อุตสาหกรรมอาหารในบริบทใหม่ หลังโควิด

23 พ.ค. 2563 | 07:37 น.

 

สำหรับประเทศไทยแล้ว อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก มีมูลค่าการลงทุนและมูลค่าเพิ่มสูงที่สุด รวมทั้งมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ   ในภาคการผลิตไทย ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงผู้คนหลายสิบล้านคนในประเทศนี้ผ่านห่วงโซ่อุปทานที่ยาวลงไปถึงภาคเกษตรกรรมที่เป็นฐานรากของไทย มีผู้เกี่ยวข้องทั้งแรงงาน ผู้ผลิตวัตถุดิบ และผู้ให้บริการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ทำให้มีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจมากกว่า 5 ล้านล้านบาทในแต่ละปี นอกจากนี้ยังมีมูลค่าเพิ่มกว่าร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภาคอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 อุตสาหกรรมอาหารมีมูลค่าการส่งออก 1.025 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 11 ของโลก

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ผมมองว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ ใน 3 เรื่องที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ได้แก่ 1. ความต้องการมาตรฐานความปลอดภัยและความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพราะผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ปลอดสารเคมี หรือแม้แต่ความกังวลด้านความสะอาดอื่น ๆ มากขึ้น 2. การเพิ่มขึ้นของความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อให้อาหารนั้นเหมาะสมกับความต้องการของร่างกายของแต่ละคน และ 3. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามทิศทางของอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งโลกนั้นจะมีผลต่ออุตสาหกรรมอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต และทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งธุรกิจต่อเนื่องที่จะเปลี่ยนไปสร้างแรงกดดันต่อการพัฒนาผลิตและรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาหารในอนาคต

สำหรับผมแล้ว ในภาพรวม (Macro point of View) ของการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตนั้น ต้องมองในประเด็นข้างต้นทั้ง 3 ประเด็นมาเป็นเงื่อนไขภายนอกที่สำคัญ และถอดออกมาเป็นกรอบยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ

  1. ความต้องการมาตรฐานด้านความปลอดภัย แนวทางของยุทธศาสตร์และแผนควรจะเน้นความสามารถในการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยสามารถ
    ให้ผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่สามารถตรวจสอบย้อนกลับตลอดเส้นทางการผลิต (Traceability) ของผลิตภัณฑ์ตัวเอง
    ได้ตามมาตรฐานที่ลูกค้าต้องการ กิจกรรมที่ควรมี คือ สิ่งอำนวยความสะดวกในการทดสอบ ห้องแล็บที่ได้มาตรฐานสากล และความสามารถของผู้ประกอบการที่เกาะเป็นห่วงโซ่ในมาตรฐานเดียวกันได้หมดตลอดจน
    การถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารระหว่างกันอย่างรวดเร็วผ่านระบบสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อการผลิตที่เป็นระบบ Mass Customized System ได้ดีตามรูปแบบอุตสาหกรรม 4.0 และมีความปลอดภัยในมาตรฐานที่ต้องการ
  2. ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ ปัจจุบันสังคมมีการพัฒนาเป็นเมืองมากขึ้น ครอบครัวเริ่มเป็นครอบครัวเดี่ยวและความเร่งรีบของการดำรงชีวิตประจำวันที่ทำให้ต้องการอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานมากขึ้น นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ โซเซียลมีเดีย ต่าง ๆ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความรู้ ข้อมูล และงานการวิจัยพัฒนาต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้มีความเข้าใจในคุณค่าของอาหารแต่ละอย่างมากขึ้น มีความตระหนักถึงคุณภาพด้านโภชนาการและสุขภาพของตนเองมากกว่าเดิม รวมทั้งอาหารปลอดภัย เช่น อาหารประเภทออร์กานิค นอกจากนี้ ความต้องการอาหารเสริม อาหารที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการสารอาหารพิเศษที่ต่างกัน (Fortified Foods) อาหารไขมันหรือน้ำตาลต่ำ นอกจากนี้ อาหารที่ต้องการมาตรฐานแบบพิเศษที่ตอบสนองความต้องการส่วนตัว เฉพาะกลุ่ม อาทิ มาตรฐานฮาลาล อาหารออร์กานิก อาหารผู้สูงอายุ ฯลฯ
  3. รูปแบบการจัดการธุรกิจแบบใหม่ เพราะนวัตกรรมใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภค เงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศที่มีเรื่องอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง อาทิ แรงงาน ที่มาของวัตถุดิบ และกระบวนการผลิต ฯลฯ มาตรฐานทางด้านอนามัยในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้ผู้ผลิตอาหารแปรรูปขั้นสุดท้ายต้องควบคุมกระบวนการผลิต ที่มา คุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และทุกกิจกรรม
    ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตธุรกิจอาหารแปรรูปมักจะมีรูปแบบการรวมตัวในแนวตั้ง (Vertical Integration) เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถควบคุม กำกับคุณภาพ วิธีการผลิต ที่มาของวัตถุดิบ และอื่น ๆ ตามมาตรฐานที่ตลาดกำหนดและสามารถตรวจย้อนกลับได้ นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสโควิด – 19 ทำให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารสะดวก รวดเร็ว และมีคุณค่าของอาหารมากขึ้น ทำให้มีช่องโอกาสการทำธุรกิจแบบใหม่ ๆ แต่ต้องสร้างสรรค์กว่าที่เป็นมาแบบเดิม ๆ

 

 

จากแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (2562 – 2570) ที่ผ่านมติ ครม. เมื่อเดือนเมษายน 2563 นั้น ผมมองว่ามีจุดดี คือ “ครบ” ในสิ่งที่ควรจะทำ และมีเจ้าภาพที่ชัดเจน คือ คณะกรรมการอุตสาหกรรมแห่งชาติและกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ติดตามงาน โดยแยกผลิตภัณฑ์เป้าหมายออกเป็นสินค้าประเภททั่วไป หรือประเภท Commodity เช่น พวกข้าว ประมง ปศุสัตว์ ธัญพืชต่าง ๆ และอีกประเภทหนึ่ง คือ อาหารอนาคต ได้แก่ อาหารสุขภาพ อาหารเพื่อการแพทย์ อาหารเฉพาะความต้องการของแต่ละคน ซึ่งเฉพาะตัวหลังนี้คือสิ่งที่เราเรียกว่า Functional Food ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มสูง และแน่นอนว่าต้องการนวัตกรรม งานวิจัย และการพัฒนาอย่างหนัก ซึ่งที่ผ่านมาก็คุยกันมาเยอะ และพยายามกันมามาก แต่ก็ไปไม่ไกล เพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง ไม่คุยกัน หรือคุยก็ไม่สน ทำให้ทำงานซ้ำซ้อน หรือเป็นงานระดับรอง ๆ ของกระทรวงต่าง ๆ เมื่องบประมาณจำกัดก็มักจะถูกทิ้ง หรือลืมไป ทั้ง ๆ ที่บางเรื่องต้องทำไปพร้อมกันหลาย ๆ ส่วน และที่สำคัญไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริงที่มีอำนาจสั่งการข้ามกระทรวงได้

มาตรการเพื่อให้ได้เป้าหมายที่จะให้รายได้ธุรกิจอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี เกิดการลงทุนใหม่
ปีละเกือบ 5 แสนล้านบาท และ GDP อาหารของประเทศเพิ่มเป็น 1.42 ล้าน จากมาตรการที่จะดำเนินการทั้งหมด 4 มาตรการที่เสนอมา คือ สร้างนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ การสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต การสร้างโอกาสทางธุรกิจ และการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ มีหน่วยงานย่อยระดับกรมมากกว่า 20 หน่วยร่วมดำเนินการ

สำหรับผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่เป็น Commodity นั้น ผมว่าวันนี้เราอาจต้องย้อนไปมองเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) เพื่อให้เรามั่นใจในการรับมือกับความไม่แน่นอนและไม่คาดหวังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสำหรับส่วนที่ผลิตมาเพื่อการค้านั้น จะต้องผลิตประเภทสินค้า ปริมาณ คุณภาพและมาตรฐานที่เขาต้องการ และการได้มาซื่ง “คุณภาพและมาตรฐาน” นั้น มีอะไรที่ต้องทำมากมาย ตั้งแต่การผลิต การสร้างความมั่นใจของ เทคโนโลยีในการผลิตและการจัดการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เราสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ไม่ใช่ผลิตตามสภาพที่เคยทำมา และมีปัญหาที่รัฐต้องอุดหนุนไม่รู้จบสิ้นเหมือนทุกวันนี้

สำหรับในระยะสั้น การขยายตัวของธุรกิจออนไลน์และพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ในสังคมเร่งรีบ ธุรกิจอาหารต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจให้เหมาะกับวิถีชีวิตและตลาดกลุ่มนี้ ส่วนการส่งออกอาหารแปรรูปส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในกลุ่มของบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะระบบมาตรฐานและการตรวจสอบย้อนกลับที่ต้องการทุน ความรู้ และการบริหารจัดการที่ทันสมัย ดังนั้นเป้าระยะสั้น คือ เราจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาให้ผู้ผลิตฐานรากและธุรกิจขนาดเล็กสามารถเชื่อมกับห่วงโซ่ใหญ่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน เพราะเชื่อได้ว่าหลังวิกฤติโควิดครั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารน่าจะมีอนาคตที่สดใสอุตสาหกรรมหนึ่ง

ในอุตสาหกรรมอาหาร ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบด้านความสมบูรณ์และหลากหลายของวัตถุดิบ แต่วันนี้เรากำลังจะเปลี่ยนภาพอุตสาหกรรมนี้ที่สร้างความได้เปรียบจากนวัตกรรม การสร้างสรรค์ และคุณภาพ ซึ่งเราไม่ค่อยจะคุ้นเคยมากนัก ก็ต้องรอวัดฝีมือภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และ
ที่สำคัญคือกระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นเจ้าภาพใหญ่ว่าจะเข็น ผลัก ดัน จิก ติดตามงานต่าง ๆ ที่ระบุใว้ในแผนนี้ ให้ออกมาได้มากน้อยขนาดไหน