CPTPP ร่วม-ไม่ร่วม ต้องตัดปัจจัยการเมือง

20 พ.ค. 2563 | 11:20 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3576 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค.63

ความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เป็นความตกลงเขตการค้าเสรีแบบรวมกลุ่มทำข้อตกลงทางการค้า อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไทยต้องวางบทบาทและท่าทีของตัวเองให้ชัดเจน ในการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกความตกลงนี้หรือไม่ โดยพิจารณาจากผลประโยชน์ ผลดี ผลเสีย ผลกระทบ โดยรวมต่อคนในชาติเป็นที่ตั้งในการพิจารณาตัดสินใจ

 

 CPTPP เดิมเป็นข้อตกลงการค้าเสรีกลุ่มทรานส์แปซิฟิก ก่อนที่สหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะถอนตัวออกไปเหลือสมาชิก 11 ประเทศ แต่ที่มุ่งมั่นผลักดันอย่างแข็งขันต่อเนื่องเป็น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เริ่มแรกเป็นข้อตกลงที่ค่อนข้างเปิดเสรีแบบมีประสิทธิภาพพอสมควร โดยสหรัฐฯหัวหอกหลักในการผลักดันมาสู้กับเขตการค้าเสรีอาร์เซ็ปที่มีจีนเป็นหัวหอก

 

ก่อนหน้านี้ไทยได้ศึกษาเรื่องการเข้าร่วมมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่มีการตกผลึก จึงพลาดหวังในการเข้าเป็นสมาชิกก่อตั้ง ส่งผลให้ไม่ได้มีส่วนในการกำหนดออกแบบกติกาตั้งแต่ต้น เมื่อมาถึงขณะนี้จึงต้องจ่ายค่าผ่านประตูที่แพงขึ้นให้กับสมาชิกเดิมหากจะเข้าร่วม

 

อย่างไรก็ดี ความตกลงนี้ เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ การเปิดตลาด การค้าบริการและการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ นโยบายการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ มีผลประโยชน์ในทางการค้าการลงทุน

 

โดยผลการศึกษากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศบอกว่า การเข้าร่วมความตกลงจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้น โดย GDP จะขยายตัว 0.12% การลงทุนจะขยายตัว 5.14% ช่วยเปิดตลาดสินค้าไทยทั้งเนื้อไก่ อาหารทะเล ข้าว ยางรถยนต์ รถยนต์ น้ำมัน และผลไม้สด/แห้งเพิ่มขึ้น

 

ฝ่ายที่คัดค้านการเข้าร่วมซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) เห็นว่าไทยจะเสียประโยชน์หากเข้าร่วมความตกลง มีข้อกังวลหลายด้านทั้งการผลิตยา ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองด้านยาได้ ไทยจะกลายเป็นแหล่งนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์มือ 2 จะก่อให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืช เมล็ดพันธุ์ เกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกได้ หากพันธุ์นั้นถูกจดสิทธิไปแล้ว หรือกระทั่งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่สุ่มเสี่ยงถูกฟ้องร้องจากนักลงทุนต่างชาติได้ ซึ่งเป็นข้อกังวลที่ต้องมีคำตอบ

 

 

เราเห็นว่าทางออกของการเข้าร่วมหรือไม่ร่วมความตกลง รัฐบาลต้องรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนมีความชัดเจน พร้อมอธิบายเหตุผลและความจำเป็นให้ครบถ้วนในวงกว้างกับสาธารณะ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันผลประโยชน์ ผลกระทบของคนทั้งชาติ และไม่ควรทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องทางการเมือง มีการโยนกันไปมา ระหว่างรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทั้ง 2 คน ฉะนั้นการจะร่วมหรือไม่ร่วม จะต้องตัดปัจจัยการเมืองให้พ้นจากกรอบเป้าหมายความตกลงให้ได้ เพื่อให้เป็นเรื่องผลประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง