"เยียวยาเกษตรกร" เช็กมติครม. "ข้าราชการ" มีสิทธิ์รับเงิน จริงหรือ

21 พ.ค. 2563 | 23:00 น.

กรณีมีการเสนอรายชื่อข้าราชการ ที่ประกอบอาชีพเสริมทำการเกษตร เป็นผู้ได้รับสิทธิ์รับเงิน "เยียวยาเกษตรกร" กำลังกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ กันอย่างกว้างขวาง ว่าคนกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยา หรือไม่

เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ผู้เขียนจึงขอพาไปตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ที่อนุมัติมาตรการเยียวยาเกษตรกรว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

จากการตรวจสอบมติครม.มาตรการเยียวยาเกษตรกร หรือ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าครม.มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ที่มีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ

ย้ำนะครับว่า มติครม.เห็นชอบมาตรการเยียวยาเกษตรกรตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ เสนอ ไม่ใช่เห็นขอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ผู้เขียนได้รับข้อมูลว่า ณ ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอรายชื่อข้าราชการที่มีอาชีพเสริมเป็นเกษตรกรให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) โอนเงินเยียวยากว่า 1 หมื่นราย โดยแยกออกเป็นอีกบัญชีหนึ่ง แต่ธ.ก.ส. ยังไม่กล้าโอนเงิน เพราะต้องรอความชัดเจนในเรื่องนี้ก่อน

จี้จ่าย "เยียวยาเกษตรกร" ข้าราชการบำนาญ ต้องได้รับเงิน 5,000 บาท

"เยียวยาเกษตรกร" วุ่น ก.เกษตร แนะขรก.บำนาญ9.1หมื่นคน ยื่นอุทธรณ์สิทธิ์

เมื่อย้อนกลับไปดูประเด็นการพิจารณาและมติของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาเกษตรกร พบข้อเท็จจริงว่า กระทรวงการคลัง ได้ส่งเรื่องมาตรการเยียวยาเกษตรกร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้พิจารณาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 เวลา 13.30 น.

กระทรวงการคลังให้ความเห็นว่าไม่ขัดข้องในหลักการต่อข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะดำเนินมาตรการเยียวยาเกษตรกร เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการฯ สอดคล้องและเป็นไปตามพระราชกําหนดกู้เงิน และระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลัง มีความเห็นให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบยืนยันตัวตนของ เกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือตามโครงการฯ ให้มีความถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงต้องไม่ทับซ้อน กับกลุ่มเป้าหมายตามมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” หรือผู้มาตรการอื่นๆที่กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างดําเนินการ เพราะมีเกษตรกรบางส่วนที่ประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก และไม่ใช่เกษตรกร ที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนตามทะเบียนเกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยรายได้ตามมาตรการของกระทรวงการคลัง อยู่แล้ว

การพิจารณาในวันนั้นคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ได้ขอให้ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงความพร้อม ในการลงทะเบียนและจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการเยียวยา

ผู้แทนกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ได้รายงานที่ประชุมว่า ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมงแล้ว ซึ่งคือเกษตรกรเป้าหมาย ในกลุ่มที่ 1 จํานวน 8.43 ล้านราย ภายหลังจาก ครม. มีมติอนุมัติแล้วจะสามารถเริ่มดําเนินการ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563  เป็นต้นไป

สําหรับกลุ่มเป้าหมาย ระยะที่ 2 ของโครงการ ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จํานวน 1.57ล้านรายนั้น เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการลงทะเบียน ซึ่งจะกําหนดว่าจะปิดรับการลงทะเบียนในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯ เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายของมาตรการเยียวยาเกษตรกรทั้งระยะแรกจํานวน 8.43ล้านราย และระยะที่สองจํานวน 1.57 ล้านราย รวมประมาณ 10 ล้านราย นั้น ยังมีความจําเป็นต้องได้รับ การตรวจสอบให้รอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความซ้ําซ้อนในการจ่ายเงินเยียวยา

คณะกรรมการจึงเห็นควร ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาตรวจสอบยืนยันตัวตนของเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาเกษตรกรให้มีความถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงต้องไม่ซ้ําซ้อนกับกลุ่มเป้าหมายตามมาตรการ เราไม่ทิ้งกัน  ที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดําเนินการ และผู้ที่ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบํานาญของกรมบัญชีกลาง และระบบประกันสังคมของสํานักงานประกันสังคม เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือเยียวยาภายใต้มาตรการต่างๆของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ได้พิจารณากลั่นกรองโครงการดังกล่าวแล้ว มีมติเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาดังนี้

เห็นควรอนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและครอบครัว โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม –กรกฎาคม 2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร ไม่เกิน 10 ล้านราย 

คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ยังมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดําเนินการดังนี้

1. กําหนดหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ เพื่อดําเนิน โครงการตามขั้นตอนต่อไป

2. ตรวจสอบยืนยันตัวตนของเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาเกษตรกรให้มีความถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงต้องไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเป้าหมายตามมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดําเนินการ และผู้ที่ได้รับสวัสดิการ ผ่านระบบข้าราชการบํานาญของกรมบัญชีกลาง และระบบประกันสังคมของสํานักงานประกันสังคม เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือภายใต้มาตรการต่างๆ ของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันยังให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณากําหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เป้าหมายกลุ่มที่ 2 ให้ชัดเจน โดยเห็นควรกําหนดให้เกษตรกรที่สามารถลงทะเบียนเพิ่มเติมจะต้องเป็น เกษตรกรที่ดําเนินการในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน 2563 คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ได้เสนอให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบ มาตรการเยียวยาเกษตรกร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรตามกลุ่มเป้าหมาย ของโครงการฯ จํานวนไม่เกิน 10 ล้านราย วงเงินของโครงการฯ ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท โดยใช้ เงินกู้ตามพระราชกําหนดให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ถึงตรงนี้พอจะเห็นแล้วว่า มาตรการเยียวยาเกษตรกรนั้น คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรนั้น จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับผู้ที่ได้รับสวัสดิการ ผ่านระบบข้าราชการบํานาญของกรมบัญชีกลาง ดังนนั้นการเยียวยาเกษตกรครั้งนี้จึงไม่รวมถึง ข้าราชการบำนาญ

ส่วนข้าราชการประจำที่มีอาชีพเสริมเป็นเกษตรกร ยังไม่ได้มีการพิจารณาอย่างชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มที่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาเกษตรกรหรือไม่ เพราะในข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯไม่ได้มีการพูดถึงในประเด็นนี้ จึงเป็นประเด็นที่จะต้องมีการหารือถึงความชัดเจนในเรื่องนี้ต่อไป

ย่างไรก็ตามเมื่อวันนที่ 16 พฤษภาคม 2563 นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่ากลุ่มที่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ทั้งข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือจะเป็นหน่วยงานของราชการท้องถิ่น ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน รัฐบาลดูแลโดยทุกวันนี้ยังไม่มีการลดวันหรือลดเงินเดือน ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มนี้มีประมาณ 40 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มแรงงานในประเทศไทยที่มีการดูแลอยู่แล้ว

ล่าสุดวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่ากระทรวงเกษตรฯ ได้หารือกับคณะกรรมการกลั่นกรองฯในประเด็นข้าราชการที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกร ซึ่งมีความชัดเจนว่า ข้าราชการไม่ควรได้รับการเยียวยาในส่วนนี้ อีกทั้งจะต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจถึงวิธีการปฏิบัติ และความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง และคาดว่ามีการนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ต่อไป 

ที่มา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

คอลัมน์ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก