เมียนมาเข้ม กักตัวแรงงานกลับบ้าน

25 พ.ค. 2563 | 03:32 น.

 

จำได้มั้ยครับ เมื่อวันที่ 21-23 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางการไทยได้อนุญาตให้แรงงานเมียนมาสามารถเดินทางกลับบ้านได้ในช่วงดังกล่าว โดยได้รับการตอบสนองจากทางรัฐบาลเมียนมา หลังจากนั้นก็ได้ประกาศปิดพรมแดนกันทั้งสองประเทศ โดยไม่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาและรถโดยสาร รถยนต์ส่วนตัวข้ามแดนได้ เพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ของทั้งสองประเทศ ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร ทำให้การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แน่นอนว่าคนที่ยังคงติดค้างอยู่ในทั้งสองประเทศนั้นมีเหลืออยู่จำนวนไม่น้อยเลยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ข้ามแดนมาทำงานกันทั้งสองประเทศ ผมไม่ต้องบอกว่าชาวแรงงานเมียนมาที่ติดอยู่ในประเทศไทยนั้นมีมากกว่าคนไทยที่ติดอยู่ในประเทศเมียนมาเยอะ และผมก็เห็นใจคนเหล่านั้นมากๆ คนที่ไม่เคยอยู่ต่างประเทศคงไม่สามารถรับรู้รสชาดของการคิดถึงบ้านได้หรอกครับ ผมเองเคยอยู่ต่างประเทศมาตั้งแต่อายุ 19 ถึง 25 ปีทราบซึ้งถึงการคิดถึงบ้านเป็นอย่างดีครับ ว่ามันทรมานแค่ไหนครับ

 

พอเหตุการณ์ต่างๆคลี่คลายลงไปอย่างมีนัยยะ การผ่อนปรนมาตรการเข้มงวดต่างๆก็ลดลงอย่างมาก เห็นได้จากการเปิดให้บริการด้านต่างๆ สามารถเปิดกิจการได้ แม้จะมีบางส่วนยังคงปิดอยู่ ซึ่งโดยส่วนของกิจการส่วนตัวของผมบางกิจการ ก็ยังคงได้รับผลกระทบ ต้องปิดกิจการอยู่ก็ตาม ผมก็ยังขอมองโลกในแง่บวกนะครับว่า ก็ยังดีเพราะพรรคพวกเราหลายๆกิจการยังสามารถเปิดดำเนินการได้แล้ว และเศรษฐกิจไม่พังมากจนเกินกว่าจะเยียวยาได้ หากเปรียบเทียบกับอีกหลายๆประเทศแล้ว ประเทศไทยเราก็ยังดีกว่าหลายประเทศเยอะ คิดอย่างนี้แล้วสบายใจกว่าครับ        

ทางด้านประเทศเมียนมาเองก็เช่นกัน แม้โรงงานหลายๆโรงไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ แต่เขาก็ยังเปิดกว้างให้รีบปรับปรุงการป้องกันภายใน แล้วมายื่นขออนุญาต หากสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขที่ทางการเมียนมากำหนด เช่น ต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันสาธารณสุขพื้นฐาน การป้องกันตัวบุคคลที่ติดเชื้อเข้าออกโรงงาน การจัดการด้านสุขอนามัย การเพิ่มการตรวจร่างกายผู้ที่เข้ามาในโรงงานอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อโรค เป็นต้น เขาก็จะอนุญาตให้เปิดกิจการได้ ในส่วนบริษัทของผมที่เมืองย่างกุ้ง เราเป็นล๊อตแรกๆที่เขาอนุญาตให้เปิดดำเนินกิจการได้ แต่อย่างไรก็ตามแม้เราจะสามารถออกไปขายสินค้าได้ แต่ร้านค้าส่วนใหญ่ยังไม่เปิด คนยังไม่ออกไปจับจ่ายใช้สอย การดำเนินงานด้านการขายก็ไม่มีประสิทธิภาพอยู่นั่นเองครับ แต่ก็มองโลกในแง่ดีใว้ นั่นคือพนักงานก็ยังมีงานทำ ไม่หงอยเป็นไก่เหงาไงละครับ

 

ในขณะที่ทางการเมียนมาโดยสถานฑูตเมียนมาประจำประเทศไทยเอง ก็ได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากของชาวแรงงานเมียนมา ที่ต้องการกลับบ้านเกิดกัน จึงได้ประสานกับทางการไทย โดยทางกระทรวงต่างประเทศไทยได้มีมติร่วมกับทางการเมียนมา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา อนุญาตให้มีการผ่านแดนของแรงงานทั้งสองประเทศ ทั้งสามด่านสำคัญคือ แม่สอด แม่สาย ระนอง วันละ 2,500 ราย ซึ่งเปิดให้มีการลงทะเบียนกันอย่างมีระบบ และได้เริ่มขนย้ายผู้ตกค้างที่ต้องการกลับบ้านกันเมื่อวันศุกร์ที่ 22 ที่ผ่านมาเป็นชุดแรก โดยจะมีรถบัสโดยสาร 10 คันทุกวัน คันละ 21 ท่าน เท่ากับว่าทุกวันจะมีผู้โชคดี(หรือเปล่า)ได้กลับบ้าน 210 คนที่เดินทางโดยรถบัสโดยสารจากหมอชิตกลับไปทางด่านแม่สอด ต่อมาในเช้าวันเสาร์ที่ 23 ผมก็ได้เห็นภาพข่าวทาง Facebook เป็นภาพรถบัสและภาพชาวแรงงานเมียนมาเดินทางผ่านแดนกัน เห็นแล้วดีใจแทนเขาครับที่ได้สมปรารถนาในการได้กลับบ้านเกิดกันครับ

 

เช่นกันที่ออฟฟิตในกรุงเทพฯของผม ก็มีน้องชาวเมียนมามาทำงานอยู่ด้วย ผมเองก็บอกให้น้องเขาถึงข่าวนี้ตั้งแต่วันแรกที่เปิดรับสมัคร น้องคนนี้เขาฉลาดมาก เขาได้ตรงไปยังสถานฑูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อสอบถามถึงเงื่อนไขต่างๆก่อนเลยครับ ได้ความว่าหากเดินทางกลับถึงเมียนมา ก่อนอื่นต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบที่ทางการเมียนมาตั้งใว้ คือต้องถูกกักกันตัวก่อน 21 วัน โดยจะต้องกักกันตัวในสถานที่ทางการกำหนดเท่านั้น ซึ่งก็ไม่เหมือนประเทศไทยนะครับ ที่กักกันตัวคนไทยที่อยู่ต่างแดนเดินทางกลับไทย แล้วถูกเชิญให้ไปพักโรงแรมห้าดาว ทานอาหารของโรงแรม มีทีวีให้ดู ฟรีตลอดทุกรายการ ที่เมียนมาเขาไม่ได้ให้มากอย่างนั้นครับ สถานที่กักกันเขาก็บอกไม่ได้ว่าเป็นที่ไหน แล้วแต่ว่ารัฐบาลของรัฐนั้นๆเป็นผู้จัดหามาให้ ส่วนอาหารการกินเขาก็ไม่สามารถกำหนดให้ได้เช่นกันครับ เมื่อกักกันเสร็จจะต้องกักกันตัวเองที่บ้านอีก 7 วัน รวมเป็น 28 วันที่ไม่ต้องทำงานไม่มีรายได้ อีกทั้งหากสถานการณ์เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น แรงงานเหล่านั้นจะต้องทำเอ็มโอยู ขอเข้ามาทำงานในประเทศไทยใหม่ ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนั้นร่วมสองหมื่นบาท หรือเท่ากับค่าแรงของเขาเกือบสองเดือนเลยทีเดียวครับ น้องเขาจึงขอยังไม่กลับตอนนี้ เขาจะรอให้สนามบินเปิดก่อน แล้วดูว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการเพิ่มก่อนจึงจะกลับบ้านครับ

 

เมื่อเป็นเช่นนี้การเดินทางกลับบ้านของแรงงานเมียนมา โดยส่วนตัวผมจึงคิดว่า ไม่น่ามีจำนวนมากอย่างที่คิดครับ เราชอบล้อกันเล่นเป็นเพลงว่า “กลับบ้านเรา รักรออยู่” ก็จะกลายเป็น “กลับบ้านเยา ยักษ์รออยู่”ละครับคราวนี้