โควิด-19 เร่งศก.ไปสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเร็วขึ้น

26 พ.ค. 2563 | 12:07 น.

 

แม้ว่าขณะนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยสามารถควบคุมได้ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศ  รวมถึงภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาทั้งผู้ประกอบการและประชาชน

 

แต่ถ้ามองในแง่ภาคธุรกิจหากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวยังยืดเยื้อ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ก็อาจทำให้ภาคธุรกิจเข้าขั้นวิกฤติได้เช่นกัน   เนื่องจากฐานการผลิตหยุดนาน   แรงงานตกงานยาว  เศรษฐกิจไม่ได้ขับเคลื่อนต่อทำให้ตัดวงจรเศรษฐกิจทั้งระบบลงทั่วโลก   นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)สะท้อนมุมมองถึงข้อกังวล  โอกาส และทิศทางหลังโควิด-19 จะไปทางไหนผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”อย่างน่าสนใจ

 

-เผชิญวิกฤติซ้อน

 

ประธานส.อ.ท.มองว่า  ภาคธุรกิจกำลังเผชิญวิกฤติซ้อน จากที่ก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาคการผลิตได้รับผลกระทบมาระยะหนึ่งแล้วจากปัญหาสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ปัญหาค่าเงินบาทที่ผันผวน อีกทั้ง เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดี และปัญหาภัยแล้ง

 

จากวิกฤติเหล่านี้ ล้วนทำให้หลายสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาก่อนแล้ว  จนมาสู่วิกฤติไวรัสโควิด19 ยิ่งมาเป็นตัวเร่งให้แบกวิกฤติหนักยิ่งขึ้นไปอีก และเมื่อหลายประเทศใช้มาตรการLockdown เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค  ทำให้ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกชะงักลงฉับพลัน

 

ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการ ควรระวังและอาจต้องเผชิญต่อไปคือ  ปัญหาทางการเงิน โดยเฉพาะการขาดสภาพคล่องและเงินหมุนเวียนในกิจการและการขาดแคลนวัตถุดิบ หรือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ เนื่องจากการชะลอตัวถูกจำกัดการขนส่ง หรือการหยุดชะงักของการผลิตวัตถุดิบ หรือวัสดุอุปกรณ์เหล่านั้นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หรือพนักงานหรือคนงานในโรงงานถูกกักกันโรค ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน

 โควิด-19 เร่งศก.ไปสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเร็วขึ้น

 

-โอกาสจากโควิด-19

 

หลังจากที่ภาคธุรกิจและประชาชน ต้องปรับตัวจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักลงจากการกักตัว Quarantine, Social Distancing และทำงานที่บ้านหรือ Work from Home รวมถึง สถานประกอบการต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้ผู้คนทั้งผู้ประกอบการ และลูกจ้าง มีรายได้ลดลง และทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัส หันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ธุรกิจจึงต้องปรับตัวรับให้ทันกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้า

 

อีกทั้งต้องเตรียมรับการเข้ามาของเทคโนโลยี IOT Infrastructure การเร่งปรับตัวเข้าสู่ช่องทาง Offine to Online ในธุรกิจที่มีช่องทางขายออฟไลน์ต้องมองช่องทางออนไลน์ E-Commere เข้ามาเพิ่มเติม  

 

ในส่วนนี้ประธานส.อ.ท.มองว่า ท้ายที่สุดหลังจบโควิด-19 การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จะกลายเป็นพฤติกรรมติดตัวผู้บริโภคการขยายพื้นที่เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ให้บริการรับส่งอาหาร (Food Aggregator)เพราะเป็นโอกาสเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ จากพฤติกรรมสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่เป็น New Normal  การพัฒนาโลจิสติกส์ จากการเรียนรู้ในพฤติกรรมผู้บริโภคในสถานการณ์โดวิด-19 หากโลจิสติกส์ส่งช้า จะเป็นปัญหาต่อการเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรี่

 

จะเกิดการขยายแพลตฟอร์ม Social Media ของแต่ละธุรกิจให้เข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด เพราะเทคโนโลยี่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ใช้งานได้สะดวก เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตและค้าปลีก ต้องใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดียให้มากที่สุด   การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่หันมาใช้เทคโนโลยี่แทนแรงงานคน และการทำงานผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น

 

“ เป็นการเร่งให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน(DigitalTransformation) รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ การทำงาน การผลิต การซื้อขายแลกเปลี่ยน และการดำเนินทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”

 

 นายสุพันธุ์มองอีกว่า  สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือสังคมยุคดิจิทัลและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้าสู่ยุค On Demand สั่งซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน E-Commerce และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ซึ่งธุรกิจต้องพร้อมปรับตัวรับโอกาสใหม่นี้ เช่น สร้างพื้นฐานของช่องทางออนไลน์ให้แข็งแกร่ง เตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคOnline Merges with Offine (OMO) การรวมกันของออนไลน์กับออฟไลน์  การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน จากการเว้นระยะห่างทางสังคมและทำงานจากที่บ้านโดยสินค้าในประเทศมีแนวโนัมได้รับความนิยมสูงขึ้น

 

 เนื่องจากผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าที่ไม่ต้องส่งระยะไกลหรือใช้เวลานาน จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการและแบรนด์สินค้าไทยมากยิ่งขึ้นโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนไปเข้าสู่ยุดคิจิทัล เช่น ธุรกิจค้าปลีกแบบมีหน้าร้าน ต้องปรับธุรกิจและกลยุทธ์เข้าสู่ตลาดออนไลน์ อย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ E-Commerce แอพมือถือ เฟซบุ้คเพจ ไลน์แอด เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกับโลกยุคใหม่

 

รวมถึง ธุรกิจร้านอาหาร ปรับตัวจากการจำหน่ายอาหารหน้าร้านเป็น Takeaway และ Delivery ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นการรวมกันของออนไลน์กับออฟไลน์กระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่ภาคธุรกิจด้านการผลิตจะต้องมีการทบทวนห่วงโซการผลิต (Supply Chain) ที่จะเปลี่ยนแปลงไป หลายบริษัทอาจลดความยาวของ Supplychain (เช่น ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ในหลายประเทศ และส่งไปประกอบอีกประเทศหนึ่ง) ให้สั้นลงกระจายการผลิตในหลายประเทศ ลดการพึ่งพาการผลิตในประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียว

 

" หลายธุรกิจต้องเร่งปรับตัว หากพึ่งพารายได้จากการส่งออก หรือนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ เป็นหลัก โดยเน้นรายได้จากการบริโภคภายในประเทศ หรือภายในกลุ่มประเทศอาเซียนให้มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวได้เร็วและพัฒนาสินค้าตรงความต้องการของผู้บริโภค”

 

-ภาครัฐต้องสนับสนุนส่งเสริมSMEs

 

 สำหรับภาครัฐจากที่ได้มีมาตรการดูแลและเยี่ยวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ออกมาแล้ว แต่ยังอยากให้เสริมในประเด็นของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ที่ประสบปัญหาเนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศ และบางอุตสาหกรรมมีความสำคัญและเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ผลิตเพื่อการส่งออก เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น

 

มาตรการด้านภาษี เช่น ให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ SMEs 3 ปีทุกธุรกิจ (ปีภาษี 63-65) โดยจะต้องเข้าระบบ E-Filling, ให้กรมสรรพากรเร่งรัดการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนที่ชำระเกินภายใน 30 วัน, ปรับอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย ทุกประเภทเป็นอัตราเดียว คือ 1% เฉพาะปี 63

 

มาตรการด้านสาธารณูปโภคที่ดิน เช่น ขอให้ยกเลิกการคิดค่าไฟฟ้าตามเกณฑ์การใช้กระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ (Demand Charge) จนถึงสิ้นปี 2563 โดยคิดเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง

 

มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน เช่น ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วัน และมาตรการด้านอื่น เช่น ให้รัฐประชาสัมพันธ์และสนับสนุนการจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) และให้เพิ่มแต้มต่อสำหรับธุรกิจ SMEs, กกร. ได้จัดตั้ง E Commerce Platform เพื่อช่วยอุตสาหกรรมไทย โดยขอให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการ

 

- ประเมินปี 2563 ด้านการส่งออกและจีดีพี 

 

นอกจากนี้นายสุพันธุ์ยังมองว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ทั้งในไทยและต่างประเทศ ฉุดเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก บ่งชี้ถึงการหดตัวลงของแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแทบทุกดัน มีเพียงการใช้จ่ายของผู้บริโภคในหมวดสินค้าจำเป็นที่ยังขยายตัวได้ ขณะที่การส่งออกที่รวมทองคำค่อนข้างทรงตัว และเมื่อมองต่อไปในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่สถานการณ์โดวิด-19 ในเดือนเมษายนรุนแรงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศเครื่องชี้เศรษฐกิจจะยิ่งสะท้อนภาพการหดตัวที่ลึกขึ้น จากผลกระทบที่ขยายเป็นวงกว้างทั้งในภาคบริการ ภาคการผลิต รวมทั้งการจ้างงานและกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งมาตรการของภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบได้ระดับหนึ่ง

 

 

ภายใต้สมมติฐานที่ไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศ และภาครัฐทยอยผ่อนปรนการดำเนินกิจการเพิ่มเดิมตามลำดับ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ กลับมาดีขึ้นหรือฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด และทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะหดตัวน้อยลงจากในช่วงครึ่งปีแรก

 

“ปี 2563 กกร. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวในกรอบ -5.0% ถึง -3.0% ดีกว่าที่ IMF ประเมินไว้ว่าจะหดตัว -6.7% เนื่องจากภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ มีมาตรการเยียวยาที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะที่ กกร. คงคาดการณ์เมื่อเดือน เม.ย. ที่มองว่า การส่งออกในปี 2563 อาจจะหดตัว -10.0% ถึง -5.0%และอัดราเงินฟ้อทั่วไป อยู่ในกรอบ -1.5% ถึง 0.0%”

 

 

-แนะภาครัฐสนับสนุน 4 ด้าน

 

นายสุพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 4 ด้านหลัก เพื่อรับมือหลังผ่านวิกฤติโควิด-19ไล่ตั้งแต่  1.ภาครัฐต้องเร่งวางแนวทางการฟื้นฟูประเทศในระยะต่อไปหลังผลกระทบไวรัสโควิด-19 ปรับโครงสร้างลดบทบาทพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างชาติ  เนื่องจากหลังผ่านวิกฤติโควิด-19 จะทำให้ทุกประเทศเน้นพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วอาจดึงการย้ายฐานการผลิตกลับครั้งใหญ่ โดยเน้นการบริโภคภายในประเทศ และภายในกลุ่มประเทศอาเซียนให้มากขึ้น

 

2.ต้องเกิดการฟื้นฟูภายในประเทศ เช่น การเน้นการใช้สินค้าของไทย (Made in Thailand)  การสร้างรายได้ทุกภาคส่วน การพัฒนานวัตกรรม ฯลฯ รวมทั้ง การฟื้นฟูการส่งออกที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นและการดึงดูดการลงทุน โดยส.อ.ท. สนับสนุนให้มีการผลักดัน Local Economy ซึ่งประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้ความสำคัญการฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่นเพื่อผลิตจำหน่ายภายในประเทศทดแทนการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยภาครัฐและเอกชนต้องเข้าไปช่วยเป็นระบบตั้งแต่การผลิต  โลจิสติกส์ และช่วยเรื่อง Distributeสินค้า โดยใช้ E-Commerce platform เพื่อเป็นการสร้าง New Normal ของประเทศ

 

3.การเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ซึ่งรัฐบาลได้มีการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการลงทุนผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด เช่น การผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ การผลิดชุดป้องกันไวรัสสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การผลิดชุดตรวจไวรัสโควิด-19 การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะที่ใช้กับผู้ป่วยฉุกเฉินในห้องไอซียู การผลิตยา การผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น

 

4.ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนภาคการผลิตและธุรกิจ ที่ เร่งปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน โดยเฉพาะธุรกิจในอนาคตที่จะมีบทบาทมากขึ้น คือ ไอที และดิจิทัล การค้าขายที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ E-Commerce มากขึ้น ธุรกิจการเงินที่จะก้าวสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้นเนื่องจากสังคมไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การซื้อสินค้า การเรียน การทำงาน บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งหมด รวมถึง พฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้าสู่ยุด On Demand