ระวังโรงงานน้ำตาลป่วน ซ้ำรอยปี2562/63

22 พ.ค. 2563 | 04:17 น.

คอลัมน์ : Let  Me Think
โดย      :งามตา สืบเชื้อวงค์

เป็นที่ “ทอล์กออฟเดอะทาวน์ ”กันในวงการอ้อยและน้ำตาลตลอดฤดูการผลิตปี 2562/63 ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในราวเดือนตุลาคม 2563 นี้  จากที่ประเมินกันว่าจะมีปริมาณอ้อยเกิน 100 ล้านตันอ้อย เหมือนเช่นปีก่อนๆ แต่กลับผิดคาด เพราะฤดูการผลิตปี 2562/63 มีปริมาณอ้อยลดลงเหลือเพียง 75 ล้านตันอ้อย   เมื่อเทียบกับปี 2561-62 ที่มีปริมาณอ้อยทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นถึง  131 ล้านตันอ้อย

เมื่อผลผลิตอ้อยปี 2562/63 ร่วงลงมาที่ 75 ล้านตันอ้อย  ทำให้โรงงานน้ำตาลหลายรายต่างประสบปัญหา มีน้ำตาลไม่เพียงพอส่งมอบให้ลูกค้า  ยกตัวอย่างเช่น เคยคาดการณ์ว่าจะมีการหีบอ้อยของตัวเองได้สูงถึง 21-22 ล้านตันอ้อย  แต่พอถึงเวลาหีบอ้อย มีอ้อยเข้าโรงงานเพียง 14 ล้านตันอ้อย ขณะที่การซื้อขายน้ำตาลตามสัญญาล่วงหน้ามีจำนวนมากกว่าปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในมือ  จนต้องออกแรงกว้านซื้อน้ำตาลจากโรงงานอื่น เพื่อส่งมอบให้ลูกค้าที่ทำสัญญากันไว้ล่วงหน้าให้ครบ

สาเหตุที่ปริมาณอ้อยร่วงลงแรง หรือมีผลผลิตลดลงอย่างฮวบฮาบนั้น มาจากปัจจัยหลัก 4 ด้าน ไล่ตั้งแต่  1.ชาวไร่อ้อยเผชิญปัญหาภัยแล้งหนักหน่วงตลอดปี2563   2.พื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศลดลงมากกว่า 10%  หลังจากที่ราคาอ้อยไม่จูงใจ โดยราคาอ้อยในช่วง 2 ปีมานี้ไต่ระดับไม่ถึง 1,000 บาทต่อตัน  เมื่อราคาไม่จูงใจ เกษตรกรก็ต้องหันไปปลูกพืชอื่นแทน โดยเฉพาะพืชที่ขายได้ราคาดีกว่า  

 3. “อ้อยตอ” คืออ้อยที่ตัดแล้วยังเหลือตอไว้ให้เจริญเติบโตต่อ แต่ด้วยสภาพอากาศไม่เป็นใจ เกิดภาวะแล้งจัด อ้อยตอจึงตายและเติบโตได้ไม่ดี ทำให้อ้อยที่เกิดจากตอมีปริมาณน้อยลง  4.ชาวไร่อ้อยไม่มีเงินหลังจากที่หมดแรงจูงใจที่จะบำรุงพันธุ์อ้อยต่อ  อีกทั้งโรงงานน้ำตาลปล่อยเงินเกียวให้ชาวไร่ยืมไปดูแลการปลูกอ้อยลดลง  เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังมีชาวไร่อ้อยบางรายใช้หนี้คืนโรงงานน้ำตาลไม่หมด

ระวังโรงงานน้ำตาลป่วน ซ้ำรอยปี2562/63

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น  หากปล่อยให้เกิดปัญหาต่อเนื่องไป  ก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มโรงงานน้ำตาลที่ก่อนหน้านั้นบางรายลงทุนตั้งโรงงานใหม่    ขณะที่ปริมาณหีบอ้อยในโรงงานมีจำนวนน้อย  ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของโรงงานน้ำตาลสูงขึ้น 

จากสถานการณ์ดังกล่าว  ทำให้ล่าสุด โรงงานน้ำตาลต่างเร่งให้ชาวไร่อ้อยรีบลงมือปลูกอ้อยในช่วงฤดูฝนนี้ เพราะต่างรู้ดีว่าหากปล่อยให้ปริมาณอ้อยน้อยลงไปเรื่อยๆ จะยิ่งส่งผลให้โรงงานน้ำตาลบริหารจัดการยากขึ้นทั้งในแง่ การขายน้ำตาลให้ลูกค้าจะทำได้ไม่เต็มที่เพราะอาจผิดสัญญาต่อลูกค้าได้เนื่องจากปริมาณอ้อยลดลงมาก  ขณะที่การทำราคาน้ำตาลจะยากขึ้น เนื่องจากโรงงานจะประมาณการณ์ผลผลิตน้ำตาลได้ไม่ชัดเจน จากที่ปกติ บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด(อนท.)จะขายน้ำตาลในตลาดล่วงหน้า  และโรงงานน้ำตาลจะยึดตามราคาอนท.เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัญหาต่อไปจะยากขึ้น เพราะโรงงานจะไม่รู้ว่าปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่แน่นอนว่าจะมีเท่าไหร่  และการจะยึดตามราคาอนท.จะต้องรู้ปริมาณน้ำตาลของตัวเองให้ชัดเจนก่อน  

รวมถึงหนี้สินที่โรงงานน้ำตาลปล่อยเงินเกียวให้กับชาวไร่อ้อย มีการทวงเงินคืนจากชาวไร่อ้อยยากขึ้นทำให้โรงงานน้ำตาลระวังในการปล่อยเงินเกียวให้ชาวไร่มากขึ้น  นอกจากนี้ยังมองอีกว่า บางโรงงานที่กู้แบงก์จำนวนมาก  ถ้าปี 2562-63 ขาดทุน และปี 2563/64 มาขาดทุนอีก ยิ่งมีหนี้สะสมมากขึ้นในขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังไม่ขยับไปสู่แดนบวก  จากที่ปี 2563/64  พยากรณ์กันว่าราคาไม่น่าจะไต่ระดับไปถึง 14 หรือ15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้ราคาน้ำตาลยังอยู่ในภาวะขาลงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำตาลในตลาดโลกล่าสุด( 19 พ.ค.63) ยืนอยู่ที่ 10.8 เซ็นต์ต่อปอนด์

ระวังโรงงานน้ำตาลป่วน ซ้ำรอยปี2562/63

อย่างไรก็ตามเมื่อดูจากสถานะการณ์ล่าสุดชาวไร่อ้อยต่างคาดการณ์ว่าปริมาณอ้อย ในฤดูผลิตปี 2563/64 ที่จะเริ่มหีบอ้อยราวเดือนพ.ย.2563 นี้จะร่วงลงมาอยู่ที่ 60-65 ล้านตันอ้อย ยิ่งต่ำกว่าฤดูการผลิตที่กำลังจะผ่านพ้นไป  ขณะที่ชาวไร่อ้อยบางรายเริ่มมีความหวังว่าฤดูการผลิตใหม่นี้ปริมาณฝนน่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นปริมาณอ้อยก็ไม่น่าจะร่วงลงไปต่ำกว่า 70  ล้านตันอ้อย

ประเมินดูอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูการผลิตใหม่นี้ยังต้องลุ้นหลายเรื่อง โดยเฉพาะโจทย์ใหญ่สภาพดินฟ้าอากาศจะซ้ำเติมให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปอีกหรือไม่ อีกทั้งปัจจัยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขณะนี้พ่นพิษประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เบอร์1 ของโลกอย่างบราซิล  ตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางปริมาณและราคาในตลาดโลก ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ล้วนเขย่าขาโรงงานน้ำตาลว่าจะป่วน ซ้ำรอยปี2562/63 หรือไม่ ยังต้องติดตามต่อไป