จีนพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ยุคหลังโควิด-19  ด้วยเทศกาลดับเบิ้ล 5 (2) 

23 พ.ค. 2563 | 03:00 น.

เทศกาลช็อปปิ้งดับเบิ้ล 5

แคมเปญส่งเสริมการขายในฝัน

เทศกาลช็อปปิ้งดับเบิ้ล 5 (Double Five Shopping Festival) ถูกออกแบบเพื่อให้ช่วยชดเชยการหดหายไปของการจับจ่ายใช้สอยในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการใช้จ่ายเงินที่สำคัญสุดของชาวจีน และหวังให้เป็นกลไกผลักดันให้เกิดอุปสงค์การช็อปปิ้งรูปแบบใหม่ ทำให้แคมเปญนี้เต็มไปด้วยความแปลกใหม่และความสร้างสรรค์ของโลกแห่งการช็อปปิ้งในจีน

โครงการนี้มีลักษณะพิเศษในหลายส่วน ประการแรก โครงการนี้อุดมไปด้วยแคมเปญส่งเสริมการขายครั้งแรกสุดในยุคหลังโควิด-19 ของจีน และยังเป็นโครงการระดับประเทศที่รัฐบาลของหลายมณฑล/มหานครให้การสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมอย่างเต็มที่ ทำให้กิจการและแบรนด์ชั้นนำทั้งจีนและเทศต่างเข้ามาร่วมแบบจัดเต็ม อาทิ ซูหนิง (Suning) หลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton) โค้ช (Coach) เอสเต้ลอเดอร์ (Estee Lauder) ดิออร์ (Dior) จิวองชี่ (Givenchy) เกอร์แลง (Guerlain) ลอริอัล (L’Oreal) อาดิแดส (Adidas) เทสล่า (Tesla) และไดซัน (Dyson)

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมีความพิเศษสุดในมิติด้านความใหญ่-ยาว-แรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยครอบคลุมกว่า 800 กิจกรรมพิเศษที่ลากยาวต่อเนื่องตลอด 2 เดือน (พฤษภาคม-มิถุนายน) ซึ่งจะเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับหลายวันหยุดยาวและเทศกาลของจีน อาทิ วันแรงงานวันเด็ก และเทศกาลบ๊ะจ่าง

ขณะเดียวกัน โครงการยังมีระดับการส่งเสริมการขายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ อาทิ การแจกอี-คูปองของหลายแพล็ตฟอร์มในมูลค่ารวมหลายหมื่นล้านหยวน และส่วนลดอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมากยิ่งกว่าช่วงแคมเปญวันคนโสด หรือ 11/11 เสียอีก

แคมเปญนี้ยังได้รับความร่วมมือจากแพล็ตฟอร์มการค้าออนไลน์ชั้นนำของจีนอย่างเช่น อาลีบาบา (Alibaba) จินตง (JD.com) ซีทริป (Ctrip) และเหม่ยถวน เตี่ยนผิง (Meituan Dianping) ที่นำเสนอสินค้าและบริการมากมายหลายประเภทอย่างชนิดคาดไม่ถึง อาทิ สินค้าแฟชั่น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ บริการตกแต่งบ้าน และบริการท่องเที่ยว

กลุ่มอาลีบาบา (Alibaba) ใช้แพล็ตฟอร์มในเครือข่ายเชื่อมโยงกับร้านค้าปลีกนับแสนรายนำเอาสินค้าพิเศษจำนวนมากจากหลายแหล่งมาเสนอขาย อาทิ นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลหูเป่ยที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติโควิด-19 มาร่วมแคมเปญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากผู้บริโภคชาวจีน 

เทนเซ้นท์โฮลดิ้งส์ (Tencent Holdings) เจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างวีแชต ก็ร่วมมือกับแบรนด์ดังระหว่างประเทศอย่างวอลมาร์ท (Walmart) มูจิ (Muji) เอชแอนด์เอ็ม (H&M) และสตาร์บักส์ (Starbucks) แจกอีคูปองส่วนลดผ่านวีแชตในมูลค่ารวมถึง 2,000 ล้านหยวน ขณะที่แพล็ตฟอร์มเฉพาะทางอย่างเหม่ย ถวนเตี่ยนผิง (Meituan Dianping) เอ้อเลอมา (Ele.me) และซีทริป (Ctrip) ก็ให้ส่วนลดและคูปองในการใช้บริการร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และโรงแรม

พินตัวตัว (Pinduoduo) แพล็ตฟอร์มขายสินค้าราคาพิเศษออนไลน์ชื่อดังของจีน นำเอารถยนต์ใหม่จำนวน 25 คันมาขายลดราคา 50% แน่นอนว่าผู้สนใจแย่งกันซื้อหมดในเวลาเพียงชั่วอึดใจ 

เมโทร เอจี (Metro AG) ไฮเปอร์มาร์กเก็ตค้าส่งจากเยอรมนี ยังนำเอาสินค้า 500 ประเภทจากกว่า 30 ประเทศมาร่วมรายการ โดยบางส่วนของสินค้าเหล่านี้ถูกนำเสนอในงานแสดงสินค้านำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง China International Import Expo เมื่อปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังจะมีอีกราว 40 บริษัท และ 60 แบรนด์ระดับโลกที่จะจัดกิจกรรมเปิดตัวสินค้าพิเศษรุ่นใหม่อีกกว่า 80 งานในช่วง 2 เดือนนี้ หลายแบรนด์ประกาศนำเอาสินค้าที่ดีที่สุดมาเปิดตัวในตลาดจีนก่อนที่ใดๆ ในโลก แบรนด์เครื่องสำอางต่างขนเอาน้ำหอมและลิปสติกตัวใหม่มายั่วใจ แบรนด์สินค้าแฟชั่นก็นำเอาคอลเลกชันใหม่มาอวดโฉมกัน ขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มจากชาติตะวันตกก็นำเอาแชมเปญตัวท็อปมาให้ชาวมังกรได้ดื่มฉลองกัน

ประการสุดท้าย รูปแบบและวิธีการส่งเสริมการขายที่สร้างสรรค์ ผู้บริหารโครงการพยายามผลักดันให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรับเอาวิธีการและรูปแบบการส่งเสริมการขายใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ 

การจำหน่ายสินค้าที่ผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งบริการจัดส่งสินค้านับเป็นต้นแบบของโลกการค้าปลีกในจีนที่ดีในปัจจุบัน ร้านค้าในย่านธุรกิจและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการถูกกระตุ้นให้นำเสนอสินค้าโดยใช้ประโยชน์จากหน้าร้านออฟไลน์ที่มีอยู่เดิมและโลกออนไลน์เข้าด้วยกัน พร้อมกับบริการจัดส่งสินค้าทุกออเดอร์ถึงประตูบ้านพักหรือสำนักงาน

ร้านหนังสือซินหัว (Xinhua Bookstores) ร้านจำหน่ายหนังสืออันดับต้นของจีน เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่นำเสนอหนังสือและเครื่องเขียน และบริการจัดส่งผ่าน Ele.me ซึ่งโดนใจสาวจีนที่ไม่อยากแขนโตเพราะการหิ้วหนังสือกลับที่พักเป็นอย่างมาก 

คาร์ฟูร์ (Carrefour) ก็ใช้คูปองส่วนลดออนไลน์มาเชื่อมโยงกับร้านออฟไลน์และบริการจัดส่งได้เป็นอย่างดี ขณะที่กลุ่มไบร้ท์ฟู้ด (Bright Food Group) จากเซี่ยงไฮ้ก็ใช้เครือข่ายช่องทางจัดจำหน่ายของตนเองจำนวนกว่า 3,000 แห่ง อาทิ ซุปเปอร์มาร์เก็ตเอ็นจีเอส (NGS Supermarket) เฟิร์สฟู้ดสโตร์ (First Food Store) และร้านสะดวกซื้อจำนวนมากที่กระจายอยู่ในตัวเมือง พร้อมทั้งแอพจัดส่งสินค้าของกลุ่มมาช่วยกระจายคูปองดิจิตัลไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย 

จีนพลิกฟื้นเศรษฐกิจ  ยุคหลังโควิด-19   ด้วยเทศกาลดับเบิ้ล 5 (2) 

ขณะเดียวกัน โรงแรมห้าดาวหลายแห่งก็เสนอที่พักในราคาพิเศษ เช่น แพ็กเก็จเข้าพัก 3 ครั้งในราคาส่วนลด 60% บางแห่งลงทุนตกแต่งล้อบบี้ ห้องพัก และห้องอาหาร รวมทั้งชุดพนักงานใหม่ พร้อมสิ่งจูงใจที่พิเศษสุดสำหรับกลุ่มเป้าหมายของตนเอง อาทิ สวนสนุกไดโนเสาร์ที่ล่อใจกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กเล็กและวัยรุ่น 

นอกเนือจากทางเลือกและความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยแล้ว หลายกิจกรรมในโครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถบูรณาการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง เช่น การเปลี่ยนแต้มสะสมของหลายค่ายมาเป็นส่วนลดเงินสดเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในโครงการนี้

ผู้ประกอบการนับหมื่นรายยังนำเสนอสินค้าและบริการของตนเองผ่าน Livestream บนแพล็ตฟอร์มเถาเป่า (Taobao) ซึ่งช่วยเพิ่มขายเฉลี่ยถึง 4.7 เท่าตัวเมื่อเทียบกับของปีก่อน ขณะเดียวกัน นินเทนโด้ (Nintendo) ตอบสนองวิถีชีวิตใหม่ที่อยู่ในบ้านมากขึ้นด้วยการสร้างยอดขายจากเกมส์ออนไลน์อย่าง “Animal Crossing” ที่กำลังเป็นที่นิยมมากเป็นประวัติการณ์

ความฮิตติดลมบนของการทำตลาดผ่าน Livestream ยังช่วยเสริมสร้างความเป็นที่รู้จักของแอพ รวบรวมข้อมูลของลูกค้า และกระจายข่าวสารทางธุรกิจ จนเกิดเป็นกระแสความนิยมของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดจีนในปัจจุบัน และเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับอนาคต

แชตเทล (Chatail) หนึ่งในกิจการด้านเทคโนโลยีที่ช่วยแบรนด์และผู้ค้าปลีกในการเชื่อมโยงกับกลุ่มนักช้อปที่มีศักยภาพไปยังร้านค้าที่ต้องการในห้างสรรพสินค้าผ่านมินิโปรแกรมของวีแชตในรูปแบบ “ช้อปปิ้งลอยฟ้า” (Cloud Shopping) ให้แก่เขตธุรกิจหวยไห่ที่รวบรวมข้อมูลแบรนด์และคูปองของห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างเช่น เคอิเลฟเว่น (K11) ไอเอพีเอ็ม (iapm)ซินเทียนตี้ (Xintiandi) และเลนครอฟอร์ด (Lane Crawford) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ไว้ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำการตลาดในอนาคต

 

คอลัมน์มังกรกระพือปีก  โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3577 วันที่ 24-27 พฤษภาคม 2563

เกี่ยวกับผู้เขียน :  : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่นๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน