม้เจอวิกฤติ ก็พร้อมอยู่แถวหน้า “บ้านเมืองเป็นสุข” ของโลก